วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พี่ครับเลือกหุ้นให้หน่อย




แหม ตอนที่คุณๆ เลือกแฟนไม่เห็นถามผมแบบนี้บ้างเลย เห็นไปแอบเลือกกันสองคน ทีเลือกหุ้นล่ะวิ่งมาหาแล้วให้ชำแหละแจกแจงถลกดูทุกซอกมุมว่าดีไหมอย่างไร แต่มีเหมือนกันนะครับที่มาแบบด่วนชาตินี้ถึงชาติหน้า คือขอแค่ผลสรุปแต่ไม่สนเหตุผลที่มาใดๆ อะไรทั้งสิ้นในระหว่างทาง นี่ล่ะที่น่าเป็นห่วงที่สุด

เป็นคำขอที่ทำไม่ค่อยได้

ส่วนมากเพื่อนๆ หรือผู้คนที่ถามผมในคำถามนี้จะต้องผิดหวังว่าผมมักปฎิเสธในคำถามนี้ คนที่เข้าใจก็ดีไป คนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะคิดว่าหวงก้าง (ผมว่าคงเป็นแมวมากกว่าสุนัขนะ ที่หวงก้าง สุนัขต้องหวงกระดูกสิจริงไหม) แต่การเลือกลงทุนในรายละเอียดแบบนี้ก็คงเหมือนกับการที่ถ้าจะให้ผมเลือกแฟนให้ผู้ถามสักคน ผมก็คงเลือกให้ไม่ได้ เพราะคนเรานั้นมีความชอบ รสนิยม หรือจริตที่ต่างกัน สิ่งที่ผมชอบผมอยู่ด้วยได้อย่างมีความสุขอาจจะต่างจากผู้ถามก็ได้ หรือผมเห็นในสิ่งที่ดีของสิ่งที่ผมเลือกให้ แต่ผู้ที่ต้องลงทุนจริงๆ ไม่เห็นเช่นเดียวกัน (เรียกว่ามี "รส" ไม่ตรงกัน) สุดท้ายก็เกิดปัญหาได้อยู่ดี

อยากได้หุ้นทำอย่างไร

กลับมาถึงคำว่า "พี่ครับเลือกหุ้นให้หน่อย" ที่ส่วนมากผมมักจะตอบกลับไปด้วยคำถามมากกว่าคำตอบ เช่น คุณชอบหุ้นบริษัทอะไร เพราะอะไร และเคยดูหุ้นของบริษัทอื่นในกลุ่มเดียวกันนี้หรือไม่ หรือพิจารณาบริษัทกลุ่มอื่นหรือเปล่า เป็นต้น จากนั้นการพูดคุยก็จะเริ่มขึ้น ซึ่งมักจะต้องท้าวความกันเรื่องพื้นฐานทางธุรกิจ การหาข้อมูลประกอบ เช่น บทวิเคราะห์ ต่างๆ, ความจริงที่เห็นจากสิ่งที่บริษัททำและไม่ทำ, ความเห็นของเจ้าของเงินนักลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจนั้น, ประวัติของราคาและการซื้อขาย และอื่นๆ อีก ทั้งหมดก็เพื่อที่ผู้ที่สนใจในหุ้นนั้นได้รู้พื้นฐานและจัดการตัดสินใจเองได้ ว่าความคาดหวังหรือเงื่อนไขที่ตัดสินใจซื้อ (และใช้คำนวณมูลค่าที่เหมาะสมในวันนี้) เป็นอย่างไร และเมื่อความคาดหวังนั้นเปลี่ยนไปจะต้องทำอย่างไรในอนาคต (ถือ, ซื้อเพิ่ม, หรือขาย) ได้ด้วยตัวเองเมื่อผมไม่อยู่ข้างๆ ให้ปรึกษาตอนราคาหุ้นกระเพื่อมขึ้นลงให้หวาดเสียว

เพราะว่าหุ้นตัวเดียวกัน คนคนหนึ่งที่เข้าไปและซื้อขายมันได้ถูกจังหวะอาจจะได้กำไร ในขณะที่อีกคนหนึ่งที่ไม่เข้าใจในธุรกิจนั้นอาจจะซื้อและขายขาดทุนก็เป็นได้ ในฐานะนักลงทุนอาชีพแล้ว การแนะนำเพียงให้ซื้อหรือขายหุ้นอะไรในราคาเท่าไรคงผิดไปจากคำตอบที่ชัดเจนและครบถ้วนเอามากครับ