สำหรับการซื้อ-ขายหุ้นแล้ว เชื่อว่าทุกๆ ท่านคงจะมีเป้าหมายเดียวกันหรือคล้ายกัน ก็คือทำเงินให้มากขึ้น ไม่ว่าเงินนั้นจะมาจากการซื้อขายเอากำไรจากตัวหุ้นหรือผลิตภัณฑ์ที่มีการซื้อขายกันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น หรืออาจจะลงทุนเพื่อต้องการปันผล (ถ้าเป็นกองทุนก็ลงทุนกับกองทุนที่จ่ายปันผล) หรืออาจจะทั้งสองอย่างก็ได้ ซึ่งแบบหลังสุดนี้คงเป็นที่ปรารถนาของนักลงทุนทุกๆ ท่าน
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่เลือกซื้อ-ขายหุ้นด้วยตัวเอง โดยไม่ได้มีผู้จัดการกองทุนช่วยเลือกหุ้นให้เป็นรายตัวแล้ว ก็ยังแบ่งออกเป็นแบบนักเก็งกำไร และผู้ที่ลงทุนในลักษณะเป็นเจ้าของกิจการอีก ในที่นี้เราจะตัดนักเก็งกำไรออกไปก่อน เนื่องจากพื้นฐานวิธีการเลือก และการจัดการซื้อขายหุ้นของนักเก็งกำไรจะใช้คนละพื้นฐานกันกับผู้ที่ลงทุนในลักษณะเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งสำหรับผู้ที่ลงทุนในลักษณะเป็นเจ้าของกิจการแล้ว การลงทุนในหุ้นนั้นโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามีความคล้ายกับการทำกิจการเองมาก เพียงแต่ไม่ต้องลงมือทำด้วยตัวเองจริงๆ เท่านั้นเอง แต่ว่าใช้เงินของเราที่มีในการทำงานให้
ในการเลือกลงทุนกับบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว นักลงทุนก็จะต้องเลือกกิจการที่ตัวเองต้องการลงทุน (สามารถอ่านได้เพิ่มเติมในเรื่อง "การลงทุนโดยพิจารณามูลค่า - การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ") ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นที่น่าสังเกตคือ ธุรกิจต่างๆ ที่มีในระบบเศรษฐกิจใดๆ มักจะถูกแบ่งออกเป็นสามแบบอย่างง่ายๆ คือ ธุรกิจที่แข่งขันกัน, ธุรกิจที่ไม่แข่งขันกัน, และธุรกิจเชิงผูกขาด ซึ่งในครั้งนี้เราจะมาดูเรื่อง "ธุรกิจที่แข่งขันกัน" กันนะครับ
ธุรกิจที่แข่งขันกัน
สำหรับเจ้าของธุรกิจแล้ว การแข่งขันนั้นเป็นทั้งน้ำหวานและยาขมในเวลาเดียวกัน การแข่งขันหลายๆ อย่างทำให้เกิดการพัฒนาในคุณภาพ ทั้งคุณภาพสินค้าและบริการ คุณภาพของคนในบริษัท แต่ในขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันในหลายลักษณะที่ออกมาในรูปของการตัดราคาลงเพื่อการต่อสู้กัน โดยรวมทั้งหมดแล้วมักจะเกิดผลดีต่อผู้บริโภค ในการได้ซื้อหาสินค้าและบริการที่ดีขึ้นในราคาที่เท่าเดิมหรือต่ำลง แต่สำหรับผมแล้ว ผมยังให้คำนิยามของธุรกิจที่แข่งขันกันเพิ่มเติมอีกว่า "เป็นธุรกิจที่ลูกค้าต้องเลือกซื้อจากใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อซื้อจากคนหนึ่งแล้ว ก็จะไม่ซื้อจากคนอื่นอีก" ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจผลิตเตียง หากคนหนึ่งซื้อเตียงจากเจ้าหนึ่งแล้ว ก็คงไม่ซื้อจากเจ้าอื่นอีก เป็นต้น (เพราะคงไม่มีใครนอนสองเตียงในบ้านเดียวกัน พร้อมๆ กัน ยกเว้นนอนหลายเตียงในหลายบ้าน คนละเวลากัน จริงไหมครับ) ซึ่งหากการแข่งขันดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นและดุเดือด จนกลายเป็นน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) ที่เต็มไปด้วยเลือดของผู้ต่อสู้ สุดท้ายแล้วคู่แข่งต่างๆ ในธุรกิจนั้นก็ต้องเจ็บตัวตามๆ กันไป ผู้ที่อยู่รอดได้ในระยะยาวจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นชื่อยี่ห้อ, มีต้นทุนที่ต่ำกว่า, สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่า, มีความแตกต่างที่โดดเด่น หรือแม้กระทั่ง ทุกๆ คู่แข่งพอที่จะอยู่กันได้เนื่องจากอุปสงค์มีปริมาณมหาศาลจริงๆ เรียกว่ามีเท่าไรก็ถูกซื้อหาไปเสียทั้งหมดจริงๆ
ดังนั้น หากนักลงทุนเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูง จะต้องทราบวิธีการเลือกว่าจะต้องมองหาธุรกิจใด ที่สามารถแข่งขันได้ (อาจจะเป็นระยะเวลาหนึ่งที่ต้องการลงทุน) และที่สำคัญก็คือต้องทราบว่าสภาพการแข่งขันของธุรกิจนั้น และคุณภาพของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร สมควรที่เราจะลงทุนด้วยหรือไม่ นะครับ