สวัสดีครับเพื่อนๆ นักลงทุนทุกท่าน เป็นอย่างไรบ้างครับในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้นี่ก็เรียกได้ว่าเกือบครึ่งปีเข้าไปแล้ว จากช่วงต้นปีที่ผมเคยประเมินไว้ว่าตามพื้นฐานแล้วทั้งปีนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยก็คงจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 1700 ถึง 1800 จุด มีอยู่บางช่วงที่ดูเหมือนจะดีดตัวขึ้นด้านบนเกินเลยไปบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตามถ้าสังเกตตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงบัดนี้จะเห็นได้ว่านักลงทุนชาวต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยออกมาเป็นจำนวนมาก หลายโอกาสที่ดัชนีถูกดันกลับขึ้นไปก็เป็นเพราะกองทุนไทยบ้าง รายย่อยบ้าง และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ที่ช่วยกันซื้อดันกลับขึ้นไป แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนต่างชาติก็ยังตั้งใจที่จะขายหุ้นไทยอย่างเป็นจริงเป็นจัง ว่ากันจริงๆแล้วถ้าดูตามพื้นฐานของเศรษฐกิจโดยรวมโดยไม่นำเอาภาคการส่งออกเข้ามาพิจารณาเป็นนัยยะที่สำคัญมากนัก จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจโดยทั่วไปนั้นค่อนข้างฝืดเคือง สิ่งที่สะท้อนให้เห็นค่อนข้างชัดเจนคือกำไรของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ค่าอัตราส่วนระหว่างราคาต่อผลกำไรต่อปี (P/E ratio) โดยเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีค่าสูงขึ้นหรือพูดง่ายๆ ได้ว่าหุ้นไทยมีราคาแพงเกินไปนั่นเอง การที่ P/E ratio จะลดลงได้จนน่าสนใจก็ต้องเพราะราคาหุ้นลดต่ำลงนั่นเอง
โดยส่วนตัวแล้ว (เน้น ว่าอาจจะคิดผิดได้นะครับ) ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เป็นไปได้ที่ทำให้ราคาของหุ้นไทยเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาหรือที่ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้นในเวลาที่ผ่านมาก็คือความคาดหวังเกี่ยวกับการเลือกตั้งถ้ามองดูในเรื่องนี้อาจจะตีความหรือวิเคราะห์ได้ว่าถึงเวลานี้ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ก็อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ต้องขายเมื่อข่าวเป็นจริงหรือ sell on fact ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงแค่ไหนเหมือนกัน มาถึงช่วงเวลานี้อาจจะเป็นได้ว่าเพราะนักลงทุนต่างชาติเบื่อกับการรอคอยต่อไปก็เป็นไปได้ ถึงเวลาที่มีโอกาสในการลงทุนที่ดีกว่ารวมทั้งในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ บางแนวคิดอาจจะแนะนำให้ขายสินทรัพย์เสี่ยงออกไปก่อนก็ได้
แล้วช่วงเวลาอย่างนี้สมควรจะทำอย่างไรดี
ก็ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนแต่ละท่านนั้นมีสถานะการลงทุนเป็นอย่างไรมีหุ้นอยู่หรือไม่แค่ไหนเป็นการลงทุนระยะยาวหรือระยะสั้นมีรายได้จากที่อื่นเพียงใดถือหุ้นอะไรอยู่หุ้นของแต่ละท่านที่ถือไว้น้ำถูกหรือแพงเกินไปในระยะอย่างไรทั้งหมดนี้ก็สามารถนำมาประมวลเพื่อตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปได้
1. ถ้าไม่มีหุ้นอยู่
แน่นอนว่าสถานการณ์แบบนี้ต้องชะลอการลงทุนไว้ก่อนเนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มอ่อนตัวลงไปเรื่อยๆ เมื่อน้ำลดเรือก็ต้องลดระดับตามไม่ว่าจะเป็นหุ้นใดๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนั้นนะครับ ไม่ว่าเป็นนักลงทุนระยะใด ต้องรอก่อน
2. ถ้ามีหุ้นอยู่และลงทุนระยะสั้น
ถ้าพูดกันโดยรวมๆ คำว่า "ลงทุนระยะสั้น" นั้นแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันเนื่อจากระยะเวลาไม่เท่ากัน สั้นของคนหนึ่งอาจจะคือ 2 เดือนในขณะที่สั้นของอีกคนหนึ่งอาจจะ 1 ปีก็ได้ แต่สำหรับผมแล้วนักลงทุนที่ต้องการ capital gain หรือกำไรจากราคาหุ้นเป็นหลักในเวลาสั้น (เรียกง่ายๆ คืออยู่ไม่ได้ด้วยปันผล) ก็ควรถูกรวมเป็นนักลงทุนประเภทนี้ด้วย ในกรณีนี้อาจจะพิจารณาขายออกบ้างโดยเฉพาะถ้าเรายังได้กำไรอยู่และแนวโน้มราคาของหุ้นเรานั้นกำลังลดลง เป็นไปตามหลักการว่า ถ้ากำไรอยู่ อย่าปล่อยให้กำไรกลายเป็นขาดทุนเป็นอันขาด
3. ถ้ามีหุ้นอยู่ และเป็นนักลงทุนระยะยาว
ก็ ค่อนข้างตรงกันข้ามกับการลงทุนระยะสั้นน นักลงทุนระยะยาวในที่นี้ คือ มีรายได้จากการทำงานอื่น ลงทุนเพื่อหวังการเติบโตของบริษัทในระยะยาว และมีปันผลจากบริษัทเหล่านั้นรวมกับรายได้อื่นแล้วทำให้ดำรงชีพอยู่ได้ หากเป็นประเภทนี้เราจะทำอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า หุ้นเราเป็นของบริษัทอะไร ต้นทุนของเรา ราคาเวลานี้เป็นอย่างไร และ upside ที่เราคาดหวังอยู่เป็นอย่างไร นั่นคือมี margin of safety อยู่เท่าไร ถ้ายังมีอยู่มากและเราไม่มีเวลาเฝ้าหุ้นเท่าไร ก็อาจจะปล่อยไว้อย่างนั้น หรือวางแผนการซื้อเพิ่ม แต่ถ้ามี margin of safety น้อยและมีเวลามาก และคิดว่าถ้าขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงลงไปบ้าง (เช่นขายออกไปครึ่งหนึ่ง) และหุ้นกลับตัวจะสามารถซื้อคืนที่ราคาถูกลงได้ทัน (แน่นอน ว่าขึ้นกับสภาพคล่องที่จะซื้อคืนได้ ก็เป็นทางเลือกที่ควรพิจารณาได้
ต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงเหนื่อยในการลงทุนสักนิด การลองลงทุนใหม่ๆ นั้นทำได้เสมอแต่ต้อง "เฝ้า" และตัดสินใจรวดเร็ว (ทั้งซื้อและขายตัดขาดทุน) แต่ถ้าเราคิดว่าเป็นวิกฤตในการลงทุน มันย่อมมีโอกาสแฝงอยู่ด้วยเสมอ เพียงแต่เรามองเห็นและกล้าคว้าไว้หรือไม่เท่านั้นเอง ขอให้มีความสุขและโชคดีในการลงทุนครับ