วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

เรื่องของความเสี่ยง



จะว่าไปแล้ว ชีวิตคนเรานั้นล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น เมื่อสองสามวันที่แล้วผมขับรถไปบนถนนในเวลากลางคืน ก็เจออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอยู่ข้างทาง ดูแล้วอาจจะมีผู้บาดเจ็บจนกระทั่งอาจจะเสียชีวิตก็เป็นไปได้ บางครั้งถ้าเราคิดดีๆ อาจจะเห็นได้ว่า เมื่อเราออกจากบ้านในเวลาเช้า ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราจะได้กลับเข้าบ้านหรือไม่ ฟังดูก็น่ากลัวพอควรเลยทีเดียว แต่นั่นก็เป็นเรื่องของความเสี่ยงทางชีวิต (แน่นอน ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์หรือการเสียทรัพย์สินได้ด้วย) แต่ถ้าเป็นความเสี่ยงทางด้านการเงินและการลงทุนล่ะ เราจะจัดการมันได้อย่างไร

เมื่อพูดถึงเรื่องการเงิน สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งก็คือเราสามารถจัดการและควบคุมความเสี่ยงได้ดีกว่าความเสี่ยงด้านอุับัติเหตุก็คือ สิ่งที่เราทำส่วนมากแล้วขึ้นกับตัวของเราเองมากกว่าจะขึ้นกับผู้อื่น เราสามารถที่จะเลือกลงทุนในหุ้น ในกองทุน ในตราสารต่างๆ หรือไม่ก็ได้ ถ้าเลือกก็ยังเลือกได้อีกว่าจะเป็นบริษัทอะไรบ้าง ในอัตราเท่าไรบ้าง และยังสามารถเลือกประกันความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ (เช่น สัญญาล่วงหน้าต่างๆ) หรือไม่ก็ได้อีก เรียกว่าชีวิตด้านการลงทุนมีทางเลือกมากทีเดียว เพียงแต่ว่าจะต้องประกอบไปด้วยสภาพแวดล้อมทางการเงินและความคิดที่ถูกต้อง นั่นคือต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ มีเงินเหลือ และมีความรู้จักพอคือทั้งพอดีและพอเพียงกับตัวเองนั่นเอง

สำหรับนักลงทุนเล็กๆ ที่เริ่มลงทุน ก็มักจะมีพอร์ตขนาดเล็ก คือคิดเป็นเงินแล้วจำนวนไม่มากนัก เรียกว่าเป็นเงินที่หากเสียหายขึ้นก็ไม่เดือดร้อนมากนัก ถึงตรงนี้ ถ้าใครเริ่มลงทุน มีประสบการณ์น้อยกว่า 2-3 ปี และลงเงินไปด้วยจำนวนที่หากเสียหายแล้วจะเกิดปัญหากับชีวิตแล้วล่ะก็ ควรจะพิจารณาตรงนี้ด้วยว่าควรลดพอร์ตลงหรือไม่ ถ้าเห็นว่าสมควรก็อาจจะลดทุกอย่างลงครึ่งหนึ่ง หรืออาจจะตัดขายตัวที่มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) น้อยที่สุดลงมากกว่าหุ้นตัวอื่นก็ได้ ก็เรียกว่าเป็นการลดความเสี่ยงในระดับหนึ่ง ซึ่งแน่นอนล่ะก็ย่อมเป็นการลดโอกาสในการทำกำไรด้วยเช่นกัน และด้วยพอร์ตที่มีขนาดเล็ก นักลงทุนรุ่นใหม่นี้ก็สามารถเลือกซื้อหุ้นและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ ด้วยสมมติฐานที่ว่าหากเสียเงินส่วนนั้นไปก็ยังไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก ทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีมากๆ ได้ (เมื่อคิดเป็นอัตราร้อยละ)

กับนักลงทุนที่มีพอร์ตใหญ่ขึ้น อาจจะหลายสิบล้านบาทขึ้นไป หรือนักลงทุนที่มีรายได้หลักจากปันผล จากส่วนต่างของราคาหุ้น ก็อาจจะต้องเลือกหุ้นที่มีความเสี่ยงน้อยลง อาจจะเป็นหุ้นของบริษัทที่ใหญ่กว่า มีอัตราเติบโตต่ำกว่า มีอัตราการจ่ายปันผลต่ำกว่า แต่ก็แลกมาด้วยการมีสินค้าและบริการที่มั่นคงกว่า มีฐานลูกค้าใหญ่กว่า เป็นต้น ทั้งนี้พอร์ตที่ใหญ่ขึ้นก็ยังมีทางเลือกที่จะลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เล็กลงและดูมีอัตราการเติบโตที่สูงมากได้ แต่ก็ด้วยอัตราส่วนที่ต่ำลงมาเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ต ดังนั้นเมื่อคิดถึงผลตอนแทนของพอร์ตที่ใหญ่ขึ้น (โดยมีความมั่นคงมากขึ้นด้วย) ก็มักจะดูไม่หวือหวาเหมือนกับพอร์ตเล็กพอร์ตที่จิ๋วกว่าลงมาเป็นเรื่องธรรมดา

ที่เล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ฟังก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อะไรมากไปกว่าการเล่าแนวความคิดของการจัดการกับพอร์ตที่มีขนาดต่างๆ กัน ที่จะต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคล (แต่ละพอร์ต) ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงและโอกาสที่แอบซ่อนอยู่ในพอร์ตแต่ละลักษระ  และที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะต้องรู้ว่าเราทำอะไรอยู่คือมีความเสี่ยงและโอกาสแค่ไหนนั่นเอง