วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

ธุรกิจที่ไม่แข่งขันกัน

 

จากคราวที่แล้ว ที่เราได้คุยกันเรื่อง ธุรกิจที่แข่งขันกัน ซึ่งสำหรับผมแล้วหมายถึงธุรกิจที่มีสินค้าและ/หรือบริการที่ลูกค้ามักจะต้องเลือกซื้อจากคนใดคนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อซื้อจากเจ้าหนึ่งแล้ว ก็จะไม่ซื้อจากเจ้าอื่น ตัวอย่างของธุรกิจแบบนี้ก็เช่น ร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ขายโต๊ะ ตู้ เตียง ซึ่งหากเราซื้อเตียงแล้ว เราก็คงไม่ซื้อเตียงอีกตามที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วนะครับ จะเห็นได้ว่า ธุรกิจส่วนมากแล้วก็จะมีลักษณะเป็นแบบนี้เกือบทั้งสิ้น

แต่ เชื่อหรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว กลับมีธุรกิจอีกบางอย่างที่ไม่ได้แข่งขันกัน นั่นคือเมื่อซื้อสินค้า/บริการจากธุรกิจหนึ่งแล้ว ผู้บริโภคก็ยังสามารถซื้อจากธุรกิจอื่นๆ ได้อีก หลายท่านคงแปลกใจว่ามีด้วยหรือธุรกิจแบบนี้ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ธุรกิจภาพยนตร์และบันเทิงทั้งหลาย อย่างไรล่ะครับ ซึ่งเราสามารถเห็นได้ว่า เมื่อเราชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งแล้วชอบใจ (เช่นเรื่อง Flight) แล้ว เราก็อาจจะชมภาพยนตร์เรื่องอื่นได้อีก (เช่นเรื่อง Die Hard) และก็ยังเรื่องอื่นๆ อีก (ภายใต้สมมติฐานว่า ผู้บริโภคมีเงินที่จะเข้าชมได้หลายเรื่องนะครับ) หรือธุรกิจประเภทเพลง หรือ การแสดงละครต่างๆ ที่หากคนหนึ่งชอบเพลงของนักร้องค่าย ก. แล้ว เขาก็อาจจะพอใจจะชอบนักร้องค่าย ข. ด้วยก็ได้ และก็อุดหนุนซื้อเทป ซีดี หรือแผ่นคาราโอเกะจากทั้งสองค่ายก็ได้ นั่นคือทุกธุรกิจยังคงขายได้ ขึ้นกับฝีมือของตัวเองว่าอยู่ในระดับที่ลูกค้าพอใจหรือไม่เท่านั้น

ในการลงทุน ลักษณะธรรมชาติของธุรกิจในด้านการแข่งขัน มีน้ำหนักสูงมาก (แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่เพียงจุดเดียวที่ต้องพิจารณา) ในการคัดเลือกบริษัทที่เราจะร่วมมีส่วนเป็นเจ้าของด้วย ธุรกิจที่มีตลาดกว้างขวางและมีลักษณะไม่แข่งขันกันก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าจับตาไว้ หากเราหาธุรกิจอย่างนี้พบในราคาที่ไม่มีใครสนใจ ก็สามารถกลายเป็นโอกาสที่ดีได้เช่นกันครับ