วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หุ้นหลายเด้งยังมีอยู่หรือไม่



เมื่อพูดถึงการลงทุนแบบเน้นมูลค่า หลายคนมักจะนึกไปถึงสิ่งอย่างต่างๆ นาๆ บาคนอาจจะคิดว่าเป็นการซื้อหุ้นแล้วถือยาวๆ บางคนคิดว่าเป็นการซื้อหุ้นแล้วโชคดีที่ได้กำไรหลายๆ เท่าตัว หรือบางคนก็คิดไปว่าการลงทุนแบบนี้ได้กำไรหลายเท่าแต่ใช้เวลามากเกินไป และยังปนกับความสงสัยว่าในปัจจุบันที่ราคาหุ้นขยับตัวขึ้นมากแล้วยังจะมีหุ้นที่สามารถทำกำไรได้หลายเท่าตัวอีกหรือ ถ้าดูว่าเป็นไปไม่ได้แล้ววิธีการคิดและทำแบบนักลงทุนเน้นคุณค่าก็คงใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วในเวลานี้

ถ้ามองกันให้กว้างมากขึ้นแล้ว การที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะสามารถหาหุ้นที่ทำกำไรได้หลายเท่าตัวนั้นมีอยู่หลายแนวทาง เช่น

1) ซื้อเมื่อเกิดวิกฤติ และวิกฤติได้ผ่านพ้นไปแล้ว
นี่ถือว่าเป็นวิธีคลาสสิคเลยก็ว่าได้ ในยามเหตุการณ์ปกติ การที่จะดูว่าหุ้นตัวหนึ่งจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าโดยการดูจากงบการเงินตามปกติแล้วเห็นว่าราคาที่แท้จริงต้องสูงกว่าเป็นเท่าตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเจอต้องถือว่าเป็นโชคเลยทีเดียว กรณีนี้ก็เช่น ราคาต่ำเกินจริงแบบตกใจคือเกิดวิกฤติ ถ้าเป็นวิกฤติแบบเฉพาะที่ (local) ก็คือเป็นปัญหาชั่วคราวของบริษัทนั้นเอง หรือถ้าเป็นวิกฤติระดับชาติก็จะทำให้มีหุ้นหลายตัวในตลาดที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของมันมากให้เลือกลงทุน เมื่อวิกฤติเหล่านั้นผ่านไปและบริษัทสามารถดำเนินงานได้ตามปกติ ทำกำไรได้ตามปกติหรือแม้กระทั่งเติบโตต่อไปในภายภาคหน้า ราคาหุ้นก็ย่อมเพิ่มสูงขึ้นได้มากจนอาจจะเป็นหลายเท่าตัวได้

2) ซื้อหุ้นที่เติบโต ไมว่าจะเติบโตเร็วหรือปานกลางก็ตาม
นอกจากการมีโอกาสได้ซื้อหุ้นเมื่อเกิดวิกฤติแล้ว ก็ยังมีวิธีมาตรฐานในการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรมากก็คือลงทุนในธุรกิจที่ขยายตัวได้มาก อาจจะเพราะเป็นของใหม่ เพิ่งเริ่มมีลูกค้า ทำให้ตลาดค่อยๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อย หรือมีวิธ๊ในการขยายตลาดที่ได้ผลดี ถึงกับเปลี่ยนแปลงพื้นฐานไปในทางที่ดีขึ้น (เช่น มีสินค้าและบริการมากขึ้น ขยายตลาดได้กว้างขวางมากขึ้น มีวิธีการทำกำไรที่สูงขึ้น ในอนาคต เป็นต้น) เราจะมีโอกาสลงทุนและได้กำไรกับบริษัทที่เติบโตในอนาคตโดยที่เราอาจจะไม่เห็นได้ชัดเจนตรงๆ จากงบการเงินในเวลาปกติ

3) ซื้อหุ้นของบริษัทที่กำลังพลิกฟื้นจากขาดทุนเป็นกำไร
อีกแนวทางหนึ่งคือการลงทุนในบริษัทที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากขาดทุนเป็นกำไร (Turnaround) ซึ่งในปัจจุบันหรือเวลาใดๆ ก็มีบริษัทเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมากให้เรามองหาและพิจารณา

โดยไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นของบริษัทเมื่อเกิดวิกฤติ หรือซื้อหุ้นของบริษัทที่เติบโต หรือหุ้นของบริษัทที่กำลังพลิกฟื้นจากขาดทุนเป็นกำไร ก็ต้องอาศัยการประเมินมูลค่าก่อนการตัดสินใจทั้งสิ้นว่า เมื่อพ้นวิกฤติแล้วบริษัทจะมีกำไรเท่าไรและควรมีราคาเท่าไร หรือเมื่อบริษัทเติบโตแล้วควรมีรายได้เท่าใดกำไรเท่าใดและมีราคาหุ้นเท่าไร ตลอดไปจนบริษัทที่กำลังขาดทุนอยู่แต่เมื่อพลิกฟื้นเรียบร้อยแล้วจะมีกำไรเท่าไรและควรมีราคาหุ้นเท่าใด แก่นแท้ของการประเมินรู้ได้ว่าในอนาคตบริษัทจะมีกำไรเท่าใดและมีสภาพการเงินและธุรกิจเป็นอย่างใด นี่ล่ะคือหัวใจของ VI หรือการลงทุนโดยเน้นมูลค่าของกิจการ (ที่มาจากกำไรของบริษัท, มาจากสภาพการเงินและการเติบโตของบริษัท) นั่นเอง