วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปันผลคือคำตอบสุดท้ายหรือ

 

เมื่อพูดถึงการลงทุนโดยให้คำนิยามว่าเป็นการกระทำใดๆ เพื่อหวังผลให้ได้กำไรกลับคืนมา ก็คงจะต้องถือว่าการซื้อและขายหุ้นหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นการลงทุนทั้งหมด เพราะต่างคนก็ต่างหวังว่าจะได้กำไรด้วยกันทั้งนั้น และการลงทุนในโลกนี้จะถุกแบ่งออกเป็นสองแนวทางใหญ่ๆ คือการลงทุนแนวพื้นฐานและการลงทุนในแนวเทคนิค

สำหรับการลงทุนแนวเทคนิคนั้นคงต้องใช้ ช่วงเวลา ราคา ปริมาณการซื้อขาย สามอย่างนี้เป็นต้นเรื่องในการคำนวณเพื่อทำการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น (กับราคาของหุ้นนั้น) ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะตรงหรือไม่ก็แล้วแต่มุมมองและการนำเครื่องมือต่างๆ สารพัดที่มีอยู่ไปใช้งาน เพราะว่าบางทีเครื่องมือหลายอย่างที่มีอยู่ก็ยังให้ผลออกมาต่างกันก็มี บางทีอาจจะต้องถือว่าเป็นโชคก็ได้ที่เลือกได้ถูกตัวและสามารถทำกำไรได้นั่นเอง

หันมาทางฟากของนักลงทุนที่อาศัยหลักการพื้นฐาน คนเหล่านี้ก็จะพิจารณาว่าธุรกิจที่ต้องการจะลงทุนนั้นคืออะไร ทำอะไร ใครเป็นลูกค้า มีข้อดีเสียต่างจากคู่แข่งอย่างไร มีใครบริหารงาน ตลอดไปจนผลของการดำเนินกิจการที่ผ่านมาว่ามียอดขายเป็นอย่างไร มีกำไรเป็นอย่างไร ทั้งสองอย่างนี้เติบโตขึ้นหรือไม่ และมีหนี้สินที่สามารถเลือกที่จะจัดการได้หรือไม่อย่างไร นักลงทุนแบบนี้ก็จะสามรถแยกธุรกิจ (และการลงทุน) ที่ดีออกจากที่ไม่ดีได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วนอกเหนือไปจากราคาหุ้นที่อาจจะขยับตัวขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนเหล่านี้อาจจะมองหาอยู่ก็คือ "ปันผล" นั่นเอง

ปันผล - สิ่งจับต้องได้

สมมติว่าเราซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่ง อาจจะเป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ การจะขายหุ้นนั้นออกไปอาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเอามากๆ ไหนจะต้องเสียภาษีเมื่อมีกำไรอีกด้วยซ้ำไป และถ้าถือหุ้นเอาไว้เฉยๆ โดยขายไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนแบบนี้จะได้รับก็คือเงินตอบแทนในรูปของปันผล สำหรับบริษัทเหล่านี้แล้วเงินปันผลอาจจะเป็นคำตอบแรกๆ เลยก็เป็นได้ แต่สำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ล่ะ เงินปันผลจะเป็นคำตอบแรกและคำตอบสุดท้ายด้วยหรือไม่

ปันผลคือคำตอบสุดท้ายหรือเปล่า

สำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีหุ้นถูกซื้อขายไปมาอยู่ตลอดเวลาแล้ว ราคาของหุ้นย่อมขึ้นอยู่กับสารพัดปัจจัย ตั้งแต่เงินปันผล อัตราการเติบโต ความคาดหวังที่บริษัทจะมีโอกาสเติบโต รวมไปทั้งข่าวลืออีกสารพัด ดังนั้นการที่นักลงทุนหลายคน เข้าใจว่า VI ต้องซื้อหุ้นที่จ่ายปันผลสูงๆ เท่านั้นจึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะราคาของหุ้นของบริษัทนั้นโดยเนื้อแท้แล้วจะขึ้นกับ "ค่า (value) ของบริษัท" ว่าเมื่อดำเนินกิจการไปเรื่อยๆ แล้วจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร ถ้าบริษัทมีกำไรมาก นำเงินไปทำธุรกิจเพิ่มเติมได้มาก หรือแม้แต่ซื้อกิจการอื่น ย่อมทำให้มูลค่าของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นได้ (มาจากกำไรสะสมนั่นเอง) โดยอาจจะจ่ายปันผลน้อยหรือไม่จ่ายเลยก็ตาม (จริงๆ แล้วถ้ายิ่งไม่จ่ายปันผล จะยิ่งทำให้บริษัทเพิ่มมูลค่าได้มาก เพราะไม่มีกระแสเงินสดที่เป็นเงินปันผลไหลออก - ในงบกระแสเงินสด จะเป็นเงินสดไหลออกจากกิจกรรมการจัดหาเงิน) จะเห็นว่าแม้แต่นักลงทุนแนวเน้นมูลค่าระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ยังไม่ได้อาศัยแนวทางการจ่ายปันผลมากๆ นี้ นั่นคือหุ้นของบริษัทเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ เองก็ไม่ได้จ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น

จริงๆ แล้วบริษัทที่ไม่จ่ายปันผลนั้นอาจจะมีราคาหุ้นที่เติบโตกว่าบริษัทที่จ่ายปันผล มากกว่าปันผลที่จ่ายก็ได้ด้วยซ้ำเพราะสามารถนำเงินไปสร้างความเติบโตได้มากกว่าการจ่ายออกมาให้ผู้ถือหุ้น (และ ผู้ถือหุ้น ก็ต้องเสียภาษีอีก) การที่นักลงทุนแบบ VI เลือกหุ้นปันผลก็อาจจะเป็นเพราะต้องการรายได้ที่ไหลเข้ามาโดยไม่ต้องจัดการกับพอร์ต (ส่วนที่จ่ายปันผล) มากมายนัก ในขณะที่ปันผลก็เป็นเหมือนเครื่องประกันว่าราคาหุ้นจะไม่ตกต่ำมากเกินไปเมื่อเกิดอะไรขึ้น (ข่าวร้ายชั่วคราวในตลาด หรือเหตุการณ์ใดๆ  ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัท) เท่านั้นเอง