วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เกือบจะอย่างเดียวที่เราควบคุมได้คือขาดทุนเท่าไร

แหม ชื่อเรื่องไม่น่าอ่านเอาเสียเลย แต่เชื่อเถอะครับว่าเป็นเรื่องดี เพราะในการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์นั้น การขาดทุนเท่าไร หรือ ขาดทุนได้เท่าไรนั้นสำคัญเป็นเรื่องแรกเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ใครๆ เมื่อลงทุนแล้วก็คงไม่อยากขาดทุน  แม้ว่าการลงทุนโดยหลักการเน้นมูลค่าของกิจการหรือ VI (Value Investment) นั้นเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้ผลดี มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยที่เราได้คำนวณไว้ แต่อย่างไรก็ตามเราไม่มีทางรู้อนาคตได้ มูลค่าของบริษัทที่เราคำนวณเอาไว้ก็ได้มาจากการอนุมานต่างๆ อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นรายได้ รายจ่าย การเติบโตของบริษัท และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้ (จะพลาดมากหรือน้อยนี่ล่ะครับคือฝีมือในการลงทุนด้วย  คนที่คาดการณ์ได้แม่นยำกว่าจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า) 

ราคาหุ้นที่ขึ้นลง

ในตลาดหลักทรัพย์ เราต้องถือว่าตัวเองไม่มีความสามารถควบคุมราคาหุ้นได้ ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำได้คือ ซื้อ หรือ ขาย หุ้นอะไร จำนวนเท่าไร ในราคาตลาด ณ เวลานั้นๆ เท่านั้นเอง เนื่องจากเวลาที่เราซื้อหุ้น ส่วนมากแล้วถ้าไม่ขาดทุนก็จะได้กำไรนั่น เพราะราคาหุ้นมักไม่อยู่นิ่งๆ เฉยๆ เรียกว่าถ้าเราเลือกหุ้นและราคาที่เข้าซื้อว่าถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง (มากพอสมควรคือมี Margin Of Safety หรือส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยพอควร) และไม่ปล่อยให้ตัวเองขาดทุนมากในการซื้อแต่ละครั้ง เมื่อเราลงทุนซ้ำไปหลายครั้งเรามักจะได้กำไรในที่สุด  

ที่จริงแล้วเราเลือกอะไรได้

นอกจากหุ้นอะไร จำนวนเท่าไรที่เราจะซื้อหรือขายในราคาตลาดแล้ว เราลองคิดเล่นๆ ว่าเราควบคุมอะไรได้บ้าง เราจะควบคุมราคาขายให้สูงขึ้นมากๆ แล้วเราได้กำไรมากๆ ได้ไหม คำตอบของคำถามนี้คงเป็น "ไม่ได้" แต่ในทางกลับกันถ้าเราซื้อหุ้นแล้วหุ้นกลับลดราคาลงมาเรื่อยๆ เราจะควบคุมการขาดทุนของเราได้ไหมว่าไม่เกินร้อยละเท่าไร คำตอบตรงนี้คือ "ได้" จริงๆ แล้วแทบจะเป็นอย่างเดียวเลยที่เราควบคุมได้นั่นแหละ แต่การขายตัดขาดทุนไปก่อนในกรณีของการลงทุนแนวเน้นมูลค่านี้ไม่ได้หมายความว่าขายแล้วเราหนีจากหุ้นที่อุตส่าห์วิเคราะห์มาแล้วนั้นไปเลย แต่เป็นการขายเพื่อเก็บเงินไว้ซื้อเพิ่มเมื่อราคาลดต่ำลงไปกว่าราคาที่เราขายตัดขาดทุนไป ซึ่งเราจะได้หุ้นจำนวนมากขึ้นเมื่อใช้เงินเท่าเดิมนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อพูดถึงสิ่งที่ควบคุมได้แทบจะเพียงอย่างเดียวคือ การจะยอมขาดทุนเท่าไร เราก็ต้องเลือกซื้อของที่เรามีโอกาสที่จะควบคุมได้ด้วย หุ้นหลายตัวมีลักษณะราคาที่โดดไปมา มีการทำราคาขึ้นลงมากๆ ในแต่ละวันหรือหลายวันติดต่อกัน หรือมีลักษณะราคาไม่ต่อเนื่องคือ เปิดปิดกระโดดขึ้นลงไปมา (ขึ้นน่ะไม่เท่าไร แต่ถ้าโดดลงมากๆ ทีเดียวเราจะขายตัดขาดทุนแล้วเสียหายมาก) หุ้นของบริษัทแบบดังกล่าว ถ้าไม่จำเป็นก็เลี่ยงๆ ไว้จะดีกว่า 

สรุป

ราคาหุ้นมักไม่อยู่นิ่ง ถ้าเราเลือกหุ้นได้ดีและไม่ยอมขาดทุนเป็นจำนวนมากแล้ว ในที่สุดเรามักได้กำไร ในการลงทุนนอกจากเรามีสิทธิเลือกว่าจะ ซื้อ ขาย หุ้นอะไร จำนวนเท่าไร  เราควบคุมราคาหุ้นในตลาดและกำไรของเราไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกันสิ่งเดียวที่เราดูว่าจะสามารถควบคุมได้ก็คือ เราจะขาดทุนไม่เกินเท่าไร  ในการซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งๆ ควรซื้อแต่น้อยก่อนในช่วงแรก ถ้าขาดทุน (แต่ละคน แต่ละหุ้น ตัวเลขนี้ไม่เท่ากัน แต่ปกติคิอ 2-5%) ให้หยุดซื้อและขายตัดขาดทุนออกไปก่อน แล้วตามไปซื้อที่ราคาต่ำลงนั่นเอง

ทดลองทำ

ลองเลือกหุ้นสักหนึ่งบริษัท แล้วประเมินว่าราคาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบันแล้วยังมีโอกาสจะได้กำไร (upside gain) เท่าไร จากนั้นลองวางแผนว่าจากเงิน 100 ส่วนจะซื้อกี่ส่วนก่อน และถ้าหุ้นปรับตัวลงมาเป็นขาดทุนเท่าไรจะขายออกไปก่อนแล้วตามลงไปซื้ออีกครั้งเมื่อหุ้นหยุดการปรับราคาลงอย่างไร