วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บ้านคือวิมานของเรา

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ มีโอากาสได้คุยกับเพื่อนวิศวกรรุ่นน้องเกี่ยวกับบ้าน น้องท่านนี้ได้ซื้อบ้านมาหนึ่งหลัง และเมื่อเวลาผ่านไปราวๆ 5 ปี ราคาก็ขึ้นมาประมาณ 30% เพื่อนๆ รอบตัว (รวมทั้งผมด้วย) ก็แสดงความยินดีไปด้วย เพราะอย่างน้อยก็มีวิมานของตัวเอง ในขณะที่ผมก็ยังคงอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ (บ้านคุณแม่) และราคาของบ้านที่ซื้อมานั้นก็ไม่ได้สูงจนจะสร้างปัญหาเรื่องสภาพคล่องให้กับน้องคนนั้น หากแต่ว่าถ้าจะพูดในเรื่องราวของการลงทุน ดังเช่นที่ผู้แวดล้อมได้ยินดีว่าได้กำไรนั้น เราสามารถมองบ้านหลังหนึ่งเป็นได้หลายอย่าง แต่ถ้าจะจำเพาะเจาะจงไปในด้านของการเงินแล้ว จะเห็นว่าบ้านเป็นทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในตัวเดียวกัน คือเป็นทรัพย์สินของเราที่เกิดจากหนี้สินและเงินดาวน์เล็กน้อย (ยกเว้นว่าเราจะซื้อบ้านนั้นด้วยเงินสด) ต่อเมื่อเราผ่อนชำระเสร็จสรรพแล้วเท่านั้น (บวกดอกเบี้ย) บ้านหลังนั้นจึงจะเป็นทรัพย์สิน ที่เป็น Equity-ส่วนของเจ้าของ ของเราโดยแท้จริง

พูดถึงบ้านแล้ว บางคนมองบ้านเป็นการลงทุน ซึ่งในบางกรณีก็ไม่ผิดถ้าจะมองแบบนั้น เพราะการลงทุนนั้นแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ลงทุนเพื่อ Cash Flow (มีเงินสดไหลเข้ามาเรื่อยๆ ในขณะที่ถือครองการลงทุนนั้นอยู่) และ ลงทุนเพื่อ Capital Gain (ซื้อถูกขายแพง, หรือขายแพงก่อนและซื้อถูกกลับคืนในภายหลัง) อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอย่างก็สามารถถูกคิดคำนวณได้ว่าให้ Return เท่าไร (กรณีนี้ มอง ROE - Return On Equity หรือเงินส่วนของเราเองที่จ่ายออกไป เป็นหลัก) โดยที่ "บ้าน" อาจจะได้ประโยชน์มากสักหน่อยในแง่ที่ว่า สามารถเอาบ้านเข้าธนาคารเพื่อการขอกู้เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากกว่าเงินส่วนของเรา (กรณีนี้คือเงินดาวน์) และผ่อนชำระได้ แต่ก็อย่าลืมว่า เราเป็นหนี้ไปด้วยในตัว

อย่างไรก็ตาม การจะได้ประโยชน์จากเงินกำไรที่เกิด (Realized Profit) จากบ้านก็ต่อเมื่อเราได้ "ขายบ้าน" นั้นไป คำถามต่อไปก็คือ แล้วจะไปอยู่อาศัยที่ไหนล่ะ จะเอาเงินที่ขายบ้านนั้นไปซื้อบ้านอื่นที่เทียบเท่ากัน (ทำเล, ขนาด, คุณภาพ, สภาพคล่อง) และมีเงินเหลือเป็นกำไรที่แท้จริง ได้หรือไม่ เป็นต้น

หากเทียบกับการลงทุนด้านอื่น เช่น ซื้อทองคำ อาจจะดูคล้ายการซื้อบ้าน แต่ก็ต้องอาศัยความรู้รอบตัวอย่างอื่นมากกว่า (ความรู้เกี่ยวกับ แนวโน้ม, ค่าเงิน, เศรษฐกิจโลก, และอื่นๆ อีก) ในขณะที่เราใช้ทองนอนก็ไม่ได้ อยู่อาศัยก็ไม่ได้ แถมต้องระวังอีกว่าทองจะหายหรือโดนขโมยไป หรือหาก "เล่น" โดยซื้อหน่วยลงทุนของทองคำ ก็จะมีความเสี่ยงอื่นปนตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็น Forced Sell (บังคับขาย ในกรณที่ใช้มาร์จิน) หรือความน่าเชื่อถือของผู้ออกหน่วยลงทุนหรือ "ฝากทอง" นั้นอีก แต่ที่สำคัญ การตีความหมายของคำว่า "การลงทุนในทองคำ" ก็เป็นเรื่องยากขึ้นอยู่กับความหมายของแต่ละคน โดยบางคนอาจจะบอกว่า ถ้าไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างมีเหตุผลว่า เงินที่ลงไปนั้นจะให้ผลตอบแทนกลับมาได้ดีกว่าการทำอย่างอื่นที่ (อย่างน้อยก็ดูเหมือนกับว่า) ไร้ความเสี่ยง เช่นการฝากธนาคาร ก็ไม่ถือว่าเป็นการลงทุน (เช่น เราจะทราบได้อย่างไรว่า ราคาทองคำจะขึ้นไปแน่ๆ และจะขึ้นไปเรื่อยๆ ในกรอบเวลาที่เราสามารถลงทุนได้)

หากจะพูดเปรียบเทียบถึงการลงทุนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ หรือการลงทุนในหุ้น ซึ่งหลายกรณีสามารถกะเกณฑ์หรือคาดการณ์ได้อย่างมีเหตุผลว่า บริษัทจะสามารถทำกำไรได้ไปเรื่อยๆ หรือมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บริษัทของเราเอง หรือที่ลงทุนซื้อหุ้นนั้นไว้ "จ่ายปันผล" เป็นจำนวนมากและเป็นประจำ นั่นคือในขณะที่เราถือครองการลงทุนนั้น จะมีเงินไหลเข้ามาอยู่อย่างตลอดเวลา สักวันหนึ่ง เราก็จะได้เงินลงทุนกลับคืนมาทั้งหมด ในขณะที่หุ้นสามัญหรือบริษัทนั้นก็ไม่ได้ลดค่าลงแต่อย่างใด (ในกรณีนี้ จะต้องระวังกองทุนอสังหาริมทรัพย์ชนิด leasing ด้วย ซึ่งปันผลอาจจะดูสูง แต่ราคาที่เหมาะสมของหน่วยลงทุน/หุ้น จะลดลงไปตามปีที่สิทธิการเช่ายังเหลืออยู่)

การลงทุนเป็นเรื่องซับซ้อนที่แต่ละบุคคลจะเลือกทำ แต่เมื่อเลือกวิธีได้แล้ว การลงทุนจริงๆ และการเฝ้าดูการลงทุนนั้นให้เติบโตขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเบื่อเอามากๆ เพราะหลายๆ ครั้งแล้วสิ่งที่นักลงทุนต้องทำก็คือ "อยู่เฉยๆ" นั่นเอง