วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

การลงทุนกับการเมือง

สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจจะคิดว่าการเมืองนั้นไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับตัวเองสักเท่าไร แต่ในหมู่นักลงทุนแล้วเราทราบดีกว่าเกี่ยวข้องกันอย่างมาก ถ้ายังมีเพื่อนนักลงทุนคนไหนที่ยังคิดว่าไม่เกี่ยวกันล่ะก็ คงต้องบอกให้เริ่มเปลี่ยนความคิดได้ หรือถ้ายังไม่เชื่อก็ลองติดตามอ่านเรื่องนี้ดูก่อน หรือแม้แต่คิดว่าเกี่ยวข้องอยู่แล้วก็ลองติดตามดูว่ามีแง่มุมไหนบ้าง หรือจะนำอะไรไปปรับใช้กับการลงทุนของตัวเองให้ดีขึ้นได้ ก็อาจจะเป็นประโยชน์นะครับ

การลงทุนกับการเมือง

สิ่งแรกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การเมืองนั้นย่อมมี "ขั้ว" มีฝักมีฝ่ายอยู่ แต่ละขั้วอาจจะเอื้ออำนวยต่อธุรกิจที่อยู่ในเครือพรรคพวกเดียวกันเป็นพิเศษก็ได้ ในขณะที่บางครั้งนอกจากไม่ส่งเสริมธุรกิจที่อยู่คนละขั้วการเมืองแล้วยังมีนโยบายให้ได้รับผลกระทบก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามนักธุรกิจที่ฉลาดมักจะสามารถทำตัวให้เข้ากับการเมืองได้ทุกฝ่าย เรียกว่าเอาตัวรอดไปได้เรื่อย ถ้าไม่เป็นการทำตัวแบบ "นกสองหัว" จนน่าเกลียดหรือขาดจริยธรรมเกินไป ก็อาจจะเป็นการปฏิบัติที่ยอมรับได้หรือดีกับธุรกิจก็ได้

อีกหนึ่งกรณีที่อาจจะเกี่ยวกับการเมืองด้วยคือนโยบายของกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นผู้มีอำนาจในการออกกฏหมาย (รวมเรียกว่า พรรคร่วมรัฐบาล) ของบางอย่างที่เคยผิดกฏหมายมาก่อนอาจจะกลายเป็นถูกกฏหมายในวันต่อมาได้เมื่อกฏหมายเปลี่ยนไป และในทางกลับกันก็เช่นกัน ของที่เคยถูกกฏหมายอาจจะกลายเป็นผิดกฏหมายในวันนี้ได้ เรื่องของกัญชาที่เริ่มถูกกฏหมายที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดี ทำให้หลายธุรกิจมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาออกจำหน่ายได้ (จุดนี้เราไม่พูดถึงข้อดีหรือเสียนะครับ เพราะอยู่นอกประเด็น) หรือการออกมาตรการฉุกเฉินต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ที่ผ่านมา เช่น การจำกัดการเดินทาง ปิดเที่ยวบิน โรงแรม โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ล้วนมีผลต่อการประกอบธุรกิจทั้งสิ้น แม้แต่ผลทางอ้อมในการจัดหาและฉีดวัคซีนของรัฐว่าเร็วหรือช้าอย่างไรก็มีผลเช่นกัน

นอกจากนั้นยังมีเรื่องการเมืองที่ดูแปลกจนคิดว่าไม่น่าจะมีได้เร็วๆ นี้ (16-17 มิถุนายน 2565) คือ ความพยายามที่รัฐบาลขอให้บรรดาโรงกลั่นน้ำมันในประเทศช่วยแบ่งผลกำไรส่งเข้ากองทุนน้ำมันเอาเสียดื้อๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีข้อกฏหมายรองรับ ไม่สามารถบังคับได้ (และการขอที่ว่านี้เหมือนการขอบริจาค แต่เป็นเงินจำนวนมหาศาล) เพราะการดำเนินกิจการของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยมีข้อตกลงกันอยู่แล้วตั้งแต่ต้น การได้กำไรหรือขาดทุนของโรงกลั่นน้ำมันเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ บางครั้งอาจจะขาดทุน และเมื่อคราวได้กำไรก็ต้องนำมาหักกลบลบหนี้กับเมื่อคราวที่ขาดทุนเป็นเรื่องปกติ (และหากได้กำไรก็จะต้องเสียภาษีส่งรัฐอยู่แล้ว) ถึงคราวที่โรงกลั่นมีกำไรบ้างกลับถูกพยายาม "ไถเงิน" เข้ากองทุนนั่นนี่จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง (เมื่อคราวโรงกลั่นขาดทุนปีละหลายพันล้านบาทต่อโรงต่อปี ไม่เห็นใครไปช่วยเขาบ้าง) 

นโยบายที่มีผลทางอ้อม

นโยบายที่มีผลอีกเรื่องหนึ่งคือ การเงินและการคลัง พูดง่ายๆ คือ ดอกเบี้ย (นโยบายการเงิน) และภาษี (นโยบายการคลัง) นั่นเอง ภาษีที่สูงขึ้นย่อมทำให้แรงจูงใจในการทำธุรกิจลดลง (เราจึงต้องมี คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ Board Of Investment - BOI) ที่พิจารณาส่งเสริมการลงทุนด้วยมาตรการให้ผลประโยชน์ต่างๆ กับผู้ลงทุน หนึ่งในนั้นคือมาตรการด้านภาษี เช่น ได้รับยกเว้นภาษีอะไร จำนวนเท่าใด ในระยะเวลาเท่าใด เป็นต้น การไม่เสียภาษีเป็นการทำให้ธุรกิจมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ซึ่งเขาสามารถนำไปลงทุนต่อหรือใช้หนี้ที่สร้างขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจได้ ทำให้กิจการเติบโตได้เร็วขึ้น นโยบายเกี่ยวกับภาษีที่ดิน อัตราภาษีในการโอนอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นสิ่งที่มีผลกับการดำเนินงานของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ค่าโอน จดจำนองที่สูงย่อมทำให้แรงจูงใจในการซื้อลดลง

นโยบายที่สำคัญอีกคือเรื่องการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยต่างๆ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนของธุรกิจ (Cost of Capital) สูงขึ้น ความเสี่ยงสูงขึ้น แรงจูงใจในการทำธุรกิจต่ำลง ยิ่งกับบุคคลธรรมดาที่ไม่สามารถ "ส่งถ่าย" ภาระทางภาษีไปให้ผู้อื่นได้แต่ต้องแบกรับเอาไว้เองยิ่งได้รับผลกระทบมาก ซึ่งต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้วบุคคลธรรมดาเล็กๆ เหล่านี้ก็คือลูกค้าของบริษัทขนาดใหญ่ ผลกระทบก็ตกลงไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ในที่สุดนั่นเอง

สรุป

จะเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการออกกฏหมายหรือนโยบายทั่วไปล้วนมีผลกระทบกับธุรกิจโดยรวมทั้งสิ้น แต่จะมากหรือน้อยแล้วแต่ประเภทของธุรกิจนั้น ถ้าเป็นไปได้นักลงทุนก็คงต้องการซื้อธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายและนโยบายของรัฐต่างๆในราคาที่ยังไม่แพง แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะยากที่มีธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐหรือกฎหมายต่างๆ ที่ว่าเลย สิ่งที่เราทำได้ก็คือเลือกธุรกิจที่ได้ประโยชน์ที่สุด มั่นคง มีความสามารถในการปรับตัวได้เร็วนั่นเอง

ทดลองทำ

สำรวจดูว่าบริษัทที่เราสนใจจะลงทุนหรือลงทุนไปแล้วมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือรับผลกระทบจากนโยบายของรัฐหรือกฎหมายต่างๆ เพียงใด อาจจะใช้วิธีหาข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้ หรือดูในแบบประเมินความเสี่ยงที่บริษัทจดทะเบียนจัดทำเสนอให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นประจำก็ได้ เพื่อเราจะได้คิดล่วงหน้าว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ กฎหมายหรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทที่เราลงทุนเราจะตัดสินใจอย่างไร