วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อึดอัดดัชนี


พ้นปีใหม่ 2560 จนกลายเป็นปีเก่ามาได้เป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วนะครับ จะว่าไปช่วงนี้ก็เข้าไตรมาสที่สองของปีแล้วด้วยซ้ำจนกระทั่งหลายบริษัทเริ่มประกาศผลประกอบการรายไตรมาสที่ 1 กันแล้ว (สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ที่มีรอบระยะเวลาดำเนินการ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม) ถ้าเราดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่เปิดทำการวันแรกขของปีจนถึงวันนี้คงจะเรียกได้ว่าไม่ไปไหน เพราะเปิดต้นปีใวันที่ 4 มกราคาคม 2560 ที่ 1548.49 จุด จนถึงวันศุกที่ 12 พฤษภาคม 2560 ที่ 1543.94 จุด ระหว่างน้นก็ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในกรอบ +/- 20 จุดเท่านั้น หลายคนก็บ่นว่าไม่ยอมขึ้นไม่ยอมลงเรียกว่าทำอะไรไม่ได้ถนัดมือ

เหตุหนึ่งที่เป็นไปได้คือ ช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายคนใช้คำพูดว่า "Sell in May" หรือ ขายในเดือนพฤษภาคม และดูเหมือนว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยจะมีแนวโน้มทำนองนี้มาสองสามปีแล้ว (แต่ก็ไม่ได้ลงมากนัก) อาจจะเป็นเพราะเลยช่วงประกาศผลประกอบการรายปี (ปี 2559) ไปแล้ว บริษัทที่คิดว่าผลประกอบการจะออกมาดีในปีต่อมา (คือปี 2560 นี้) ก็จะถูกซื้อไล่ราคาหุ้นขึ้นต่อเนื่องจากต้นปี แต่เมื่อประกาศผลประกอบการออกมาในไตรามาสที่หนึ่ง ถ้านักลงทุนผิดหวังหุ้นนั้นก็คงปรับตัวลง หรือแม้จะดูพอใช้ได้แต่ถ้า P/E สูงเกินไป (ค่า P/E เป็นการดูความถูกหรือแพงได้ง่ายที่สุด แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทั้งหมด) ก็จะมีแรงขายออกมาอีก หรือแม้แต่ผลงานออกมาดีแต่ P/E สูงมาก ก็ถูกขายออกมาเพราะกลายเป็น Sell On Fact (ข่าวดีเป็นจริงให้ขาย - เขาว่ากันโดยทั่วไปนะครับ ไม่ใช่ผมบอกให้ขายตามนั้น เพราะมีอย่างอื่นที่ต้องพิจารณามากมายก่อนการซื้อหรือขาย) อีก เรียกว่ายังไงๆ หุ้นก็ดูเหมือนจะลงให้ได้ ว่างั้นเถอะ

ย้อนกลับมาดูตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่บัดนี้มีผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนอยู่หลายอย่าง (ซึ่งแน่นอนว่ารวมทั้งผลิตภัณฑ์ประเภท stock futures ในตลาดสัญญาล่วงหน้าหรืออนุพันธ์ต่างๆ ที่คาดหมายว่าหุ้นจะขึ้นหรือคาดหมายว่าหุ้นจะลงให้ซื้อหากันด้วย) ทำให้หลายๆ คนอาจจะมีความตั้งใจในการทำกำไรไม่ว่าดัชนีจะขึ้นหรือลงก็ได้เพียงแต่ก็ขอให้มีทิศทางที่แน่นอนก็แล้วกัน (ส่วนโดยรวมแล้วจะทำกำไรได้จริงตามความตั้งใจหรือไม่นั้นผมก็คงรับรองหรือนำข้อมูลมาคุยไม่ได้ เพราะไม่ทราบจริงๆ และตัวเองก็ไม่ได้ทำอะไรแบบนั้น โดยเราต้องเข้าใจก่อนว่าการได้กำไรจากการเก็งกำไรในสัญญาล่วงหน้าหรืออนุพันธ์นั้นคือการนำเงินของคนอื่นมาเป็นของตน และการเสียก็คือเสียเงินให้คนอื่น ซึ่งต่างจากการลงทุนในหุ้นอยู่มาก)

นักลงทุนหรือนักเก็งกำไรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์หลายหลายคนช่วงนี้ก็บ่นว่าอึดอัด แต่ก็มีนักลงทุนบางคนที่รู้สึกเฉยๆ ในกรณีนี้ก็คงจะต้องแยกออกจากกันว่าทำไมคนหลายประเภทถึงมีความรู้สึกไม่เหมือนกัน

  1. นักลงทุนประเภทเก็งกำไรระยะสั้นคือ อาจจะมีทุนจำนวนไม่มากนักและพยายามหาผลประโยชน์จากการซื้อและขายไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือสัญญาอนุพันธ์ต่างๆ แน่นอนว่าช่วงนี้ก็คงจะต้องอึดอัดมากเพราะดัชนีกลับไปกลับมา ไม่มีทิศทางที่แน่นอน บางคนเดี๋ยวได้เดี๋ยวเสีย บางคนอึดอัดแต่ยอมอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรดีกว่า
  2. นักเก็งกำไรหรือนักลงทุนระยะกลาง นักลงทุนเหล่านี้จะรู้สึกเช่นกันแต่ส่วนมากมักจะเป็นคนที่มีรายได้หลายทาง ก็คงพอจะรอได้ หรือจะชะลอการลงทุนไปก่อนเนื่องจากไม่แน่ใจทิศทางที่แน่นอน ก็ไม่ได้เดือดร้อนเท่าไรนัก
  3. นักลงทุนประเภทที่ต้องการเป็นเจ้าของบริษัท ดัชนีที่วิ่งไปมาอย่างนี้ก็คงไม่ได้ทำให้อึดอัดอะไรมากนัก คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรายได้หลายทางและอาจจะมีรายได้จากที่อื่นที่พอเพียงที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติอยู่แล้ว ก็เลยเป็นนักลงทุนประเภทที่ว่าหาเงินได้มาก็ซื้อหุ้นเพิ่ม คือซื้อบริษัทที่ตัวเองรักชอบ หลายคนลงทุนแบบ DCA ในบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดีและราคาหุ้นยังไม่สูงมากเกินไปก็คงไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก
  4. นักลงทุนประเภทสุดท้ายก็คือนักลงทุนระยะยาวที่ต้องการมีส่วนเป็นเจ้าของบริษัทที่ตัวเองชอบให้มากที่สุด ด้วยราคาที่สมเหตุสมผลที่สุด หรือต่ำเท่าที่พอจะทำได้ นักลงทุนประเภทนี้ในช่วงเวลานี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่รู้สึกอะไรเลย เหตุผลอาจเป็นเพราะนักลงทุนเหล่านี้มีประสบการณ์ค่อนข้างสูง และมีรายได้หลายทาง จากการทำงาน จากธุรกิจ จากปันผลของหุ้นต่างๆ ก็เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวอยู่แล้ว เรียกว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงก็ไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไร นอกจากนั้นนักลงทุนกลุ่มที่สี่นี้มักเป็นนักลงทุนประเภทเน้นมูลค่าของกิจการหรือ VI (Value Investor) ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ชินและสามารถทนกับการที่หุ้นอยู่นิ่งๆ ไม่ขึ้นไม่ลงเป็นเวลานาน (นักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการส่วนใหญ่หลายคนอาจจะซื้อหุ้นเร็วกว่าที่คนอื่นมองเห็นมาก ทำให้ต้องรอเป็นเวลานานกว่าจะรับรู้ความดีและคุณจึงขยับขึ้นในภายหลัง) กลุ่มนี้เลยไม่เดือดร้อนอะไรนัก
ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเป็นนักลงทุนประเภทใดก็ตาม ก็เรียกได้ว่าไม่มีถูกหรือผิดตราบใดที่ยังมีความสุขและไม่โลกมากเกินไปจนทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ เพียงแต่ขอให้ท่านรู้ตัวว่าท่านเป็นนักลงทุนที่จัดอยู่ในประเภทใดและมีความสุขที่จะอยู่ในประเภทนั้นต่อไปหรือไม่ หรือจะขยับปรับเปลี่ยนอย่างไรก็เป็นการเปลี่ยนแผนวิธีการลงทุนซึ่งนักลงทุนสามารถทำได้หลายครั้งในชีวิตการลงทุนของเรา

สุดท้ายแล้วผมก็คงอยากจะเน้นให้เพื่อนนักลงทุนได้มีความอดทนมีการวางแผนที่ดีและถูกต้องในการลงทุนนอกจากนั้นก็คอยให้กำลังใจผู้บริหารบริษัทที่เราเป็นเจ้าของในการทำกิจการที่ดีเพื่อที่จะได้เจริญเติบโตก้าวหน้าต่อไป เพราะหลังจากนั้นแล้ว เจ้ามือที่แท้จริงก็จะมาจัดการกับราคาหุ้นให้เป็นไปอย่างที่ควรต่อเองครับ