วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หุ้นไทยกับการเมือง ช่วงก่อนเลือกตั้ง

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. 2554 นี้ ถ้าหันมาดูดัชนีหุ้นบ้านเราก็จะเห็นว่าปรับลดลงมาค่อนข้างมีนัยสำคัญคือ ราวๆ 3-4% ถือว่าไม่น้อยเช่นกัน บางกระแสข่าวก็ว่ากันในเรื่องของความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ บางกระแสข่าวก็เป็นเรื่องของวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในยุโรป หรือบางทฤษฎีก็บอกว่าไม่มีอะไรหรอก เป็นเพียงเพราะนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกทำกำไรเพื่อไปช่วยที่บ้านตัวเอง (หรือเก็งกำไรบ้านตัวเอง ก็ไม่ทราบได้) ก็ว่ากันไปล่ะครับ แต่เรามาดูเรื่องใกล้ตัวเราที่สุดกันก่อนดีกว่าคือ เรื่องของการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในประเทศของเรา ที่ว่ากันว่า จะต้องมีฝ่ายแพ้  และฝ่ายที่ชนะ ส่วนคนที่คิดมากก็กลัวกันว่าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะอย่างเด็ดขาด ก็จะมีเรื่องอันไม่สงบสุขเกิดขึ้น ก็เป็นการคาดเดาที่มีสิทธิจะคาดเดากันไปได้นะครับ

การเลือกตั้งหรือการแข่งขันใดๆ ก็ต้องตามมาด้วยการแพ้ชนะ เป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อมีฝ่ายหนึ่งชนะ ก็ย่อมมีอีกฝ่ายหนึ่งที่แพ้ คือแพ้ในการที่เป็นตัวแทนของคนในประเทศในการบริหารบ้านเมือง

แต่... แต่ต้องพิจารณาให้ดีนะครับว่า คำว่าแพ้ และคำว่าชนะนี้ หมายถึงอะไร

ในนัยหนึ่งนั้น คำว่าชนะนั้น คงจะชัดเจนว่า เป็นผู้ หรือ พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนันสนุนส่วนมากของคนทั้งประเทศ คนหรือพรรคการเมืองนั้นก็ควรจะได้เป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อมาบริหารบ้านเมือง

ส่วนผู้ที่เรียกว่าแพ้อย่างแท้จริงในการเลือกตั้ง คือผู้หรือพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเสียงสนันสนุนจากประชนชนเลย หรือได้รับน้อยมากจนกระทั่งไม่สามารถดำเนินงานตามนโยบายพรรคในการบริหารประเทศได้หรือไม่สามารถทำหน้าที่การงานใดๆ ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นได้

ดังนั้นหากพิจารณาดีๆแล้ว การที่พรรคการเมืองกลุ่มหนึ่งได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเป็นจำนวนมากจากประชาชน พอจะจัดตั้งรัฐบาลได้ นั่นคือผู้ชนะและพรรคการเมืองอีกกลุ่พรรคการเมืองหนึ่ง ก็ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนในประเทศเป็นอันดับรองๆ ลงมา พอที่จะรวมตัวกันได้เป็นกลุ่มพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภา นั่นก็คือเป็น "ชัยชนะในอีกรูปแบบหนึ่ง" ด้วยเช่นกัน

ดังเราจะสังเกตเห็นได้ว่า เมือมีงานพิธีอันสำคัญใดๆ ที่ผู้นำประเทศจะต้องไปร่วมในพิธีนั้น ทั้งผู้นำพรรครัฐบาล และผู้นำพรรคฝ่ายค้าน จะได้รับเชิญไปร่วมงานนั้นทั้งสองฝ่ายเสมอ งานเล็กๆ ยิบย่อยอาจจะเป็นเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่งานใหญ่ระดับประเทศ ที่ยิ่งใหญ่จริงๆ แล้วนั้น ผู้นำทั้งสองฝ่ายจะได้รับเชิญร่วมกันเสมอ นั่นแสดงให้เห็นถึงว่า ทั้งพรรคการเมืองที่ทำงาน (ผมไม่อยากจะเรียกว่า​ "ฝ่าย")เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ และพรรคการเมืองที่ทำงานด้านฝ่ายค้านหรือทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ล้วนเป็นกลไกที่สำคัญในการบริหารประเทศทั้งคู่

แล้วทำไมนักหนา ที่ผ่านๆ มาจึงมีแต่การแก่งแย่งชิงดีเด่นกันหนักหนา เพียงให้ได้เป็นพรรครัฐบาล บางคน บางกลุ่ม ถึงกับทำตัวเป็นนกสองหัว กลิ้งกลับกรอกไปมาย้ายค่ายละทิ้งอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อคนโดยส่วนรวม?

ซึ่งหากคิดในแง่ร้ายสุดๆ แล้ว การที่อยากได้เป็นร้ฐบาลหน้กหนา หรือจะเป็นเพราะว่าเมื่อได้มีอำนาจแล้ว จะสามารถหาผลประโยชน์จากอำนาจนั้นได้มากกว่าครั้นที่จะได้เป็นหรือได้ทำงานด้านฝ่ายค้าน เพราะหากแต่ละคนคิดเพียงการที่จะได้มีโอกาสได้ทำงานให้กับประเทศชาติแล้ว ไม่ว่าจะได้เป็นพรรครัฐบาล หรือการได้ทำงานเป็นพรรคฝ่ายค้าน (ที่ต้องตรวจสอบ และทำหน้าที่เสนอแนะความผิดพลาดไม่เหมาะสมในการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล) ก็ล้วนถือว่าเป็นการทำงานช่วยกันบริหารประเทศชาติบ้านเมืองด้วยเช่นกัน

ในกาลที่ผ่านมา เมื่อพรรคการเมืองหนึ่งแข็งแกร่งพอที่จะได้รับความไว้ใจในการบริหารประเทศ จนพรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งใช้เป็นข้ออ้างว่าไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้นั้น เป็นเพียงเรื่องคำกล่าวอ้างทั้งสิ้น ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานดีหรือไม่ดี มีอะไรที่จับต้องได้ มีการวางแผนวางนโยบาย และติดตามผลการทำงานของคำสั่งต่างๆที่ได้สั่งให้หน่วยงานต่างๆ ทำ ของพรรคการเมืองใด ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คนที่ทำงาน และประชาชนย่อมจะเห็นเองได้อย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะเป็นส่วนที่ทำให้ประชาชนใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาเลือกผู้แทนของพวกเขาในการทำงานให้กับประเทศต่อไป

การไม่ยอมรับในผลการเลือกตั้ง ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่างหาก ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวล เนื่องจากอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่สงบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดความไม่สงบขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็ย่อมชะงักลงไป การไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจตามรูปแบบก็ย่อมเกิดความเสียหาย อีกส่วนหนึ่งของความกังวลอาจจะเป็นเรื่องของการต่อเนื่องของนโยบายของต่างรัฐบาล อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ก็ย่อมจะต้องรักษานโยบายส่วนที่ดีเอาไว้ ส่วนนโยบายที่เห็นว่าไม่ได้ผลดี ไม่คุ้มค่าต่อทรัพยากรของประเทศและเวลาที่จะต้องเสียไปผู้บริหารใหม่ก็คงจะต้องปรับปรุงแก้ไขกันไปตามควร เพื่อความมีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม

ในโลกของการค้าทุกวันนี้ การที่จะต้องต่อสู้กับทุนต่างชาติ การเอาตัวรอดจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็แย่มากแล้ว หากจะต้องต่อสู้กับศึกภายใน
อีกต่อหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยไม่น้อย อย่างไรก็ต้องขอพรให้กับประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าต่อไปด้วยครับ