วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สายวิทย์หรือสายศิลป์



เพื่อนนักลงทุนหลายคนอาจจะสงสัยว่าการลงทุนนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับสายวิทยาศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ด้วย (ส่วนสายสิญจ์นั้นไม่เกี่ยว) ความเป็นจริงแล้วการลงทุนในหุ้นนมีทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะปนกันอยู่ พอพูดถึงเรื่องนี้หลายคนคงบอกว่ามิน่าล่ะ ถึงได้สนุกแต่บางครั้งก็ได้เงินยากเย็นเหลือเกิน แถมยังเสี่ยงอีกต่างหาก เริ่มยุ่งแล้ว เพราะโยงกับหลายประเด็นเลย ทั้งยาก ทั้งเสี่ยง ซึ่งสุดท้ายอยู่ที่ว่าใครเป็นคนพูดหรือมีความเห็นว่าเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงอยู่ดี สำหรับคนที่ "รู้ ทำเป็น และชำนาญ" ก็คงไม่เสี่ยง คงเหมือนกับการขี่จักรยานที่สำหรับคนที่ขี่เป็นขี่เก่งแล้วก็คงล้มได้ยาก ถึงจะล้มก็คงไม่เจ็บอะไรมากนักและหยิบจักรยานมาขี่ต่อได้ เรื่องการลงทุนก็เหมือนกันล่ะครับ

ก่อนจะออกนอกประเด็นไปไกล กลับมาดูเรื่องที่เกริ่นกันไว้ดีกว่าว่าทำไมผมถึงเปรียบเทียบว่าเป็นสายอะไร (อย่างไรก็ตาม ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องคุยกันเล่นๆ เป็นความเห็นส่วนตัวและไม่ได้มีเจตนาที่จะชี้นำว่าอะไรดีกว่าอะไรในขณะที่อีกอย่างหนึ่งแย่จนใช้การไม่ได้นะครับ)

สายวิทย์

พอพูดถึงเรื่องของวิทยาศาสตร์ หลักการก็คือทุกอย่างต้องมีทฤษฎีรองรับ สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง (หลายทฤษฎีอาจจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันด้วย) และสามารถทำซ้ำได้ คำนวนได้ โดยมีเหตุผลรองรับทั้งหมด มีวิธีการแน่วแน่มั่นคง จะผิดก็เพียงผลรอบข้างที่อยู่ในตัวของการกระทำ (กิริยา ปฏิกิริยา) ที่เรานำมาคิดคำนวณไม่ครบถ้วนจนทำให้ผลการคาดคะเนนั้นผิดไปจากความเป็นจริง นอกจากเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เป็นเนื้อแท้แล้ว ก็ยังมีเรื่องของการคำนวณด้วยสถิติและความน่าจะเป็นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ถือว่าเป็นแนวสายวิทย์เช่นกัน

สายศิลป์

โดยทั่วไปแล้วคำว่า ศิลปะ หมายถึงสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ แสดงออกจากความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์จากจินตนาการที่ได้จากความจริงหรือที่คิดฝันขึ้น เพื่อให้เกิดสุนทรียภาพหรือการสร้างอารมณ์ต่างๆ แม้ศิลปะมีทฤษฎีกำกับอยู่ในรายละเอียดแต่ก็ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ผิดไปจากทฤษฎีนั้นจะใช้การไม่ได้ ไม่สวยงามอย่างเป็นเอกฉันท์ เพราะบางคน ในบางสถานการณ์อาจจะชอบก็ได้ ในขณะที่สิ่งที่ถูกต้องตามทฤษฎีก็อาจจะมีข้อยกเว้นใช้การไม่ได้ในบางสถานการณ์ก็มี เรียกว่าต่างคนก็ต่างใจนั่นเอง

ถ้าเปรียบเทียบไปก็เหมือนกับการทำอาหาร ในสายวิทยาศาสตร์นั้นถ้าเราใส่พริกลงไปเราก็รู้ว่าเผ็ดแน่นอน หรือถ้าใส่น้ำตาลลงไปในอาหารต้องหวานเป็นแน่แท้ ในทางศิลปะแล้วกลับเหมือนกับเราเอา พริก น้ำตาล เกลือ และเครื่องเทศอื่นๆ ผสมใส่ลงไปด้วยกัน  หลายคนอาจจะชอบเผ็ดไม่ชอบเปรี้ยว หรือบางคนชอบหวานไม่ชอบเผ็ดก็มี เรียกว่าไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจน

ดังนั้นราคาหุ้นจึงประกอบไปด้วยผลของการใช้วิทยาศาสตร์คำนวณและที่เกิดจากการใช้ศิลปะที่ประกอบไปด้วยอารมณ์ของมนุษย์ และสะท้อนออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน ราคาในระยะสั้นจะขึ้นลงไปตามความเป็นจริงประกอบกับความรู้สึกผสมรวมกันอยู่ในสัดส่วนอาจจะพอๆ กัน (บางครั้งก็เป็นไปตามความจริงมากกว่า บางทีก็เป็นไปตามความรู้สึกมากกว่า แล้วแต่สถานการณ์) แต่ในท้ายที่สุดแล้วราคาของหุ้นก็หลีกหนีความจริงไปไม่พ้น ความจริงที่ว่านั้นก็คือผลประกอบการของธุรกิจนั้นว่าได้กำไรเท่าไร ขาดทุนอย่างไร การพยายามปรับตัวให้ทันกับความรู้สึกของผู้คนในระยะสั้นอาจจะเข้ากันได้ดีกับแนวการลงทุนด้านเทคนิค ในขณะที่ระยะยาวแล้วราคาของหุ้นจะขึ้นกับผลประกอบการที่เป็นไปตามมูลค่าต่อหุ้นของบริษัทนั้นนั่นเอง

 
หนังสือ "วิถี VI กำไรชั่วโคตร" เป็นการรวมเนื้อหาหลายเรื่องจากในบล็อก และเนื้อหาส่วนที่ไม่ได้อยู่ในบล็อกนี้เช่น การคัดเลือกหุ้นโดยการให้คะแนน, การประเมินราคาหุ้นที่เหมาะสมอย่างง่ายๆ ไม่วุ่นวายใจ, ขั้นตอนของการเป็นนักลงทุนอาชีพสาย VI รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ที่แน่ๆ คืออ่านง่าย ค้นบทความต่างๆ ได้ง่ายกว่าในบล็อก มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำครับ