วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

อัตราดอกเบี้ย FED กับตลาดหุ้น

 

ตกอกตกใจกันไปพร้อมหน้าสำหรับวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2565 ที่มีความกังวลว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ FED (Federal Reserve) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยกว่าที่คาดการณ์เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นั่นคือสิ่งที่เราได้รับทราบจากข่าวทั่วไป แต่ในฐานะนักลงทุนลองมาดูในรายละเอียดสักนิดว่าที่มาที่ไปคืออะไรนะครับ 

Federal Reserve (System) หรือ Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐ แม้จะได้ชื่อเป็นแบบที่เห็น แต่ไม่ได้รับสนับสนุนเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ และถือว่าตัวเองมีความเป็นอิสระ คือตัดสินใจนโยบายการเงินได้เองโดยไม่ต้องรอให้ประธานาธิบดีหรือสภาเห็นชอบ จนหลายครั้งก็มีข้อขัดแย้งกันเป็นธรรมดา สิ่งที่ Fed ทำคือการปรับอัตราดอกเบี้ยซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้มีผลกระทบต่อระบบการเงิน ธุรกิจตามมามากมาย โดยหลักการแล้วจะปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง (นั่นคือต่ำลงทั้งเงินฝากและเงินกู้) เมื่อเริ่มมีการฝืดเคืองของเงิน นั่นคือเงินไปกองอยู่และไม่มีใครเอาไปใช้ ดอกเบี้ยที่ต่ำลงทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจต่ำลง นักธุรกิจหรือบุคคลก็อาจจะกู้เงินเพื่อมาลงทุน ทำให้มีการซื้อขายสินค้า อสังหาริมทรัพย์ ขยายกิจการธุรกิจโรงงานห้างร้านต่างๆ ในทางกลับกัน ถ้าเศรษฐกิจเติบโตเร็วเกินไป เกิดภาวะเงินเฟ้อมากเกินไป Fed ก็อาจจะพิจารณาเพิ่มดอกเบี้ย เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (ทั้งเงินฝากและเงินกู้) ต้นทุนทางการเงินก็สูงขึ้น การกู้หนี้ต่างๆ จะลดลง ผู้คนอาจจะเริ่มนำเงินมาฝากกับธนาคารเพื่อหวังได้รับดอกเบี้ยแทนการนำไปใช้จ่าย ดังนั้นเมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ยตลาดหลักทรัพย์ก็จะตกลงมา และในทางตรงกันข้ามเมื่อ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยตลาดหลักทรัพย์ก็จะพุ่งทะยานสูงขึ้น 

เช่นปัจจุบันนี้เลยคือ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงมา -2,016.77 จุดหรือ -6.15% เป็น 30,766.26 จุด ณ เวลาที่กำลังเขียนบทความนี้ (13 มิถุนายน 2565) 

ทำไมอัตราดอกเบี้ยจาก Fed มีผลกับตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นด้วย

ที่พูดถึงในย่อหน้าบนก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตรงในประเทศสหรัฐอเมริกาเองซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ก็ส่งผลลบกับตลาดหลักทรัพย์ของเขาเช่นกัน  แล้วประเทศอื่นล่ะเกี่ยวอะไรด้วย ทุกครั้งที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยซึ่งดูไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไปในหลายประเทศนั้นเป็นผลต่อเนื่องมา เนื่องจากสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกามีการแลกเปลี่ยนโอนถ่ายกันได้ง่าย เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นก็จะมีบรรดานักลงทุนนำเงินมาฝากไว้กับสถาบันการเงินที่อิงอัตราดอกเบี้ยกับ Fed นักลงทุนเหล่านี้อาจจะมาเองหรือผ่านนายหน้าสรรหามาก็ตาม ทำให้อาจจะมีการยักย้ายถ่ายโอนของเงินจากการลงทุน (หรือเก็งกำไร) ในประเทศอื่นกลับไปยังสหรัฐอเมริกา และแน่นอนถ้ามีการแลกเปลี่ยนเงินโดยมีความต้องการเงินดอลล่าร์สหรัฐมากกว่าเงินสกุลของประเทศนั้นๆ ด้วยแล้ว จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นตกต่ำลงด้วย 

ผลต่อการดำเนินธุรกิจจริงๆ ของบริษัทที่เราลงทุน 

การเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของ Fed ดูเหมือนจะไกลตัว แต่มีผลทั้งการโยกย้ายเงินไปมา และค่าเงิน นั่นอาจจะเป็นเหตุทำให้อัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะมีเงินไหลออกไปที่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และ/หรือ สกุลเงินที่ปลอดภัยกว่าได้  ถ้าเราเป็นผู้ลงทุนก็ต้องดูว่าบริษัทที่เราสนใจนั้นมีลักษณะใดต่อไปนี้เพียงใด

1. มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจ่ายแค่ไหน 
บริษัทที่มีหนี้มากและต้องจ่ายดอกเบี้ยมากจนมีผลต่องงบการเงิน รวมทั้งไม่สามารถทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง (เช่น ออกหุ้นกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดี ออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อลดสัดส่วนเงินกู้)  จะได้รับผลกระทบมาก

2. บริษัทมีรายรับรายจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศเพียงใด
อย่างที่เล่าให้ฟังว่า การโยกย้ายถ่ายเทเงินอันเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยประเทศสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไปสามารถมีผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเปลี่ยนไปได้ เรื่องนี้เป็นได้ทั้งผลดีและผลเสีย ถ้าบริษัทมีรายรับเป็นสกุลเงินต่างประเทศแต่เงินไทยมีค่าต่ำลง เมื่อแลกเป็นเงินบาทไทยก็จะได้จำนวนมาก กลายเป็นผลดีไปได้ ในทางกลับกันหากต้องซื้อสินค้าเป็นสกุลเงินต่างประเทศแต่เงินบาทไทยด้อยค่าลงก็ต้องจ่ายเป็นเงินบาทไทยจำนวนมากขึ้นย่อมไม่เป็นผลดี

3. ธุรกิจเราทำอะไรจริงๆ
สินค้าและบริการหลายอย่างอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงและ/หรือมากนักจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของ Fed ก็ได้ เช่นบริษัทที่หนี้สินน้อย ขายสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ราคาไม่สูงที่ลูกค้าไม่ต้องกู้มาซื้อ ใช้วัตถุดิบภายในประเทศและขายภายในประเทศ เช่นนี้ก็จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่างๆ กับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนมากเป็นผลทางจิตวิทยาในระยะสั้น สำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ลงทุนในบริษัทที่ดี มีภูมิต้านทานต่อพิษเศรษฐกิจแล้ว คงไม่ต้องตกใจมากนัก เพียงแต่ต้องสำรวจสุขภาพการลงทุนของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และปรับการลงทุนตามไปเมื่อจำเป็นและสมควร

ทดลองทำ

ลองดูว่า บริษัทที่เราสนใจ หรือที่ลงทุนอยู่ มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจ่ายเท่าใด มีรายจ่ายและรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศหรือบาทไทยในอัตราส่วนเท่าใด และทำธุรกิจที่มีวัตถุดิบหรือสินค้าที่ต้องนำเข้าหรือส่งออกด้วยสกุลเงินอื่นมากหรือน้อยอย่างไร