วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

อย่าคาดการณ์ราคาหุ้นในระยะสั้น


จะว่าไปแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องจากเรื่อง อย่าคาดเดาดัชนี ที่เคยเขียนไว้แล้ว แต่ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ก็มีที่มาจากราคาหุ้นแต่ละตัวแต่เป็นการคำนวณแบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก เรียกว่าถ้าหุ้นตัวใหญ่ มีขนาดตลาด (Market Capital คือถ้าเราจะซื้อบริษัทนั้นทั้งบริษัทมาเป็นของเราคนเดียวจะใช้เงินเท่าไร ซึ่งถ้าจะทำกันจริงๆ คือเอาราคาต่อหุ้นในตลาดคูณกับหุ้นทั้งหมดของบริษัทที่อยู่ในมือนักลงทุนประเภทต่างๆ - นั่นคือไม่รวม Treasury Stock หรือหุ้นที่ถูกซื้อคืนโดยบริษัทนั้นเอง แต่การคิดขนาดตลาดโดยประมาณแล้วก็อาจจะไม่คิดละเอียดขนาดนั้นก็ได้) ใหญ่แล้วเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยก็จะทำให้ดัชนีเปลี่ยนไปมากกว่าการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นของบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า 

ราคาหุ้นในระยะสั้น

ในระยะสั้นแล้วสภาพการณ์ของตลาดหรือราคาหุ้นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นถือว่าเปราะบางมาก เป็นเพราะว่าขนาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเล็ก ปริมาณการซื้อขายน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเช่นฮ่องกงหรือไต้หวัน การเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนนักลงทุนต่างประเทศ หรือแม้แต่รายย่อยที่เข้าซื้อขายหุ้นบางตัวเป็นการเฉพาะ (ภาษาเรียกกันขำๆ คือหุ้นเม่าเข้า - ซึ่งทำเป็นเล่นไปนะครับ คนที่แกล้งเรียกตัวเองว่าเม่าเนี่ยเห็นมาหลายรายแล้วเงินหนาแถมยังได้กำไรบ่อยก็มี) จึงทำให้มีผลต่อ ราคาหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาก  การมีข่าวหรือเล็กน้อยก็ทำให้ราคาของหุ้นบางตัวเปลี่ยนไปมากทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนก็ทราบได้ว่าในระยะยาวแล้วนั้นไม่ว่าข่าวลือจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตามก็ไม่ได้มีผลอะไรกับสภาพการทำงานของธุรกิจหรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยทั่วไปนัก  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเวลาหุ้นลงหุ้นก็ลงตามๆ กัน พอเวลาหุ้นขึ้น หุ้นก็ขึ้นพร้อมๆ กันเรียกว่าคนต่างช่วยกันซื้อขายในทางเดียวกัน จริงๆ แล้วดูไปก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่านักลงทุนแต่ละกลุ่มใช้อะไรในการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นกันแน่ บางกลุ่มก็ซื้อๆ ขายๆ เอาสนุกกันไปจนราคาป่วนไปหมดก็มี  ราคาหุ้นในระยะสั้น (ระยะต่ำกว่า สองไตรมาส) จึงคาดการณ์แทบไม่ได้เลย 

แล้วอะไรที่เราพอจะคาดการณ์ได้
  • ผลประกอบการของหลายบริษัท สามารถคาดการณ์ได้ ทำให้สามารถคำนวณรมูลค่าของบริษัทได้
  • การเกิดวิกฤติต่างๆ คาดได้ว่าดัชนีโดยรวมมักตกต่ำลงมา แต่นั่นต้องเป็นกรอบเวลาที่กว้างขึ้น มีวิกฤติอยู่นานพอสมควรเช่น 1-2 ปี  ถ้าวิกฤติเป็นข่าวระยะสั้นๆ ดัชนีมักสะเทือนบ้างแล้วขยับกลับที่เดิม 
  • เมื่อใกล้สิ้นสุดวิกฤติ ซึ่งเป็นเวลาที่ราคาหุ้นต่างๆ ตกต่ำลงไปมากแล้ว ก็มักเป็นเวลาที่ราคาหุ้นจะปรับกลับไป อาจจะถึงระดับปกติหรือไม่ก็ได้ (ส่วนมากจะไม่) ทั้งๆ ที่ผลประกอบการยังอาจจะแย่อยู่
  • หุ้นหลาายบริษัทที่ปรับตัวลงไปอาจจะยังมีผลประกอบการที่ดีในช่วงวิกฤติด้วยซ้ำ อาจจะเป็นโอกาสที่ดีมากที่เราจะเลือกหุ้นดีๆ ผลตอบแทนสูง (ทั้งปันผลและกำไรจากส่วนต่างของราคา) เข้าพอร์ตได้ (ดูเรื่อง วิกฤติช่วยเลือกหุ้น ประกอบ) 
  • ในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นจะเป็นไปตามผลประกอบการเสมอ (อาจจะมีความคาดหวัง และความเชื่อเข้ามาปนบ้าง แต่มีอิทธิพลน้อยกว่า)
ทดลองทำ

ลองกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงของดัชนี และราคาหุ้นของบริษัทที่เราสนใจในช่วงวิกฤติต่างๆ ทั้งต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ โควิด-19 เน้นที่ก่อนเข้าวิกฤติและกำลังจะออกและออกจากวิกฤติมาแล้ว  ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประวัติศาสตร์มันมักจะซ้ำรอยเดิมเสมอ