วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ต้องพบอะไรบ้างเมื่อลาออก

ต้องพบอะไรบ้างเมื่อลาออก

ไม่ว่าสถานการณ์ของการเงินการลงทุนจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าทุกๆวัน ก็มีคนที่ต้องการลาออกจากงานประจำ ด้วยสารพัดเหตุผลของแต่ละคน บางคนต้องการที่จะไปทำงานส่วนตัว บางคนทะเลาะกับเพื่อนหรือเจ้านาย บางคนเข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมขององค์กร ไปจนกระทั่งบางคนคิดว่าการหาเงินจากตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องง่ายและทำให้รวยเร็วอย่างมั่นคง (คือหวังทั้ง 3 อย่างพร้อมกัน ซึ่งไม่ได้ เพราะความเป็นจริงคือ รวยง่ายแต่มั่นคงก็ไม่เร็ว รวยเร็วและมั่นคงด้วยก็ไม่ง่าย รวยง่ายด้วยเร็วด้วยก็ไม่มั่นคง)

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อเราได้ลาออกจากงานประจำ มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปในชีวิต และจำเป็นต้องทราบไว้ล่วงหน้าก่อนสำหรับคนที่กำลังคิดจะลาออกจากงานประจำ คือ

(1) เงินเดือนหายไป เราเคยมีเงินประจำ ถึงเวลาก็มีเงินใช้ ก็หายไป ความรู้สึกจะต่างไป เฮ้ย... เงินไม่โผล่มา ทำไงดีล่ะ ไม่เป็นไร ยังพอมีเงินเก็บ แต่ถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่ายแล้วล่ะก็ คุณกำลังทำผิดหลักการของความฉลาดทางการเงินข้อแรกคือ "Budget Surplus" (ต้องมีเงินส่วนเกินหลังการใช้จ่าย) เลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อ (คิดจะ) ลาออก ต้องคิดให้ได้ (หรือให้ดีที่สุดคือทำให้ได้) ก่อนว่าเราจะมีรายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างไร

(2) เงินเพิ่มขึ้นมาแบบตกใจในช่วงแรก หลานคนเมื่อลาออกจากการทำงานประจำ จะต้องลาออกจากกองทุนต่างๆ ในที่ทำงานนั้นๆ ด้วย เงินเหล่านี้จะถูกคืนมาเป็นก้อนใหญ่ในตอนแรก อาจจะทำให้รู้สึกว่า เอ๊ะ เงินเยอะแฮะ อยู่ได้สบายเลย (จะว่าไป เงิน 2-3 ล้านบาท ใช้ 3-4 ปีก็หมดแล้ว) เอาไปทำอะไรดี บางคนก็เอาไปทำอะไรที่มลายหายไป บางคนค่อยๆ ใช้ไปจนหมด แต่คนฉลาดสุดจะเอาเงินส่วนอื่นมาสร้างรายได้ประจำแทน แล้วเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนแบบปลอดภัยกว่า ถือเป็นความฉลาดทางการเงินที่ว่า รักษาเงินของเราเอาไว้ให้ได้ (Protect your money)

(3) เพิ่อนหายไป ที่จริงก็ไม่ได้หายไปไหนหรอกนะ แต่เราจะไม่เจอเพื่อนทุกๆ เช้า ไม่ได้กินข้าวด้วยกันทุกเที่ยง บางคนที่ไม่ชินกับการทำอะไรคนเดียวอาจจะอึดอัด บางคนเลยเอาแต่เที่ยว ช้อปปิ้ง ใช้เงิน หมดไป อันตราย แต่ที่ถูกต้องคือ ทำงานอื่น ลงทุนอื่นแทน เดี๋ยวก็หมดเวลาคิดถึงเพื่อนเอง ที่ถูกต้องคือใช้ข้อนี้ให้เป็นประโยชน์ คือเพื่อนที่เคยทำให้เราต้องกินข้าวแพงๆ อาหารหรูๆ หายไป เราก็เลือกเป็นอยู่แบบธรรมดาแค่มีคุณค่า เท่านั้นเอง

(4) สบายแฮ (ล้อเล่นน่ะ)
คำว่าสบายนี้ หมายความว่าไม่มีใครมาดูแลเราอีก ไม่ต้องตอกบัตรเข้าออกงาน ไม่ต้องวางแผนงาน ไม่ต้องประเมินทั้งตัวเองและลูกน้อง ไม่ต้องประชุม ไม่ต้อง ฯลฯ สารพัด แต่ถ้าเราสบายจนเพลิน เวลาจะผ่านไป พร้อมเงินที่สะสมไว้จะร่อยหรอไปเรื่อย พอเงินหมดเท่านั้นแหละ นึกออกเลยว่าไม่สบายแล้วล่ะ ดังนั้นถ้าลาออกมาแล้วรู้สึกสบายเพราะอยากทำการค้า ธุรกิจ ลงทุน แบบของตัวเองแล้วประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องสนใจเจ้านายล่ะก็ ยังพอโอเคอยู่ แต่ถ้ารู้สึกสบายแบบไม่ต้องทำอะไรล่ะก็... ผิดทางแล้วล่ะคุณ เพราะที่จริงแล้วเมื่อคุณทำงานส่วนตัว และต้องรับผิดชอบตัวเองทุกอย่าง ทั้งรายได้รายจ่าย เงินลงทุน การประกันสุขภาพตัวเอง และอื่นๆ คุณมักจะต้องวุ่นวายมากเลยทีเดียว และต้องทำงานให้มากขึ้นด้วยซ้ำ ใช้เวลาหาเงินให้ได้มากขึ้น (Make More Money)

(5) ญาติจะคิดว่าเราว่าง เพราะว่าไม่ได้ทำงานประจำ เลยขอให้ไปนั่น ไปนี่ พาไปโน่น (เราออกเงิน ฮ่าๆ) จนเราไม่มีเวลาทำงานของเรา เงินก็ร่อยหรอหายไปๆ สุดท้ายคงไม่ต้องบอกว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนกลับไปทำงาน บางคนกู้หนี้ยืมสินเป็นภาระของคนอื่นต่อไป เราต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า การออกมาคือมาทำงานส่วนตัวนะ มาลงทุนนะ (เป็นงานลักษณะหนึ่งเหมือนกัน) ต้องทำงานเหมือนกันนะ ไม่ได้ว่างนะ การที่เห็นอยู่ที่บ้าน นั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นั้น ไม่ใช่เล่นเกม ไม่ใช่คุยเล่นกับเพื่อน แต่อาจจะกำลังเตรียมเอกสาร ทำโฆษณา คุยกับลูกค้า หรืออื่นๆ อยู่ ต้องเข้าใจให้ได้ก่อน

(6) ความรู้อาจจะหดหาย บางครั้ง การทำงานในบริษัท มีการพัฒนาพนักงาน เราจะมีความรู้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อลาออกมาแล้วจะไม่มีใครมาคอยต้อนเราไปเข้าห้องอบรมสัมนา เราจะต้องหาความรู้เพิ่มเติมเอง ก็ใช้โอกาสนี้หาความรู้ในสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญ กว่าการที่เคยโดนต้อนไปนั่งฟังในสิ่งที่เราไม่ได้ใช้งาน

(7) สวัสดิการ การรักษาพยาบาล โอกาสในการกู้เพื่อที่อยู่อาศัยต่างๆ อาจจะหายไป การอยู่กับองค์กรโดยเฉพาะกับการทำงานกับองค์กรที่มีชื่อเสียง หลายครั้ง โอกาสส่วนนี้จะสูงมาก  มีการติดต่อกับสถาบันการเงิน มีการจ่ายเงินเดือนผ่านสถาบันการเงินเหล่านั้น การกู้เงินต่างๆ ก็ง่ายขึ้น ก่อนการลาออกเราต้องจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย (คือ จะกู้ก็กู้ซะ แต่คิดให้ดีก่อนสร้างหนี้) จะปิดหนี้ จะขอบัตรเครดิต ขอวงเงินเผื่อไว้ ทำไว้ให้หมด แต่ เน้นอีกครั้งว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ

ดังนั้น ก่อนการลาออก ไม่ว่าจะเพื่อมาทำงานส่วนตัว ไปเป็นนักลงทุน ไปสร้างกิจการส่วนตัว (หรือแม้แต่อยากไปเป็นแม่บ้าน หรือพ่อบ้าน ซึ่งเปลี่ยนสถานะจากผู้มีเงินได้เอง ไปเป็นผู้รับเงินเลี้ยงดูจากผู้อื่น) ก็ต้องรู้สิ่งที่จะตามมาเหล่านี้เสียก่อนครับ