การปรับฐาน ภาษาต่างด้าวเรียกว่า Correction ครับ เวลาไปได้ยินคำนี้เกี่ยวกับการลงทุน จะได้นึกออกนะครับว่าคืออะไร แต่สิ่งที่นักลงทุนหน้าใหม่ๆ อาจจะสงสัยก็คือ มันคืออะไรและมักจะเกิดจากอะไร มาลองดูกันนะครับ
เมื่อหุ้นมีการปรับราคาขึ้นมามากแล้ว ผู้ที่ซื้อไว้ที่ราคาต่ำกว่านั้นค่อนข้างมากอาจจะเกิดความกลัว หรือต้องการทำกำไรบ้าง ก็ทะยอยขายหุ้นออกมา ซึ่งการขายแบบนี้ค่อนข้างที่จะ "ขายได้ทุกราคา (ก็ยังมีกำไร)" ทำให้หุ้นออกจะปรับราคาลดลงมา พร้อมกับทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงมาด้วย
แล้วใครเป็นผู้ซื้อหุ้นล่ะ ผู้ซื้อหุ้นก็คือคนที่ "คอยเฝ้า" หุ้นที่เคยเห็นราคาสูงๆอยากซื้อก็ไม่มีโอกาสได้ซื้อสักที แต่คนเหล่านี้ก็คอยระวังตัวอยู่ คือไม่ค่อยซื้อมากนัก ถ้าหุ้นปรับตัวลง ก็ค่อยๆ เข้าไปทะยอยซื้อ ถ้าหุ้นปรับตัวลงแรงมากไปกว่านั้น ส่วนมากก็คือ หยุดซื้อ มักจะไม่ค่อยตามลงไปเสนอซื้อเท่าไรนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ หุ้นก็ไม่สามารถปรับตัวลงไปอีกได้มาก (พร้อมกับโวลลุ่มการซื้อ/ขาย ที่ลดลง) เมื่อการซืื้อขายชะงัก ราคาไม่ขยับลงไปมากอีก เราก็เรียกได้ว่าการปรับฐานนั้นเสร็จสิ้นลง แต่ต้องประกอบกับเหตุการณ์ด้านล่างด้วยคือ
เมื่อนักลงทุนส่วนที่ได้กำไร ขายหุ้นออกไปแล้ว ก็จะมีเงินในมือจำนวนมากและหากเขาเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจยังดี หรือผลประกอบการต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ น่าจะออกมาดี ก็จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นด้วยเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นเดิมที่ได้กำไรออกไป คราวนี้หุ้นก็จะกลับขึ้นมาอีกได้ ซี่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นนักลงทุนกลุ่มที่ยอมซื้อหุ้นที่ราคาสูงขึ้นๆ (จะเป็น รายใหญ่, กองทุน, ต่างชาติ, พร๊อพเทรด, หรือรายย่อย ก็ลองนึกๆ ดูนะครับ) ทั้งหมดก็เรียกว่า "การปรับฐาน" ครับ
หมายเหตุ
ในทางตรงกันข้าม ถ้านักลงทุนที่ได้กำไรมามากๆ และเป็นผู้ที่กำหุ้นไว้ในมือจำนวนมาก ขายหุ้นออกมา ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการลงทุน (หรือการเก็งกำไรที่อื่น/อย่างอื่น) ที่ดีกว่า ก็อาจจะขายแบบไม่ซื้อคืนเลย เรียกว่าไปแล้วไปก่อน (ไม่ถึงกับไปลับหรอก แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะกลับมา) หุ้นก็จะหมดรอบของมัน