วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

เฝ้าหุ้น


ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีผู้คนอยู่ร่วมกันหลายประเภทตั้งแต่คนที่เป็นนักลงทุนจริงๆก็คือมีเงินเหลือมีความรู้ในหลายด้านและต้องการรายได้ที่มั่นคงอันเป็นผลมาจากการลงทุนด้วยทุนทรัพย์ของตัวเอง 80-90% และลงแรงไม่มากนักเช่นลงแรงสัก 10-20% เป็นต้น เวลาส่วนที่เหลือของบุคคลเหล่านี้ก็อาจจะใช้ในการทำงานประจำอื่นหรือจะใช้เวลาว่างทำกิจกรรมก่อให้เกิดรายได้บ้างเล็กน้อยหรืออยู่กับลูกหลานเพราะอายุมากแล้วก็เป็นได้ ไล่เรียงเรื่อยๆ กันมา นักลงทุนประเภทลูกผสมทั้งพื้นฐานทั้งเก็งกำไร ไปจนกระทั่งถึงคนที่มีทุนทรัพย์ไม่มากนักแต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าจะใช้วิธีเก่งกำไรอยู่หรือทำตัวเป็นพ่อค้าหุ้นมากสักหน่อยคือต้องใช้เวลาในแต่ละวันเฝ้าราคาหุ้นว่าจะขึ้นหรือลงอย่างไร เรียกว่าคงกลับข้างกันกับบุคคลประเภทแรกสุดนั่นเอง

ที่จริง ที่ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้น ก็ไม่ใช่จะบอกว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี แต่ประเด็นอยู่ตรงคำว่า “เฝ้าหุ้น” นั่นเอง เพราะคำนี้ที่จริงแล้วนักลงทุนทุกประเภทควรจะทำ ใช่ครับท่านฟังไม่ผิด “นักลงทุนทุกประเภทควรจะทำ” แต่ว่าเป็นการทำอย่างไร ในช่วงเวลาและโอกาสที่ต่างกันอย่างไร เท่านั้นเอง สำหรับนักลงทุนประเภทเก็งกำไรโดยแท้ เขาก็จะเฝ้าหุ้นโดยดูราคาหุ้นเป็นหลัก แต่กับนักลงทุนจริงๆ (ประเภทแรกที่พูดถึงด้านบน) ล่ะ ต้องเฝ้าไหม คำตอบตามความเห็นส่วนตัวของผมคือ ควร เช่นกัน

นักลงทุนจริงๆ เฝ้าอะไร

เอาละครับสมมุติว่าท่านเป็นนักลงทุนจริงๆอาจจะเป็นสายพื้นฐานโดยแท้หรือเป็นสายพื้นฐานแบบ “ดัดแปลง (modify)” ขึ้นไปนิดหนึ่งหรือที่เรียกว่านักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการหรือวีไอ (VI, Value Investor) (อ่านเรื่อง นักลงทุนพื้นฐานกับเน้นมูลค่าต่างกันอย่างไร) คนเหล่านี้จะประเมินมูลค่าของกิจการก่อน เมื่อตัดสินใจว่าควรลงทุนก็ซื้อกิจการนั้น  โดยส่วนตัวของผมแล้วเรื่องยังไม่จบแค่นั้น เพราะเมื่อตัดสินใจซื้อแล้วเรายังต้อง (อ่านเรื่อง วิชาแรกวิชาคัทลอส, วิชาที่สามวิชาควบคุมต้นทุน) รู้จักป้องกันตัวเองว่าไม่ให้ขาดทุนมากด้วยการขายตัดขาดทุนให้เป็น และยังต้องวางแผนซื้อให้ได้ต้นทุนที่ดีเท่าที่จะทำได้อีกด้วย  นอกจากนั้น ยังเป็นเรื่องของจริตของเราเอง เรื่องจริตนี้จะเอาความรักชอบในกิจการเพียงอย่างเดียวเป็นที่ตั้งไม่ได้ แต่ต้องผสมกันระหว่างความชอบ ความเข้าใจในกิจการว่าทำอะไรขายให้ใคร มี 5-force ที่มีผลกับกิจการอะไรบ้าง (อ่านเรื่อง 5-force) ซึ่งจะนำมาถึงความรู้ล่วงหน้าว่าในสภาวะแบบใดกิจการจะมีกำไรมากขึ้นหรือน้อยลง และที่สำคัญคือ เรื่องเหนือความคาดหมายที่มาจากปัจจัยภายนอกของธุรกิจแต่ละประเภท ซึ่งทุกธุรกิจล้วนมีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะจากธรรมชาติชองธุรกิจนั้นเอง ไปจนถึงหลักเกณฑ์ กฏหมาย การเมือง บางทีเกินเลยไปถึงการเมืองระหว่างประเทศก็ยังกระทบได้

เฝ้าหุ้น

ดังนั้นในการลงทุนแรกๆ กับหุ้นหรือธุรกิจหนึ่ง เราอาจจะเริ่มแต่น้อย (เรื่องนี้ใช้ได้กับทั้งนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มลงทุนและที่อยู่ในตลาดมานานแล้ว) คือ เริ่มซื้อ วางกลยุทธ์ให้ดี ว่าจะขายตัดขาดทุนที่เท่าไร รักษาต้นทุนให้ต่ำที่สุดได้อย่างไร ไปจนถึงขายทำกำไรเมื่อใด (อ่านเรื่อง วิชาที่สี่วิชาขายทำกำไร) และอยู่กับมัน เฝ้ามัน ว่าตัวธุรกิจ ราคาหุ้น มีอะไรมากระทบบ้าง เรารู้สึกอย่างไรกับมัน เรารู้ทัน เข้าใจ และทำใจได้ไหม สุข ทุกข์ มากหรือน้อยไปกับมันแค่ไหน ถ้าเราเป็นทุกข์ หุ้นขึ้น ลง ก็ไม่เข้าใจ บริษัทจะแย่ มีข่าว แต่เรามองภาพไม่ออก ก็อาจจะต้องพิจารณาว่าเราเลือกกิจการเหมาะกับตัวเองไหม แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้าม มีอะไรเรารู้สึกได้ก่อน รู้ก่อน และมีความสุขกับการวางแผนลงทุนไปกับบริษัทนั้น แบบนี้ถือว่าเลือกคู่ได้ไม่ผิด

สรุป

ไม่ว่ามือใหม่หรือเก่า ซื้อหุ้นใหม่ต้องเฝ้าทั้งสิ้น เฝ้าทั้งราคาเพื่อจำกัดความเสียหาย เฝ้าทั้งพฤติกรรมของธุรกิจเองและผลกระทบจากภายนอก เพื่อหาคู่ลงทุนที่เหมาะกับตัวเราเอง และทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จที่สุด อย่างมีความสุขที่สุด ครับ