วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คุณมีทรัพย์สินจริงหรือ



ที่ไปที่มาของคำถามนี้ คงเป็นเพราะได้คุยกับเพื่อนหลายคนมาในหลายโอกาส ประกอบกับบังเอิญเห็นเพื่อนในเว็บบอร์ดคุยกันเรื่องนี้ด้วย ผมเลยให้ความเห็นเอาไว้เกี่ยวกับทรัพย์สิน สินทรัพย์ ทรัพย์สมบัติ สมบัติ หรือจะเรียกว่าอะไรก็เรียกได้อีกหลายอย่าง แต่เอาเป็นว่ามันเป็นของที่ดูจะเป็นของเรา คือเราสามารถควบคุมใช้งานมันได้ (ส่วนจะใช้หรือไม่ใช้ ใช้ทำอะไร ใช้แล้วได้ประโยชน์ไหมนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ) ลองมาค่อยๆ ดูกันดีกว่า

ที่มาของทรัพย์สิน

สำหรับบุคคลแล้ว หลายคนอาจจะไม่แยกแยะสิ่งที่ตัวเองมีออกเป็นหลายอย่างดังที่ผมเขียนไว้ในย่อหน้าที่แล้ว คือเรียกรวมๆ กันไปหมด ประเด็นแรกที่น่าสนใจก็คือทรัพย์สินนั้นมาจากไหน บางทีทรัพย์สินที่ว่านั้นก็เป็นของตัวเองอย่างแท้จริง แต่บางทีก็ยังมีภาระหนี้สินอยู่คือเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกู้หนี้ แล้วแปลงหนี้ในรูปของเงินให้เป็นสิ่งของ (ซึ่งในทางบัญชีก็เรียกว่าเป็นทรัพย์สินหรือ asset แต่ก็พ่วงด้วยหนี้หรือ debt/liability ติดมาด้วย) ดังนั้นที่มาของทรัพย์สินก็เป็นประเด็นหนึ่ง

ประเภทของทรัพย์สิน

ไม่ว่าที่มาของทรัพย์สินจะมาจากการเก็บหอมรอมริบของตัวเอง หรือจะมาจากการกู้หนี้ยืมสินมาซื้อ (เช่น รูดบัตรเครดิตมาซื้อทีวี ตู้เย็น หรือ ตู้ก๋วยเตี๋ยวเอาไว้ประกอบอาชีพ - เอาเป็นว่ามีบางร้านยอมให้รูดก็แล้วกันนะครับ) หรือจะพ่อแม่ทิ้งเอาไว้ให้ก็ตามที ผมก็แบ่งสิ่งเหล่านั้นออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
(1) ทรัพย์สิน กับ
(2) ทรัพย์สมบัติพัสถาน
ซึ่งสองคำที่เกี่ยวพันกับทางการเงินนี้อาจจะเป็นชื่อเรียกโดยส่วนตัวของผมเอง ไม่ได้มีบัญญัติเอาไว้ที่ใดหรอก

จริงๆ แล้วถ้าเรามีทั้งสองอย่างก็ถือว่าโชคดี อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย (ประเด็นสำคัญก็คือมีหนี้ตามมาจากการได้มาซึ่งทรัพย์นั้นมากน้อยแค่ไหนมากกว่า) เพียงแต่โดยส่วนตัวแล้วผมให้นิยามความแตกต่างของสองอย่างนี้ต่างกัน โดยที่ (1) "ทรัพย์สิน" ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ดีก็ควรเป็นสิ่งที่สามารถสร้างผลตอบแทนหรือกระแสเงินสดไหลเข้ามาได้ตลอดเวลาที่เราถือครองทรัพย์นั้น และถ้าเป็นทรัพย์สินที่ดีมากแล้วล่ะก็ ทรัพย์สินนั้นจะต้องสามารถเพิ่มค่าได้เมื่อเวลาผ่านไปด้วย และถ้าเป็นทรัพย์สินชั้นประเสริฐ ก็คือมันแปรรูปมาจากหนี้ โดยที่ตัวมันสามารถสร้างกระแสเงินสดเพื่อชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ด้วยตัวของมันเอง ในขณะที่ (2) "สมบัติพัสถาน" เป็นของที่เรามีแต่ไม่ได้สร้างเงินหรือรายได้ให้กับเรา หนำซ้ำวันดีคืนดียังอาจจะดึงเงินออกไปจากกระเป๋าเราอีก เช่น ต้องเสียเงินค่าดูแล เสียภาษีในการถือครอง หรือบางทีอาจจะเป็นสมบัติพัสถานที่เสื่อมค่าลงตามเวลาอีกด้วย เรียกว่าช้ำสองต่อ และหากต้องเสียเงินกำจัดซากของมันอีกด้วยแล้วล่ะก็ ต้องเรียกว่าซวยซ้ำสาม ซวยซ้ำซวยซ้อนซวยซ่อนเงื่อนกันเลยทีเดียว จริงไหมล่ะครับ

แล้วในเชิงธุรกิจล่ะ

พอเล่าถึงเรื่องนี้ในด้านบุคคล ก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบผูกพันกับการทำงานของธุรกิจ ธุรกิจมีความแตกต่างจากบุคคลในด้านที่มันสามารถสร้างหนี้ได้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะสร้างจากสถาบันการเงิน (กู้) จากคู่ค้า (เจ้าหนี้การค้า) หรือจากนักลงทุน (ผู้ซื้อหุ้นกู้ ซึ่งจะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้) หากธุรกิจหรือบริษัทมีความสามารถที่ดี ก็จะสร้างหรือเปลี่ยนหนี้เป็นทรัพย์สินชั้น ดี ดีมาก หรือดีเลิศประเสริฐศรี ที่ผมเขียนไว้ด้านบน แถมทรัพย์สินนั้นยังช่วยสร้างทรัพย์สินอื่นต่อไปได้ (เช่น กำไรสะสม, ลูกหนี้การค้า, การลงทุนในสินทรัพย์อื่น เป็นต้น) แต่หากผู้บริหารมีฝีมือที่แย่ ธุรกิจก็อาจจะมีแต่ "สมบัติพัสถาน" ที่ไม่ได้ทำเงิน แถมเกะกะต้องดูแล รอวันแต่มีค่าเสื่อมราคา (depreciate) ให้ลดทอนกำไรของบริษัทลงไปทุกวันๆ

ดังนั้นในฐานะนักลงทุน เราก็คงจะต้องเลือกกิจการที่มีทรัพย์สินที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี (ดูได้จาก ROA ที่สูง เช่น 10% หรือสูงกว่าขึ้นไป ยิ่งสูงยิ่งดี ถ้าเป็นธุรกิจผลิตที่มีกำไรจะมีตัวเลขนี้สูงได้ถึง 20-30% ยกเว้นสถาบันการเงินที่จะมีตัวเลขนี้เป็นเลขตัวเดียว ก็จะต้องเปรียบเทียบกับกลุ่มธุรกิจเดียวกัน) ไม่ใช่เลือกธุรกิจที่มีสมบัติพัสถานกองเอาไว้แต่สร้างรายได้สร้างผลกำไรไม่ได้นั่นเอง