วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ธุรกิจที่โตยากและโตง่าย



สำหรับการเป็นนักลงทุนแล้ว คงไม่มีใครไม่อยากประสบความสำเร็จ ได้ผลตอบแทนสูงจากการลงทุนจริงไหมครับ และหนึ่งในนั้นก็คือการอยากให้ราคาของหุ้นที่เราได้ซื้อเข้ามาปรับตัวสูงขึ้นไปมากๆ นั่นเอง
ถ้าจะว่ากันโดยพื้นฐานแล้ว การที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปได้สูงมากนั้น ก็ต้องเกิดจากการที่บริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้สูงขึ้นนั่นเอง ถ้ากำไรต่อหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ราคาหุ้นก็ย่อมจะปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย (บนสมมติฐานที่ว่าธุรกิจนั้นไม่มีสิ่งเลวร้ายแอบแฝงอยู่ เช่นมูลหนี้อันมหาศาล, คดีความที่ถึงกับจะทำให้บริษัทต้องล้มหายตายจากไป, หรือพื้นฐานอื่นที่ทำให้บริษัทไม่อาจดำเนินงานต่อไปได้ เป็นต้น)​ ดังนั้นหากท่านเป็นนักลงทุนที่มีเป้าหมายที่จะลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตได้สูง ก็สมควรจะต้องแยกให้ออกได้ว่าธุรกิจนั้นมีศักยภาพเติบโตได้มากน้อยเพียงใดด้วย

ถ้าพูดในแง่ของโอกาสและความสามารถในการเติบโตของธุรกิจแล้ว เราอาจจะแบ่งออกได้เป็นสองแบบหลักๆ คือแบบที่โตได้ยากและโตได้ง่าย (เทียบกับพื้นฐานที่ธุรกิจนั้นเป็นอยู่ในปัจจุบัน)​ ซึ่งมักมีปัจจัยหลักอยู่เช่น

1) ข้อจำกัดทางกฏหมาย
นับเป็นปัจจัยภายนอกที่ธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้ บางครั้งมีการจำกัดโควตาบางอย่างของบางสินค้า ลักษณะเช่นนี้ก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคทางกฏหมายต่อการขยายตัวของธุรกิจ

2) สภาพความเปลี่ยนแปลงของตลาด-วิถีชีวิตของลูกค้า
แนวโน้มหลายอย่างที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป หรือของเทคโนโลยี ลักษณะการใช้ชีวิตของลูกค้าหรือคนส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนไป เป็นเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้การขยายตัวของธุรกิจแตกต่างกันได้ ตัวอย่างง่ายๆ ก็ลองมองย้อนไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ที่โทรศัพท์มือถือเป็นของพิเศษสำหรับบางคนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลายเป็นของสำหรับแทบทุกคน จวบจนปัจจุบันที่พัฒนากลายมาเป็นสมาร์ทโฟน คงไม่ต้องบอกว่าผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ต่างทำกำไรได้มหาศาลกันไปหลายรายทีเดียว

3) ลักษณะของธุรกิจนั้นเอง
ธุรกิจหลายอย่างเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับการผลิต ซึ่งจะต้องสร้างโรงงาน ต้องจัดหาวัตถุดิบ หรือแม้จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ ธุรกิจเหล่านี้จะใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก และต้องใช้เวลาในการวิจัย สร้างโรงงาน และทดสอบต่างๆ อีกยาวนาน กว่าจะสามารถขยายผลประกอบการได้สักครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามก็ยังมีธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะทำการผลิตเอง แต่เลือกช้วิธีการหาคู่ค้าเพื่อให้ทำการผลิตให้ ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาได้หลายอย่าง​ (เพียงแต่ต้องจัดการดูแลความลับและคุณภาพสินค้าให้ดี) ตัวอย่างก็เช่นบริษัทสมาร์ทโฟนชื่อดังของโลก ที่ใช้วิธีจ้างคนอื่นผลิต ไม่ได้ทำเอง)​ หรือบริษัทบางอย่างดำเนินการเรื่องของซอฟท์แวร์ หรือสินค้าด้านดิจิตอล ของแบบนี้สามารถขยายกำลังการผลิตได้แทบไม่มีที่สิ้นสุดในเวลาอันรวดเร็ว ตัวอย่างก็อยู่ไม่ไกลตัวพวกเรา เช่น บริษัทที่สร้างระบบปฏิบัติการต่างๆ สำหรับคอมพิวเตอร์ของพวกเรานั่นเอง

4) ความสามารถของผู้บริหาร
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากแต่พิจารณาตัดสินได้ยากสักหน่อย ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถด้านการเงิน สามารถระดมทุน และมีความสามารถในการขาย จะสามารถนำพาบริษัทให้เจริญรุ่งเรืองได้มากกว่าผู้ที่มีความสามารถต่ำกว่า ผู้บริหารที่ดีจะสามารถแม้แต่หาสินค้าใหม่ ลูกค้าใหม่ ลักษณะการผลิตและให้บริการใหม่ เพื่อให้ธุรกิจขยายตัวได้ดีกว่าอัตราที่เคยเป็น อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนแล้ว เราควรมองไปที่ระบบการบริหารจัดการมากกว่าตัวบุคคล เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้กับใครก็ตาม หากวันหนึ่งที่บริษัทไม่มีคนคนนั้นอีกต่อไป (อาจจะล้มหายตายจาก หรือ ย้ายงาน หรือ วางมือจากธุรกิจ)​ ระบบที่ดีจะยังสามารถดำเนินต่อไปได้

5) ชื่อยี่ห้อ/ตราสินค้า
ข้อนี้อาจจะเรียกว่าเป็นบุญเก่าก็ไม่ผิดนัก เพราะเป็นสิ่งที่เป้นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดที่มีอยู่แล้วของธุรกิจ เราจะสังเกตได้ว่า มีธุรกิจหลายอย่างที่มีชื่อเสียงดีมาก ไม่ว่าจะทำอะไรรุ่นไหนออกมาก็มักจะขายได้ (ทั้งที่บางทีก็ไม่ได้มีคุณภาพดีที่สุด)​ ทำให้โอกาสในการขยายตัว เพิ่มยอดขายมีความเป็นไปได้สูงกว่าธุรกิจที่ไม่เป็นที่รู้จักนัก

หากเพื่อนนักลงทุนสามารถค้นหาธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือค้นพบก่อนคนอื่น ในราคาที่ยังไม่มีใครมองเห็นแล้วล่ะก็ โอกาสที่จะทำกำไรในการลงทุนได้สูงก็ไม่ห่างเกินความเป็นจริงนักครับ