วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ตัวอย่างการโฟกัสการลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นเปิดกว้างมากสำหรับนักลงทุน ทุกวันมีทั้งนักลงทุนที่จากไป (เดี๋ยวๆ  ไม่ได้จากไปแบบไม่มีวันกลับอะไรทำนองนั้น แต่เป็นการออกจากตลาดฯ ไปเองแบบเต็มใจ อาจจะเพราะไม่สมหวังหรือด้วยเหตุผลอื่น) และก็มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาตลอดเวลา สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่ลงทุนในหุ้นหรืออะไรก็ตามแล้วถ้าเป็นมือใหม่จริงๆ เวลาที่เราเริ่มลงทุนเรามักจะแยกของที่ดีออกจากของที่ไม่ดีได้ แต่บางครั้งยังไม่สามารถแยกของที่ดีมากและดีเลิศออกจากของที่ดี ของพอใช้ได้ ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นว่าเรา ซื้อหุ้นของบริษัทนั้นบริษัทนี้ปะปนกันไปหมด 

ชอบหลายบริษัทมากเกิดอะไรขึ้น

การที่เรารักชอบบริษัทต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ในการลงทุนเราจำเป็นต้องคัดเลือกให้เหลือจำนวนน้อยลงพอสมควร  ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าเราซื้อหุ้นหลายบริษัทมาก (ลองนึกตามในใจนะครับ เช่น 100 บริษัท สมมติแบบเกินเลยไว้หน่อยจะได้นึกภาพออก)  ด้วยทฤษฎีทางสถิติแล้วยิ่งเราซื้อหุ้นมากบริษัทเท่าไรผลตอบแทนก็จะเป็นไปตามตลาดเท่านั้น (จริงๆก็อาจจะดีกว่าหรือแย่กว่านิดหน่อยแต่ก็ไม่มากนัก)  ดังนั้นนักลงทุนอาจจะต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น (บางครั้งอาจจะมากพอสมควรเลยล่ะ) ในการแยกบริษัทที่ดีมากและดีมากๆ สำหรับเราออกจากบริษัทที่ดีให้เหลือจำนวนน้อยๆ ส่วนกิจการที่ไม่ดีนั้นไม่พูดถึงเพราะเราคงคัดออกไปก่อนอยู่แล้ว 

แล้วต้องเหลือกี่บริษัท

คำแนะนำเบื้องต้นก็คือ ในการซื้อหุ้นลงทุนแรกนั้นไม่ควรจะเกิน 3 บริษัท และอาจจะวางแผนลงทุนเป็นเงินจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละบริษัท (ซึ่งเทคนิคการซื้อเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ไม่สูงเกินไปนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก) และเมื่อพอร์ตใหญ่ขึ้นก็ไม่เกิน 5 บริษัท จนถึงระดับเกิน 10 ล้านบาทจึงพิจารณาอะไรที่เกินกว่า 5 บริษัทได้ ด้วยวิธีแบบนี้ เมื่อหุ้นใดที่เราลงทุนและเราเลือกถูกต้องปรับราคาขึ้นไป ก็จะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ดีกว่าการที่เราเอาเงินจำนวนไม่มากแต่กระจายซื้อหุ้นหลายบริษัทมากเกินไป แบบนั้นถึงแม้หุ้นของบริษัทที่เราลงทุนปรับราคาสูงขึ้นไป เราก็ไม่ได้กำไรมากมายนักเพราะเงินลงทุนในหุ้นนั้นไม่มากนั่นเอง

โดยสรุปก็คือ นักลงทุนต้องฝึกฝนตัวเองจนสามารถเลือกหุ้นที่ตัวเองชอบ ถนัด รู้จัก และประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด และมีศักยภาพในการเติบโตได้ดีเพียง 3-5 บริษัทให้ได้นั่นเอง

คำแนะนำในการแบ่งซื้อ

ใน 3-5 บริษัทที่เราสามารถคัดออกมาได้ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อในจำนวนเงินเท่ากัน ถ้าเห็นว่าบริษัทใดมีศักยภาพดีกว่าบริษัทที่เหลือก็โยกย้ายเงินไปไว้มากเป็นพิเศษได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจจะแบ่งเท่าๆ กันก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด เช่นมีเงิน 100,000 บาท อาจจะซื้อเพียง 3 บริษัท ถึงหุ้นจะไม่ขึ้นไปมากอย่างน้อยก็น่าจะเลือกบริษัทที่ได้ค่าตอบแทนมั่นคงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารได้ล่ะน่า หรือถ้าเงินมากหน่อยเช่น 1,000,000 บาท ก็อาจจะซื้อ 5 บริษัท หรือ 10,000,000 บาทก็ขยับเป็น 7-8 บริษัท เป็นต้น ถ้ามีหุ้นของบริษัทที่เราเลือกปรับตัวขึ้นไปมากในขณะที่หุ้นอื่นไม่ตกหล่นลงไปนัก (ถ้าเลือกดี วางแผนในการซื้อดี ก็ไม่เสียหายมากหรอก) ก็ชนะเงินฝากได้สบายแล้ว   การแบ่งเงินเท่ากันก็สบายใจตรงที่ไม่ต้องกังวลในกังวลอีกทีว่าขนาดเลือกเหลือ 3-5 บริษัทแล้ว ยังจะวางเงินไว้ผิดที่อีก  แต่ถ้าหุ้นที่เราเลือกไว้เพียง 3-5 บริษัทนี้ยังไม่ขึ้นไปในเวลาที่เราคาดหวัง ก็ถือว่าเราอาจจะเลือกผิด (จริงๆ อาจจะไม่ได้ผิดที่พื้นฐาน แต่ผิดที่ผู้คนไม่สนใจเกินไปก็ได้นะครับ) ก็ต้องทำใจนิดหนึ่ง แต่จากประสบการณ์อยากบอกว่า ถ้าดูดีแล้ว ต้องมีสัก 1-2 บริษัทที่เราได้กำไรเป็นกอบเป็นกำล่ะครับ 

ทดลองทำ

ลองกำหนดเงินที่ตัวเองจะลงทุนดูว่าเป็นเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นเงินก้อนครั้งเดียวที่มีอยู่แล้ว หรือจำนวนที่คิดว่าจะลงทุนในช่วง 1-2 ปีนี้ (คือ เติมเงินที่ได้จากการทำงานลงไปเรื่อยๆ ก็ได้) ว่าเป็นเงินเท่าไร จากจำนวนเงินนั้นก็เลือกจำนวนบริษัทที่เราจะซื้อหุ้นเพื่อลงทุน (เช่น 100,000 บาท ก็เลือก 2 บริษัท เป็นต้น) แล้วลองเลือกดูว่า จะเป็นบริษัทอะไรในราคาเท่าไร ซื้อเพราะเหตุผลอะไร ราคาวันนี้เท่าไร ราคาตามมูลค่าของบริษัทเป็นเท่าไร เมื่อไรในอนาคต เป็นต้น