วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทิศทางกับความนิยม (ตอนจบ 2)



จากที่ได้คุยกับไว้เมื่อคราวก่อนในเรื่อง ทิศทางกับความนิยม (ตอนที่ 1) เราได้ทราบถึงลักษณะใหญ่ๆ ของธุรกิจกันไปแล้วว่ามี 3 ประเภท นี้ไม่นับธุรกิจบางอย่างอีกที่เป็นแบบ "ไปเรื่อยๆ" คือไม่เจ๊ง ไม่โตมาก ค่อยๆ โตไปแบบช้าๆ (ส่วนจะยั่งยืนไหม บอกค่อนข้างยาก เพราะเมื่อโตไม่มาก กำไรไม่สูงนัก ทำให้การพัฒนาก็ทำได้ยาก ทุนรอนในการพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ก็น้อยลงไป) ซึ่งเราก็สามารถพิจารณาว่าเป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งได้เช่นกัน

ย้อนกลับมายังธุรกิจ 3 ประเภทหลักในคราวที่แล้วคือ trend (แนวโน้ม), fad (กระแสนิยม), และ cycle (วัฏจักร) ซึ่งในฐานะนักลงทุนแล้ว เราสามารถใช้ความรู้ที่เราสามารถแยกออกได้ว่า ธุรกิจหนึ่งๆ ที่เราสนใจนั้นเป็นประเภทไหน ให้เกิดประโยชน์ในการลงทุนได้ โดยทั่วไปก็แบ่งออกได้เป็น 3 กลยุทธ์ด้วยเหมือนกัน

1. trend (แนวโน้ม) ธุรกิจประเภทนี้ มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปเรื่อยๆ เมื่อวันเวลาผ่านไป กำไรก็เพิ่มมากขึ้นๆ (ถ้าจะให้ดีก็ต้องมากขึ้นชนะเงินเฟ้อไปหลายๆ เท่า) ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่ดี สามารถทำกำไรได้มาก ผู้บริหารมีแนวคิดในการสร้างนวัตกรรม สร้างความแตกต่าง ก็ยิ่งเป็นบริษัทที่น่าสนใจลงทุน กลยุทธ์ในการลงนี้กับบริษัทแบบนี้ก็คือ ซื้อและถือเป็นเจ้าของไปเรื่อยๆ

2. fad (กระแสนิยม) ธุรกิจหลายอย่างเป็นแบบกระแสนิยม คือสามารถทำกำไรได้มากมายแต่เป็นเพียงชั่วเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นความสามารถในการทำกำไรก็จะลดลง จนหลายบริษัทอาจจะตกอยู่ในสภาวะขาดทุน ยิ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ในสภาพ Star (ตาม BCG matrix) ยิ่งดึงดูดให้ผู้เล่นคนใหม่ๆ เข้ามาร่วมแบ่งตลาดไปด้วย หรือบางบริษัทอาจจะมีสินค้า/บริการ ที่ความนิยม (เห่อ) หายไปเองก็เป็นได้ การลงทุนในธุรกิจแบบนี้ ต้องดูว่ามันถึงจุดสูงสุดหรือยัง หรือราคาของธุรกิจที่คนทั่วไปให้กันไว้ เกินพื้นฐาน (ซึ่งโดยทั่งไปจะเลวร้ายลง) หรือยัง ซึ่งต้องคอยออกจากการลงทุนนั้นๆ ก่อนที่จะถึงเวลาถดถอยลงไป

3. cyle (วัฏจักร) ธุรกิจหลายอย่างเป็นแบบวัฏจักร เวียนว่ายตายเกิด หากจะบอกแบบฟันธงก็คือ ให้เข้าไปซื้อธุรกิจนั้นในเวลาที่เลวร้ายสุดๆ ยอดขายต่ำสุด กำไรต่ำสุด แต่ไม่ควรจะเกิดการขาดทุนมากมายจนเป็นหนี้สิน จนเมื่อถึงคราวที่ "วันดีๆ" มาถึงแล้ว ไม่สามารถฟื้นหรือขยับตัวได้ถนัดเนื่องจากภาระหนี้สินรุงรัง (จะกู้เพิ่มก็ยาก, ซื้อเครดิตก็ลำบาก) หรือจนต้องเพิ่มทุน ก็ต้องลุ้นกันอีกว่าจะเพิ่มได้หรือไม่ ในราคาเท่าไร ดังนั้นการเข้าไปลงทุนกับบริษัทแบบนี้ ก็ต้องดูว่าในเวลาที่เลวร้ายที่สุดนั้น สภาพของบริษัทต้องพร้อมที่จะกลับตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมหลักการพื้นฐานของการลงทุนแบบเน้นมูลค่าว่าเราจะต้องจ่ายเงินในจำนวนที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เราจะซื้อ เพราะเมื่อสักวันหนึ่งที่มีคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราซื้อนั้น (แต่ช้ากว่าเรา) ราคาของสิ่งนั้นๆ ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเองครับ