วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หุ้นมีประกัน - ในวิกฤติมีโอกาส


ในช่วงที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กำลังผันผวน เนื่องจากราคาของหุ้นที่มีขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การคาดการด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่นสภาวะอากาศ ที่มีผลต่อการใช้พลังงาน พาลมีผลต่อต้นทุนและราคาขายของวัสดุพลังงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้มีผลต่อการคาดการณ์ผลการดำเนินงานของธุรกิจบางประเภท ไม่มากก็น้อย (ทั้งๆ ที่จะเป็นจริงหรือไม่ เพียงใด ก็ไม่มีใครคาดเดาได้มากนัก) เป็นความจริงอยู่บ้างที่ว่า ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมา ก็จะมีหุ้นของบริษัทที่ดี มีธุรกิจที่แข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมากนักพาลพลอยได้รับผลกระทบปรับตัวลดลงไปกับเขาด้วย ในหลายๆ ครั้ง นี่คือโอกาสแห่งการซื้อด้วยซ้ำไป
ยามที่หุ้นปรับตัวลดลง นักลงทุนสามารถที่จะคัดสรรหุ้นของบางบริษัท ที่มีลักษณะดี หน่วยก้านใช้ได้ซึ่งมักจะมีลัษณะดังต่อไปนี้

1. เป็นธุรกิจที่มีพื้นฐานดี เป็นที่ต้องการนิยมของลูกค้าในระยะยาว มีชื่อยี่ห้อได้รับความเชื่อถือ มีความแตกต่างเป็นพิเศษจากคู่แข่งที่สามารถเลียนแบบได้ยาก มีความสามารถในการแข่งขันสูง และ/หรือมี entry barrier (คือมีอุปสรรคขวางกั้นบุคคลอื่นในการเข้าทำธุรกิจนั้นๆ) สูง
2. มีผู้บริหาร และเจ้าของ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีธรรมาภิบาลสูง ตั้งใจทำธุรกิจให้เจริญก้าวหน้า สร้างผลตอบแทนให้กับตัวเองและพวกพ้องซึ่งคือผู้ถือหุ้นของบริษัท
3. มีงบการเงินที่แข็งแกร่ง คือมีหนี้น้อย เงินสดหมุนเวียนเพียงพอ มีเครดิตต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ดี หนี้สินระยะยาวต่ำ (หรือถ้ามีหนี้สินระยะยาวจำนวนมาก จะต้องเป็นหนี้สินที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างแท้จริงอย่างยั่งยืน, เป็นการลงทุนเพียงแทบจะครั้งเดียว และไม่ใช่ว่าจะต้องกู้เพิ่มลงทุนเพิ่มอยู่ตลอดเวลาเพื่อเพียงให้ "อยู่รอด" ต่อสภาวะการแข่งขันที่สูงมากๆ ในอุตสาหกรรมนั้นได้) ดอกเบี้ยจ่ายต่ำ (เป็นผลสะท้อนของหนี้สินระยะยาวน้อย) มีกำไรขั้นต้นที่สูง สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี หรือหากจ่ายเงินออกไปมาก จะต้องได้รับผลตอบแทนออกมาอย่างคุ้มค่า
4. บริษัทสามารถบริหารทุนและหนี้ ได้ดี คือมี ROA (Return On Asset - ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์) และ ROE (Return On Equity - ผลตอบแทนต่อส่วนทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้น) สูง, มี payout ratio ของดอกเบี้ยจ่ายหลายเท่า (คือมีกำไรก่อนหักภาษีและดอกเบี้ยจ่าย แต่หัก depreciation ออกไปแล้ว), สามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวและเงินต้นได้อย่างสบายๆ จำนวนหลายๆ เท่า และลักษณะของมูลหนี้ก็ควรจะลดลงๆ ทุกๆ ปี
5. บริษัทมีความสามารถในการจ่ายปันผลได้ดี คือมีเงินสดหมุนเวียนเหลือมากพอในระบบที่จะจ่ายออกมาเป็นปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้ ส่วนจะจ่ายมากน้อย นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ข้อยกเว้นในกรณี้นี้คือ หากไม่จ่ายเงินปันผล หรือจ่ายเป็นจำนวนน้อยมาก จะต้องมีหลักฐานให้เห็นชัดเจนว่า เงินที่เหลืออยู่นั้นเป็นกำไรที่แท้จริง แต่เลือกที่จะไม่จ่ายเป็นปันผลออกมาเป็นจำนวนมาก และสามารถนำเงินไปทำให้เกิดผล
ตอบแทนสูงกว่าการจ่ายออกมาเป็นปันผล "มาก"
6. การเติบโต บริษัทที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน จะต้องมีการเติบโต หากเราพิจารณากันจริงๆ จะเห็นว่า เงินเฟ้อทุกปีนั้นเป็นเรื่องปกติ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นค่าวัสดุ เงินเดือน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอด หากบริษัทไม่สามารถเติบโตได้ จะเกิดปัญหาภายในขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคน ที่ไม่สามารถรักษาบุคคลากรที่มีประสบการณ์ มีคุณค่าไว้กับบริษัทได้ ดังนั้นนอกจากการเจริญเติบโตจะเป็นเรื่องที่
สำคัญกับผู้ถือหุ้น (ที่จะสะท้อนออกมาในราคาหุ้น) แล้ว ยังสำคัญกับตัวบริษัทเองมากกว่าด้วยซ้ำไป
7. ราคาหุ้นไม่สูงเกินไป ข้อนี้เป็นเรื่องของราคาหุ้นที่เข้าซื้อ จะสะท้อนออกมาในการคำนวณเป็น P/E (อัตราส่วนของราคาหุ้นกับกำไรต่อหุ้นต่อปี), P/BV (อัตราส่วนระหว่างราคาหุ้นกับส่วนของผู้ถือหุ้นต่อหนึ่งหุ้น) ก็ตามแต่ จะต้องไม่สูงจนเกินไป จริงอยู่อาจจะมีบริษัทที่ดี ROE สูง 20-25% แต่ P/E สูงมากเช่น 25-30 เท่า (และผลที่ตามมาคือหุ้นเหล่านี้จะจ่ายปันผลเป็นอัตราร้อยละที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับ
ราคาหุ้นในขณะนั้น) ซึ่งผมถือว่าเป็นการซื้อความคาดหวัง หุ้นเช่นนี้จะบอบบางต่อข่าวสารต่างๆ มาก เมื่อเหตุการณ์ไม่เอื้ออำนวย ราคาของหุ้นในลัษณะนี้จะปรับตัวลดลงได้มาก
ทั้ง 7 ข้อข้างต้นนี้ เป็นข้อพิจารณาให้นนักลงทุนได้วิเคราะห์บริษัท และราคาหุ้นของบริษัทนั้น (ขอเน้นว่าเป็นของสองส่วนแยกกัน) ว่าสมควรเข้าลงทุนหรือไม่ อย่างไร ในวิกฤตที่ตลาดหุ้นมักไม่มีเหตุผลในระยะสั้น อาจจะเป็นโอกาสของคนที่พร้อมก็ได้นะครับ
เงินปันผล เปรียบเสมือนตัวประกันของหุ้น การซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการแน่นอน รวมทั้งมีปันผลที่แน่นอน ในราคาต้นทุนที่ทำให้ได้รับปันผลในอัตราที่สูง ทำให้ถือหุ้นได้อย่างสบายใจครับ