วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เบี้ยหัวแตก



สมัยที่ผมเริ่มลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยความตื่นเต้นที่ได้รู้จักบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจที่เราคิดว่าน่าจะดีแต่บางครั้งเราจะไม่สามารถทำได้เองจำนวนมาก ผมก็พยายามเลือกหุ้นที่เราชอบและดูท่าน่าจะดีซื้อเก็บเข้ามาไว้ในบัญชีของเรา แต่โดยไม่รู้ตัว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเรามีบริษัทที่เราชอบจำนวนเยอะมาก สุดท้ายในขณะที่เริ่มลงทุนด้วยจำนวนเงินที่ลงทุนไม่มากนัก (ช่วงนั่นก็คือเพียงไม่กี่แสนบาท) ประกอบกับจำนวนหุ้นของบริษัทที่เราซื้อมีมาก และมีหลายประเภท ก็เลยกลายเป็นว่ามีหุ้นเล็กหุ้นน้อยของแต่ละบริษัทมากมายเต็มไปหมดในพอร์ต

ในบางทฤษฎีการทำแบบนี้อาจจะมีคนบอกว่าดี เป็นการกระจายความเสี่ยง เวลาเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทใดบริษัทบริษัทหนึ่ง การลงทุนของเราจะไม่เสียหายมาก ความคิดอย่างนี้ในความเป็นจริงแล้วถูกต้องในแง่ของความเสี่ยง แต่ถ้าเรามองในแง่ของผลตอบแทนแล้ว การซื้อหุ้นของหลายบริษัทในลักษณะแบบนี้ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนของเราจะเป็นไปในแนวของดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งเรามีหุ้นจำนวนมากและซื้อในสัดส่วนที่ว่าซื้อหุ้นตัวใหญ่ (เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ หรือขนาดตลาด - market cap. ใหญ่ คือต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อบริษัทนั้นทั้งบริษัท) จำนวนมากหุ้น และซื้อหุ้นตัวเล็กหรือที่มีขนาดตลาดเล็กลงมาในจำนวนที่น้อยลง ผลตอบแทนยิ่งคล้ายดัชนีตลาดหลักทรัพย์มากขึ้นไปอีก คำถามสำคัญก็คือว่าถ้าเราทำอย่างนั้นหรือต้องการผลตอบแทนที่เพียงเป็นไปตามดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ เราซื้อกองทุนซึ่งลงทุนตามดัชนีของตลาดมีคนตอบแทนตามดัชนีของตลาดไม่ดีกว่าหรือ การดูแลน้อยกว่าด้วย

หลังจากที่ได้เห็นถึงความเป็นจริงคอนนี้กับบัญชีการลงทุนของตัวเอง ในช่วงต่อมาของการลงทุน ผมจึงเปลี่ยนแนวทางโดยเลือกซื้อหุ้นจำนวนน้อยบริษัทลง แต่จัดสรรเงินจำนวนมากขึ้นสำหรับหุ้นแต่ละบริษัทเหล่านั้น ด้วยมีความคิดที่ว่าเอาล่ะ ถ้าผมเลือกหุ้นผิดหมายความว่าหุ้นตัวที่ผมเลือกนั้นไม่ได้ขึ้นราคาหรือได้รับผลตอบแทนดีมากๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผมเลือกหุ้นถูกตัว คือบริษัทที่ผมเลือกมีผลประกอบการที่ดีขึ้นไปมากๆ และหุ้นของบริษัทนั้นมีราคาเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไปมาก ผมก็จะต้องได้รับผลตอบแทนที่มากมหาศาลนะ

และหลังจากที่ได้เปลี่ยนความคิดและแผนการลงทุน ผมก็ได้ทำเรื่องนี้จริงๆ โดยเลือกหุ้นให้เหลือจำนวนไม่มากนักและระดมลงทุนด้วยเม็ดเงินที่จำนวนมากขึ้นในหุ้นจำนวนน้อยบริษัทนั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงโดยส่วนตัว การทำเช่นนี้ให้ผลดีกว่าการซื้อหุ้นหลายบริษัทหลายหลายตัวมากโดยซื้อจำนวนเล็กน้อยในแต่ละตัวนั้น บางคนซื้อหุ้นจำนวนมากมาย ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ที่หุ้นบางตัวจะขึ้นเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่มาก แต่ถ้าดูในความเป็นจริงของผลตอบแทนในรูปเงิน (เป็นบาท) จะเห็นว่าไม่มากมายนัก เพราะจำนวนเงินที่ซื้อหุ้นแต่ละบริษัทนั้นไม่มาก หรือพูดให้ง่ายอีกทีก็คือการหว่านลงทุนในหุ้นจำนวนมากมายเช่นนั้นแน่นอนล่ะว่าก็มีหุ้นบางตัวของบางบริษัทที่ขึ้นมากแต่ผลตอบแทนรวมจึงไม่มากเป็นเรื่องธรรมดา

อย่างไรก็ตามเรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องต่างคนต่างความคิดและมีความสุขในการลงทุนที่ต่างกัน ถ้าพวกเราลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากธนาคาร ชนะเงินเฟ้อ รู้สึกมีความสุข และที่สำคัญคือเราได้ทำการออมเงินในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ด้อยค่าตามเวลา ย่อมเป็นการดีกว่าเก็บเงินไว้ใกล้ตัวและใช้ให้หมดไป จริงไหมล่ะครับ