วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

วีไอกับเทคนิคอล


โดยพื้นฐานของการลงทุนแล้วมักจะแบ่งออกได้เป็นสามประเภทคือ ลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental)  ลงทุนด้วยข้อมูลเชิงเทคนิค (Technical) และการลงทุนแบบเน้นมูลค่า (Value Investment) ซึ่งที่จริงก็อาจจะมีแบบแนวอื่นอีกแต่ไม่เป็นที่รู้จักนัก   ที่จริงการลงทุนแบบเน้นมูลค่านั้นจะเรียกว่าเป็นการเจริญพันธุ์ออกมาจากแนวปัจจัยพื้นฐานก็ได้ (ถ้าปัจจัยพื้นฐานของกิจการที่จะลงทุนไม่ดีเสียแล้ว การจะหามูลค่าออกมาคงทำได้ยาก หรือไม่ก็ได้ค่าต่ำต้อยจนไม่น่าสนใจที่จะลงทุน)  หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าหรือวีไอ (VI - Value Investment) นั้นใช้เทคนิคอล (Technical) ในการลงทุนหรือไม่ ซึ่งน่าสนใจจะคุยกันไม่น้อยครับ 

เพราะจะพูดไปแล้ว การลงทุนในแนวเน้นมูลค่าของบริษัท ก็มีหลักการคำนวณราคาที่เหมาะสมของตัวเอง อาจจะใช้ P/E (Price per Earning ratio หรืออัตราส่วนระหว่างราคาต่อรายได้ต่อปี ผลการคำนวณคือการ) หรือ PEG (คือนำ P/E ของหุ้นมาหารด้วยอัตราการเติบโตของกำไรปกติต่อหุ้นต่อปี ยิ่งมีค่าต่ำกว่า 1 เท่าไรยิ่งดี) หรือ DDM (Dividend Discount Model คือการคิดรวมเงินปันผลที่จะได้รับในอนาคต และคิดลดมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน) หรือ DCF (Discounted Cash Flow หรือการคำนวณกระแสเงินสดอิสระที่จะทำได้ในแต่ละปีแล้วคิดลดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน) นี่ยังไม่หมดนะ เพราะนักลงทุนแต่ละคนอาจจะมีเทคนิคเฉพาะตัวอื่นๆ ได้อีก

ทำไมเทคนิคอลจึงน่าสนใจด้วย

ถ้าพูดถึงนักลงทุนในแนวเทคนิคแล้ว เขาจะดูการเปลี่ยนแปลงของราคา ปริมาณการซื้อขาย และช่วงเวลาที่เกิดราคาและปริมาณการซื้อขายนั้นเป็นหลัก เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่าควรซื้อหรือขายหุ้นตัวใดเมื่อไร เรียกว่าไม่ต้องดูผลประกอบการใดๆ กันเลย เพราะเชื่อว่าทั้งผลการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคตจะถูกสะท้อนออกมาในราคาหุ้นแล้ว  โดยพื้นฐานแล้ววิธีทางเทคนิคเป็นการใช้หลักสถิติและการพยากรณ์ มีตัวชี้ (indicator) ต่างๆ เช่น MACD, RSI, SD, Stochastic oscillator, Fibonacci retracement, เส้นเฉลี่ยสารพัดวันต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย (เริ่มรู้สึกว่ายากกว่าสาย VI ในการประเมินมูลค่าหุ้นเสียแล้วสิ) แล้วตัดสินใจลงทุนไปตามที่ตัวชี้วัดต่างๆ เหล่านั้นบอกเรา 

สิ่งที่มักเกิดกับเทคนิคอล

โดยส่วนตัวแล้ว ปัญหาใหญ่หนึ่งของบรรดาตัวชี้วัดทั้งหลายมักจะไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไร เช่น สองตัวนี้บอกให้ซื้อ แต่อีกตัวบอกให้ขาย เสร็จแล้วพอเราซื้อหุ้นกลับลงก็ต้องคิดในใจว่าก็มีตัวหนึ่งบอกให้ขายยังไงล่ะ ทำไมไม่เชื่อ (อ้าว) หรือกลับข้างกันเช่น ตัวนี้บอกให้ซื้อ แต่อีกสองตัวบอกให้ขาย เสร็จแล้วพอเราขายหุ้นกลับขึ้นไปเรื่อย ก็ต้องคิดในใจว่าก็มีตัวหนึ่งบอกให้ซื้อยังไงล่ะ (อ้าว อีกที) เอาล่ะเป็นอันว่าเราผิดก็ได้ (ฮา...) 

โดยส่วนตัวแล้วดูอะไรในเทคนิคอล

โดยส่วนตัวแล้วถ้าจะให้เลือกมองราคา เวลา และปริมาณการซื้อขาย คงจะไม่ลงลึกไปถึงตัวเลขทางสถิติหรือตัวชี้ (indicator) ทั้งหลาย แต่จะดูแนวโน้ม (trend) กว้างๆ ของราคาว่ากำลังขึ้น ลง นิ่งๆ หรือไซด์เวย์ (เรียกว่าดูคร่าวๆ ด้วยสายตาเลย) และ ดูกราฟแบบแท่งเทียน (candlestick) บ้าง เพราะ ถ้าแนวโน้มราคากำลังลงเราก็น่าจะชะลอการซื้อไว้ก่อน  ส่วนกราฟแบบแท่งแทียนนั้นช่วยให้เห็นความเคลื่อนไหวในวัน สัปดาห์ และความน่าจะเป็นของราคาหุ้นในระยะสั้น ข้อดีอีกข้อหนึ่งของกราฟแท่งเทียนคือ เมื่อเราคาดการณ์ผิดพลาด แท่งเทียนจะบอกได้เร็วว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังแต่แรกและเกิดความเสียหายน้อยกว่า

สรุป

ดังนั้นแม้จะเป็นนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อหุ้นโดยไม่ดูสภาวะแวดล้อมเลย เพราะนอกจากเราซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้ว เราก็ยังอยากได้หุ้นที่ราคาต่ำเท่าที่จะทำได้ด้วย เพราะที่เงินเท่ากันเราจะได้หุ้นจำนวนมากกว่านั่นเอง

หัดทำ

ลองหาหุ้นที่สนใจ แล้วดูว่าแนวโน้มราคาของหุ้นนั้นอยู่ในช่วงใด ระหว่างกำลังขึ้น กำลังลง อยู่นิ่งๆ หรือ ไซด์เวย์ (ขึ้น หรือ ลง) และถ้าเราจะซื้อหุ้นนั้น เราควรรอหรือซื้อเลย หรือควรแบ่งซื้ออย่างไร เพื่อที่น่าจะได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด