วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทิศทางกับความนิยม (ตอนที่ 1)



โลกเรานี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในวันเวลาที่ผ่านไปนั้นมีทั้งสินค้า บริการ และธุรกิจเก่าๆ ที่ล้มหายตายจากไปและไม่เคยกลับมาอีก และมีทั้งธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนเกิดขึ้นมา ธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมานี้ก็มีทั้งอยู่ได้เพียงชั่วครู่เดียวและอยู่ได้ค่อนข้างยั่งยืน จะยั่งยืนมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นกับว่ามันเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเป็น trend (แนวโน้ม), fad (กระแสนิยม), หรือ cyle (วัฏจักร) นั่นเอง

เมื่อพูดถึงเรื่องของการลงทุน ย่อมจะต้องเกี่ยวพันกับธุรกิจ ความสามารถในการวิเคราะห์ธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งหนึ่ง (แต่ไม่ใช่สิ่งเดียว) ที่นักลงทุนควรมีความสามารถแยกให้ออกก่อนที่จะลงทุนในธุรกิจอะไรก็ตามก็คือ สินค้าและบริการของธุรกิจนั้นเป็นแบบ trend (แนวโน้ม), fad (กระแสนิยม), หรือ cyle (วัฏจักร) เนื่องจากจะทำให้เราสามารถคาดการณ์ทิศทางของผลกำไรในระยะต่างๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นกับธุรกิจนั้นได้ง่ายขึ้น คราวนี้มาดูกันว่า ลักษณะของธุรกิจ 3 ประเภทนั้นมีความหมายอย่างไรกัน

1. Trend (แนวโน้ม)

เป็นธุรกิจที่มีลักษณะที่สนับสนุนความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของวิทยาการ สังคม และความเป็นอยู่ของมนุษย์ ธุรกิจแบบนี้ก็เช่นธุรกิจอินเทอร์เน็ท ที่เริ่มขึ้นเมื่อราวเกือบ 20 ปีที่แล้ว จนบัดนี้ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีแนวโน้มที่จะมีการใช้งานมากขึ้นๆ ยังไม่จางหายไปไหน แม้แต่เด็กๆ ก็ได้รับการบรรจุการเรียนวิธีการใช้งานอินเทอร์เน็ทไว้ในหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว

2. Fad (กระแสนิยม)

เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่หากไม่สังเกตให้ดี จะคิดว่าเป็นแนวโน้มและสร้างความสับสนระหว่างกันได้ ธุรกิจแบบนี้จะมีสินค้าและบริการที่ออกจะฉาบฉวยกว่า เรียกว่ามาเร็วไปเร็ว (จะเคลมเร็วด้วยไหมนั้นไม่ทราบได้เหมือนกันนะครับ) ตัวอย่างเช่น ขนมหวานยี่ห้อหนึ่งที่เมื่อก่อนออกจะต้องต่อคิวกันซื้อ, ของเล่นทามาก็อตจิที่นิยมแล้วหายไป, เกมแบบพกพา เป็นต้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็แทบไม่ได้เห็นกันแล้ว ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากการถูกแทนที่ด้วยของที่ดีกว่าก็เป็นได้

3. Cyle (วัฏจักร)

เป็นอีกประเภทหนึ่งของธุรกิจ สินค้า และบริการ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ธุรกิจแบบนี้จะมีลูกค้าอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน แต่ยอดขายและกำไรของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบนี้จะขึ้นลงเป็นวงรอบ ส่วนมากจะมีความเกี่ยวพันกับเศรษฐศาสตร์ของ อุปสงค์ (demand), อุปทาน (supply) และการแข่งขัน เมื่อมีความต้องการมาก จนขายได้ดี กำไรมาก ก็จะมีคู่แข่งวิ่งเข้ามา เมื่อคู่แข่งวิ่งเข้ามาจำนวนมาก ก็มีการตัดราคากัน หลายๆ เจ้าก็ได้กำไรน้อยลงๆ จนกระทั่งหลายเจ้าขาดทุนล้มหายตายจากไป เมื่อจำนวนอุปทานน้อยลงในขณะที่อุปสงค์ยังเท่าเดิมหรือแม้แต่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น กำไรของบริษัทที่ยังอยู่รอดได้ก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีคู่แข่งใหม่เข้ามาอีก วนรอบดังนี้เรื่อยไป

เราจะลองดูว่า เราสามารถใช้ความรู้และความสังเกตตรงนี้ เข้ามาใช้ในการลงทุนได้อย่างไรกันในคราวหน้าในเรื่อง ทิศทางกับความนิยม (ตอนที่ 2) กันครับ