สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ ที่อาจจะประสบการณ์น้อยในตลาด เรามักจะติดกับความรู้สึกเดิมๆ ที่มีมาตลอดชีวิตก็คือ เวลาที่เราจะซื้ออะไรสักอย่าง เราก็มักจะต้องต่อรองราคาสักหน่อย เรียกได้ว่าต่อนิดต่อหน่อยก็ยังดี ได้ลดบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้ลดราคา จริงไหมครับ เรื่องแบบนี้ในโลกของการลงทุน บางครั้งเป็นโทษโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เพราะนั่นเป็นการทำไปตาม "สัญชาติญาณเดิม" ที่เรามีติดกับตัวมานับสิบๆ ปีของชีวิตที่ผ่านมาแล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ ในทุกวันนี้เพื่อนๆ จะเห็นว่าหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามก็ยังมีหุ้นที่เรียกว่า "ยืดยาด ช้ากว่าเพื่อน" ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นผู้นำตลาด หุ้นเหล่านี้ไม่ใช่ว่าผลประกอบการไม่ดี หรือจ่ายปันผลน้อยอะไรเลยนะครับ เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นที่นิยม จึงมักจะขึ้นทีหลังจากกลุ่มที่นำตลาด อย่างไรก็ตาม "มาช้าดีกว่าไม่มา" หุ้นพวกนี้หลายตัวกำลังปรับราคาขึ้นไปเรื่อยๆ
ด้วยนิสัยใจคอของนักลงทุนที่ติดมากับการซื้อหาของต่างๆ เมื่อเราต้องการซื้ออะไร เราก็จะต้องต่อรองราคา ทีนี้เมื่อเรา bid เอาไว้แล้วไม่มีใครขายออกมา หรืออาจจะขายบ้างแต่ไม่ถึงคิวเรา แต่หุ้นก็ปรับตัวสูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ รายย่อยหลายคนก็ได้แต่รอ รอแล้วรอเล่าหุ้นก็ยังปรับราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้ง bid (เสนอซื้อ) รับอยู่หลายวันจนหมดความพยายาม เลิกดูหุ้นนั้นไปสักหนึ่งหรือสองสัปดาห์ เห็นราคานิ่งและเริ่มขยับลง ก็เข้าไป bid ต่อรองราคาอีกรอบหนึ่ง (นั่นคือจุดที่หุ้นได้ปรับราคาขึ้นไป ณ ราคาสูงสุดแล้ว และย่อตัวลงมาเล็กน้อย) คราวนี้ก็ได้รับหุ้นมาครอบครองสมใจ
แต่ชะรอย ราคาที่รับเข้ามานั้น อาจจะเป็นราคา "เฉียดยอดดอย" ก็ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นราคาที่ไม่มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (MOS - Margin Of Safety) หรือมีน้อย หรือราคาเกินพื้นฐานไปมาก แบบนั้นต้องเรียกว่า "โชคร้าย" แทนที่จะเป็นโชคดีที่ได้หุ้นมาครองล่ะครับ
นั่นคือ หากเราคิดในใจ คำนวณว่าราคาที่เราเห็นมีผู้เสนอขาย (Offer) อยู่นั้น เป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานอยู่มากแล้ว การพิจารณาซื้อเลย ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรอจนหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงมากๆ แล้วไปเริ่มซื้อที่ราคาสูงนั้น แต่ที่สำคัญก็คือ ความสามารถในการประเมินมูลค่าของหุ้นที่เหมาะสมนี่ล่ะครับ ว่านักลงทุนสามารถทำได้หรือไม่ และนั่นก็คือสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับนักลงทุนที่เน้นแนวพื้นฐานครับ