วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ความสมเหตุสมผลของงบการเงิน


งบการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญของทั้งเจ้าของธุรกิจเองและนักลงทุนในการรู้สถานะทางการเงินของกิจการ เราทราบกันอยู่แล้วว่าประกอบไปด้วย งบดุล (หรือเรียกว่างบแสดงสถานะทางการเงิน), งบกำไรขาดทุน, งบกระแสเงินสด, และ งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนมองเห็นเข้าไปในการทำงานของบริษัทได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง 

บัญชีนั้นอาจจะตกแต่งได้

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า รายงานทุกอย่างมีข้อจำกัดของมัน มากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ว่าถูกจัดทำและตรวจสอบได้มากหรือน้อยเพียงใด ข้อจำกัดเหล่านี้เช่น 

1. งบการเงินเป็นการจัดทำ ณ วันหนึ่งๆ เช่นสิ้นสุดไตรมาส หรือปี ดังนั้นไม่ได้แสดงสถานะสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างทางโดยตรง นั่นหมายถึงว่า ระหว่างทางอาจจะแย่ แต่ทำให้อะไรๆ ดีได้ตอนจะปิดงบฯ ก็ดูดีได้

2. การจัดทำงบการเงินนั้น หลายครั้งอาจจะมีการคาบเกี่ยวในการบันทึกรายการ เช่น การบันทึกเงินมัดจำเป็นรายได้, การซื้อกิจการอื่นที่มีค่า Goodwill สูงเกินความเป็นจริง, การตกแต่งบัญชีสินทรัพย์โดยการตีมูลค่าราคายุติธรรมของสินทรัพย์สูงเกินความเป็นจริง (จะบันทึกเป็นกำไรในงบกำไรขาดทุน, และเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นให้สูงขึ้นเกินจริง โดยไม่ใช่กำไรจากการดำเนินกิจการ) 

3. การพยายามบันทึกข้อมูลทางบัญชีที่ทำให้งบการเงินดูดีเป็นครั้งคราว เช่น ปกปิดการขาดทุนโดยการเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ผิดปกติ (คือน้อยเกินไป), การปกปิดสินทรัพย์ที่แท้จริงโดยบันทึกการด้อยค่าของทรัพย์สินต่างๆ ไม่ตรงตามความเป็นจริง, การปกปิดหนี้สินเช่นการบันทึกสัญญาทางการเงินเป็นสัญญาทางการดำเนินงาน, การเลื่อนการรับรู้รายได้เข้าหรือออกไป ซึ่งมีผลต่องบกำไรขาดทุนและต่อภาษีที่ต้องจ่ายด้วย หรือแม้แต่การบันทึกสิ่งที่ตัวเองเป็นนายหน้าในการซื้อขายเป็นรายได้ของตัวเอง (กรณี Enron) เป็นต้น 

ทั้งหมดด้านบนนั้นอาจจะเขียนไว้หรือไม่เขียนไว้อย่างชัดเจนในหมายเหตุประกอบงบการเงิน และก็ขึ้นกับผู้สอบบัญชีว่าจะสามารถสืบค้นที่มาได้มากหรือน้อยเพียงใดด้วย บางบริษัทอาจจะดูไม่ให้ความร่วมมือนักในการสอบบัญชี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้สอบบัญขีก็อาจจะมีข้อสังเกต เงื่อนไข ไปจนถึงไม่รับรองบัญชีนั้นได้

แล้วนักลงทุนต้องทำอย่างไร

สิ่งแรกที่ควรจะต้องพิจารณาคือ ใช้ สามัญสำนึก ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่นดูว่างบที่ออกมากับสิ่งที่เราเห็น หรือสัมผัสได้นั้น มันดูเข้าท่าหรือไม่ งบดีแต่เป็นบริษัทที่ไม่น่าจะขายของได้ หรือไม่น่าจะมีอัตรากำไรสูงมากได้ แบบนี้น่าแปลกใจ หรือขายได้เยอะ รับงานมากมาย แต่งบแย่ แบบนี้ก็น่าจะสงสัยสักหน่อยว่าทำไม สำหรับบริษัทที่กิจการไม่ซับซ้อนมากนัก เราก็อาจสังเกตได้ไม่ยาก แต่กับบริษัทขนาดใหญ่ มีบริษัทย่อยมากมาย มีสินค้าหลากหลาย ยิ่งมีการลงทุนในต่างประเทศด้วยก็จะยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้นจนถึงกับไม่สามารถมั่นใจจากการใช้สามัญสำนึกตามปกติได้ว่างบการเงินที่เห็นนั้นสะท้อนสถานะการดำเนินงานของกิจการหรือไม่ นั่นก็คือความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ต้องทำเครื่องหมายเอาไว้ในใจ 

หมายเหตุประกอบงบการเงิน

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสังเกตคือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Notes to Financial Statement) ซึ่งทั้งที่ชื่อของมันเป็นเพียง "หมายเหตุ" แต่กลับสำคัญมาก เพราะคือการบอกนโยบายหรือรายละเอียดของเกณฑ์การจัดทำบัญชีที่บริษัทใช้อยู่ แต่ละบริษัทก็อาจจะมีเกณฑ์ต่างกัน ทำให้ตัวเลขที่ออกมาต่างกันได้มาก ในหมายเหตุประกอบงบการเงินจะแสดงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ (มากน้อยก็ตามความโปร่งใสของแต่ละบริษัทด้วย ซึ่งเราก็พิจารณาได้เช่นกัน) เช่น
  • รายได้ รับรู้อย่างไร เมื่อใด
  • ลูกหนี้และเจ้าหนี้การค้า มากขึ้น น้อยลง คงค้าง อย่างไร การมีทั้งคู่มากผิดปกติย่อมไม่ดี
  • รายละเอียดหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย เป็นอย่างไร มากหรือน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ อัตรากำไร 
  • นโยบายการตัดค่าเสื่อมราคาเป็นอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ในรอบใด 
  • รายละเอียดของสินค้าคงเหลือ ถ้าเหลือมากอาจจะหมายถึงขายยาก หรืออาจจะตกร่นเสื่อมค่าได้
  • มีการค้ำประกัน คดีความฟ้องร้องอยู่หรือไม่อย่างไร มีการประมาณหนี้สินจากค่าปรับหรือไม่ นี่คือความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะต้องเตรียมรับ ถ้าความเสี่ยงสูงได้กันเงินเอาไว้หรือไม่อย่างไร
  • รายละเอียดการลงทุน/ถือหุ้นในบริษัทอื่น เป็นการลงทุนที่ดีหรือไม่ ได้หุ้นนั้นมาในราคาสมเหตุสมผลหรือเปล่า 
  • รายละเอียดและวิธีการประเมินสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (เช่น Goodwill) ว่าแพงเกินไปหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงตีค่าใหม่ทำให้ต้องไปบันทึกในกำไรและทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาโดยไม่ได้มาจากการทำธุรกิจหรือไม่
  • ข้อมูลด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลกระทบกับกิจการ หลายกิจการมีการนำเข้าส่งออกด้วยเงินตราต่างประเทศ บางครั้งมีการได้หรือเสียผลประโยชน์นี้ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการดำเนินงานโดยตรง (ก็ เกี่ยวอ้อมๆ เรื่องการจัดการค่าเงินอยู่บ้าง) และอาจจะเกิดขึ้นครั้งเดียว ก็เป็นสิ่งที่เรานำไปพิจารณาต่อได้ 
  • อื่นๆ 
จะเห็นว่าทุกข้อนั้นสำคัญทั้งสิ้น (อาจจะมีอย่างอื่นมากกว่านี้อีก) ถ้าเราเห็นว่าบริษัทที่เราสนใจมีผลการดำเนินงานดีหรือไม่ดีผิดปกติเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มเดียวกัน ก็ควรอย่างยิ่งที่จะเข้ามาดูหมายเหตุประกอบงบการเงินนี้ด้วย 

ทดลองทำ

ลองดูงบการเงินของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจสัก 3-4 บริษัท ว่ามียอดขาย อัตรากำไร กำไรสุทธิ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ต่างกันหรือไม่อย่างไร รวมทั้งเข้าไปดูหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัทเหล่านั้นด้วยเพื่อหาเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมผลการดำเนินงานจึงต่างกัน