วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การวิเคราะห์คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ


การวิเคราะห์คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ

การลงทุนนั้น ต่างจากการเป็นพ่อค้าหุ้น ซึ่งอย่างหลังมีกิจกรรมหลักคือการพยายามคาดการณ์ทิศทางของราคาหุ้นเป็นหลัก ไม่ว่าจะใช้ราคาและปริมาณการซื้อขายที่ผ่านมาในอดีต รวมทั้งอาจจะใช้หลักการบางอย่างเข้าช่วยด้วยเช่น ทิศทางของราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ทิศทางของเศรษฐกิจโลก ไปจนถึงแนวโน้มการเกิดสงครามไปเลย แต่สำหรับการลงทุนนั้น นักลงทุนต้องวิเคราะห์ทั้งบริษัท คู่แข่ง กลยุทธ์ของทั้งคู่ ผลกระทบจากสิ่งที่อยู่ภายในและรอบๆ ของธุรกิจนั้น (Micheal E. Porter's 5-force) และสิ่งอื่นๆ อีก ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็น "เหตุ" ที่ทำให้เกิด "ผล" ไปที่ "งบการเงิน" ซึ่งนักลงทุนก็จะดูความสมเหตุสมผลของทั้งสองอย่างนี้ด้วย

การรู้ลึกลงไปในบริษัท

แน่นอนว่านักลงทุนที่ติดตามข่าว ติดตามการดำเนินงานของบริษัท ติดตามและวิเคราะห์งบการเงิน ย่อมจะมองเห็นสิ่งต่างๆ หลายอย่างที่เกิดขึ้นกับบริษัทได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นการติดตามแบบครึ่งๆ กลางๆ (ก็ดีกว่าไม่ดูอะไรพวกนี้เลย เพราะนั่นคือการติดตามแบบ "คนวงนอก" อย่างแท้จริง) แต่การที่จะรู้ลึกกว่านั้นเราอาจจะใช้วิธีการสอบถามจากพนักงานบางคน ไปจนถึงสอบถามจากพนักงานระดับบริหารนอกรอบ ซึ่งจะบอกได้หรือไม่ก็แล้วแต่สถานการณ์และสภาพการณ์ รวมทั้งการสอบถามจากผู้บริหารในรอบ คือในการประชุมผู้ถือหุ้นหรือ opportunity day เป็นต้น ซึ่งเรานักลงทุนก็อาจจะมีโอกาสหรือไม่มีโอกาสที่จะได้รับฟังหรือถามได้บ่อยนัก โดยส่วนตัวแล้วยังมีเอกสารเล็กๆ อีกชิ้นหนึ่งที่ผมชอบอ่านเป็นประจำสำหรับบริษัทที่สนใจก็คือ "คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ"

คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ

เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารของบริษัทจะต้องให้ข้อมูลกับนักลงทุนเป็นประจำ คือทุกไตรมาสเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าบริษัทจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ตามก็คือ "คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ" โดยเราสามารถหาอ่านได้ในเว็บไซต์ของบริษัทนั้นหรือเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผู้บริหารมักจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา (ถ้าเป็น ปีที่ผ่านมา ก็อาจจะหาได้จากรายงานประจำปีของบริษัทนั้น) และแต่ละบริษัทก็มีลักษณะของการอธิบายที่แตกต่างกันไป

บางบริษัท บอกแต่ยอดการขาย ต้นทุน กำไรขาดทุน ก็อาจจะมีประโยชน์บ้างในกรณีที่เราไม่ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทมากนัก บางทีในคำอธิบายส่วนนี้อาจจะบอกว่ายอดขายจากกลุ่มธุรกิจย่อยใดเป็นเท่าไรบ้าง และมีรายจ่ายอะไรบ้างจากส่วนไหน ตรงนี้จะทำให้เราพอจะทราบได้ว่ากำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้นมาจากส่วนใดเท่าไร

บางครั้ง คำอธิบายอาจจะบอกเรื่องที่เราสืบค้นได้ไม่ง่าย เช่น ความก้าวหน้าของโครงการลงทุนในส่วนต่างๆ ส่วนของกำไรหรือขาดทุนเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าและ/หรือบริการของบริษัทที่เราสนใจกับบริษัทคู่แข่งหลัก นี่คือสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะเราในฐานะนักลงทุนอาจจะไม่รู้ได้ง่ายด้วยตัวเอง

สิ่งที่นักลงทุนควรมองหา

สำหรับคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ "แบบพื้นๆ" ก็คงเป็นแบบที่บอกแต่รายได้ รายจ่าย กำไร และขาดทุน แต่ไม่เจาะจงไปใน business unit ต่างๆ ในการอ่านคำอธิบายนี้เราจึงต้องมองหาสิ่งที่จะทำให้เรา "คาดการณ์สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น" เพื่อเราจะได้สามารถคาดการณ์และคำนวณสภาพของธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน  และความสามารถในการทำกำไร (และกำไร) ในอนาคตได้ สิ่งเหล่านี้ก็คือ
  • สภาพการณ์ในปัจจุบัน - มีปัญหาหรือไม่ เช่น ยอดขายตกต่ำ ปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ปัญหาการเสียรายได้ ปัญหา (การเพิ่มของ) หนี้สิน รวมทั้งการหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงปัญหาเหล่านี้ก็แสดงให้เราเห็นความจริงใจและตั้งใจในการแก้ปัญหาได้
  • สภาพการแข่งขันในอนาคต - ดูว่าจะแย่ลงหรือไม่ ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน ป้องกันตัวเองหรือไม่ หรือจะสร้างการป้องกันนี้ได้หรือไม่
  • มองหาคำอธิบายเกี่ยวกับตลาด (demand - supply) ว่าอะไรเติบโตขึ้นหรือไม่อย่างไร และมีวิธีจัดการอย่างไร (รับรู้ไหม ทำตัว reactive หรือ proactive) รวมทั้งความสามารถในการสร้างความแตกต่าง (differentiation) ให้กับสินค้า/ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
  • การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น - ดูว่าบริษัทพูดถึงหรือไม่ และมีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จแค่ไหน
  • การวางกลยุทธ์ของบริษัท - หาว่าบริษัทมีแนวคิดในการ แก้ปัญหาเดิม ป้องกันปัญหาใหม่ หาแนวทางทำธุรกิจใหม่ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น
  • อ่าน คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ หลายไตรมาสของบริษัทนั้นอย่างต่อเนื่องกัน และดูความต่อเนื่อง พยายาามมองหา ทำความเข้าใจวิสัยทัศน์ของผู้บริหารของบริษัทนั้น และดูความสามารถในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและคาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละไตรมาส
ประมวลผลที่ได้

เมื่อเรารู้สภาพการณ์มากขึ้นจากที่เราอ่านจาก "คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ" เราย่อมมองเห็น "ภาพ" ของธุรกิจนั้นได้ชัดเจนขึ้น ว่าจะมียอดขายมากขึ้นหรือน้อยลง มีรายจ่าย (รวมทั้งต้นทุนต่างๆ ทั้งตัวสินค้าเองและรายจ่ายด้านการบริหารและการตลาด - เช่นโฆษณา) มากขึ้นหรือน้อยลง และกำไรมากขึ้นหรือน้อยลงในอนาคต ย่อมมีความสามารถประมวลสิ่งต่างๆ ทั้งหมดซึ่งผมมักมุ่งเน้นที่ "กำไรในอนาคต" ว่าจะเป็นเท่าไร และตัดสินใจในการลงทุนได้ดีขึ้น

หมายเหตุ

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้คือหลักการ ซึ่งการที่นักลงทุนแต่ละคนจะนำเอา "ภาพ" รวมของธุรกิจจาก "คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ" มาใช้งานได้แม่นยำแค่ไหน ย่อมขึ้นกับความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นด้วย บางคนอาจจะไม่ชำนาญเกี่ยวกับธุรกิจปิโตรเคมี ที่มีสารพัดสารเคมีข้องเกี่ยวกัน แม้อ่านคำวิเคราะห์ต่างก็อาจจะไม่เห็นภาพได้ ในขณะที่บางคนทำให้มองเห็นภาพปรุโปร่ง ดังนั้นถ้านักลงทุนพยายามอ่านคำอธิบายจากผู้บริหารต่างๆ แล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ก็อาจจะเป็นเพราะเราไม่มีความรู้พื้นฐานในธุรกิจนั้นดีพอที่จะคาดการณ์กำไรในอนาคตได้ คงต้องมองหาธุรกิจอื่นเพื่อลงทุนก็น่าจะดีกว่าครับ