การประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นนั้นว่ายากแล้ว แต่ความยากของการซื้อหุ้นให้ต้นทุนต่ำเท่าที่จะทำได้นี่แหละอาจจะยากกว่าก็ได้เพราะราคาหุ้นขึ้นกับของหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสั้นนั้นขึ้นกับอุปสงค์ อุปทาน และสภาพตลาดโดยทั่วไปเป็นหลักเลย
ในตลาดหลักทรัพย์มีหุ้นมากมาย การขึ้นลงของราคาหุ้นต่างๆ จะถูกนำไปคำนวณดัชนีของตลาดแบบถ่วงน้ำหนักกับขนาดตลาด (Market Capital) ของบริษัทต่างๆ นั้น จะเห็นว่าที่จริงแล้ว ดัชนีของตลาดเป็น "ผล" จากการขึ้นหรือลงของราคาหุ้นต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน ดัชนีตลาดฯ นี้เองก็มีผลทางจิตวิทยาต่อราคาหุ้นทั้งหลายด้วย โดยเฉพาะเมื่อดัชนีปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเวลานาน (อาจจะไม่ลงทุกวันติดกัน แต่โดยแนวโน้มแล้วปรับตัวลง) ถ้าเป็นเช่นนี้ ราคาหุ้นโดยส่วนมากจะยากที่จะปรับตัวขึ้นสวนไปได้ (แต่ถ้ามี ก็น่าสนใจไปดูสักหน่อยนะครับ อาจจะพบของดีก็ได้) ถ้าหุ้นของบริษัทที่เราสนใจมักมีราคาปรับขึ้นลงไปตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์แล้วล่ะก็สิ่งที่ควรทำคือใจเย็นๆ และรอจนกระทั่งดัชนีปรับตัวลงจนสุดแล้วเริ่มปรับตัวขึ้นจึงค่อยเข้าไปเริ่มซื้อหุ้นก็ยังไม่สาย
การซื้อตามราคา
แน่ล่ะ เมื่อเราจะซื้อของมันก็ต้องคุ้มค่า หรือราคาต่ำกว่าค่าของมัน ในกรณีของหุ้นก็คือเมื่อเราคำนวณราคาที่เหมาะสมของหุ้นไว้เรียบร้อยแล้วและเห็นว่าหุ้นของบริษัทนั้นราคาต่ำกว่าราคาเหมาะสมมากๆ (เช่น 30-50% ซึ่งส่วนต่างนี้เราเรียกว่า ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือ Margin Of Safety) เราอาจคิดอยากจะลองเข้าไปซื้อได้ (จริงๆ แล้วยังมีเรื่องอื่นที่ต้องดูประกอบด้วยนะครับ เช่น ลักษณะธุรกิจ ผู้บริหาร ธรรมาภิบาล เป็นต้น) แต่การเริ่มซื้อเราอาจจะต้องดูแนวโน้มของราคาสักนิดก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าราคายังอยู่แนวโน้มขาลงจะด้วยเพราะสภาพตลาดหรือความไม่นิยมในหุ้นนั้นชั่วคราว ก็คงต้องทำใจเย็นๆ รอจนราคานิ่งก่อนค่อยเข้าไปซื้อ และก็คงไม่ได้ซื้อทีเดียวให้ได้ตามจำนวนที่วางแผนไว้ สรุปง่ายๆ คือซื้อเมื่อ
- ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และ
- ราคาไม่อยู่ในแนวโน้มขาลง
การซื้อตามเวลา
ที่จริงแล้วแนวคิดนี้มาจาก DCA หรือ Dollar Cost Average คือแบ่งซื้อหุ้นออกเป็นหลายครั้งด้วยเงินจำนวนเท่าๆ กัน เมื่อหุ้นมีราคาต่ำลงก็จะได้หุ้นจำนวนมากขึ้น และเมื่อหุ้นราคาสูงขึ้นก็จะได้หุ้นจำนวนน้อยลง (แต่ก็ดีที่หุ้นราคาสูงขึ้นจากที่เคยซื้อ) จากข้อที่แล้วแม้ว่าเราจะเห็นว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และราคาเริ่มนิ่งให้เข้าไปซื้อได้ เราก็คงไม่ซื้อหุ้นนั้นทั้งหมดตามงบประมาณที่วางไว้ในคราวเดียว แต่ต้องวางแผนเกณฑ์ส่วนตัวขึ้นว่าเราจะซื้อกี่ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันเท่าไร โดยทั่วไปแล้วอาจจะแบ่งออกเป็น 5-10 ครั้ง โดยดูวงรอบการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ถ้าราคาหุ้นเคลื่อนไหวเป็นวงรอบ (คือ ขึ้นและลง) ช้าก็ต้องปรับความห่างการซื้อแต่ละครั้งให้นานขึ้น แต่ถ้าราคาหุ้นเคลื่อนไหวเป็นวงรอบ (คือ ขึ้นและลง) เร็วก็ต้องปรับความห่างการซื้อแต่ละครั้งให้ถี่เข้ามา แต่ถ้าราคาเปลี่ยนเป็นทิศทางขาลง ให้หยุดซื้อก่อน สรุปง่ายๆ คือ
- ถ้าหุ้นเคลื่อนไหววงรอบเร็ว ซื้อถี่ขึ้น
- ถ้าหุ้นเคลื่อนไหววงรอบช้า ซื้อห่างออกไป
- หยุดซื้อถ้าหุ้นมีแนวโน้มเป็นขาลง
ทั้งหมดนี้คือข้อแนะนำในระบบการซื้อ สำหรับผู้ที่เป็นนักลงทุนระยะกลาง (1-2 ปี) ขึ้นไปนะครับ ถ้านักซิ่งทั้งหลายมาทำตามอาจจะอึดอัดจนสลบก่อน หรือ ลืมไปเลยว่าจะต้องทำอะไรในเวลาใด อิอิ
ทดลองทำ
ลองพยายามหาหุ้นของบริษัทที่น่าสนใจ คือเมื่อคำนวณมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นนั้นแล้วสูงกว่าราคาปัจจุบัน แล้วพิจารณาว่าควรซื้อหรือไม่ โดยดูว่ามีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ มีแนวโน้มที่ไม่เป็นขาลงไหม และควรจะแบ่งซื้อกี่ครั้ง ครั้งละเท่าไรในระยะเวลาห่างกันเท่าไร และวางแผนไว้ว่าหยุดซื้อเมื่อลักษณะราคาเป็นอย่างไร