วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กลยุทธ์สั้นหรือยาวต้องเลือกใช้ให้ถูกเวลา


ตลาดหลักทรัพย์นับว่าเป็นแหล่งสำหรับหาโอกาสในการลงทุนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง แต่แน่นอนว่าจะต้องถูกใช้งานโดยผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจกับมันอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จริงๆแล้วมีขนาดเล็กมากการซื้อขายโดยนักลงทุนรายใหญ่หรือการซื้อขายโดยนักลงทุนชาวต่างชาติที่เน้นไปในหุ้นของบางบริษัทหรือแม้แต่หุ้นของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ในตลาด ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านราคาของหุ้นตัวนั้นเองและดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ทั้งตลาดได้อย่างไม่ยากเย็นนัก นั่นหมายความว่าในบางคณะเวลามีความเป็นไปได้สูงมากที่ราคาของหลักทรัพย์ต่างๆจะเปลี่ยนแปลงผันผวนโดยดูเหมือนไม่มีเหตุผลทางด้านการดำเนินกิจการของธุรกิจมารองรับเลย

ถ้าไม่พูดถึงเรื่องความเสี่ยงที่ต่างกันแล้วในหลายกรณีเราอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในระยะเวลาที่ไม่ยาวมากนักสำหรับเราที่เป็นนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการแล้วระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรก็น่าจะตั้งแต่ 2 ถึง 3 ปีขึ้นไป พูดกันแบบตรงๆ ก็คืออะไรที่สั้นกว่า 2 ปีเราเรียกว่าเป็นระยะเวลาสั้นนั่นเอง และเป็นที่ทราบกันดีว่าราคาของหุ้นในระยะสั้นนั้นอาจจะไม่สะท้อนความสามารถในการดำเนินกิจการของธุรกิจเลยก็ได้ ดังนั้นการที่เราจะมีโอกาสทำกำไรในระยะสั้นได้ จึงอาจจะต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันไปจากการลงทุนในระยะเวลาที่ยาวกว่านั่นเอง

เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวทางการลงทุน 2 แบบหลักๆในโลกนี้ก็คือการลงทุนแนว/ปัจจัยเทคนิค (technical) และการลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการ (value investment) นั่นเอง เนื่องจากในระยะสั้นนั้นราคาของหุ้นมักจะปรับตัวอย่างไม่มีเหตุผลที่สอดคล้องกับผลการดำเนินกิจการของบริษัทจดทะเบียนก็ได้ ดังนั้นหากมีเงินจำกัดและจำเป็นต้องพยายามหาวิธีทำกำไรในเวลาสั้นแนวทางตัดสินใจลงทุนด้วยวิธีทางเทคนิคก็อาจจะเหมาะสมสำหรับกรณีนี้ (และก็ตามมาด้วยการใช้เวลาส่วนตัวของผู้ลงทุนในการเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นและคอยตัดสินใจดำเนินการเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงราคาไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง) ในทางตรงกันข้ามถ้านักลงทุนสามารถรอเวลาได้และมีความสามารถในการคำนวณมูลค่าที่เหมาะสมของธุรกิจประกอบกับการมีโอกาสที่ได้พบเจอหุ้นของธุรกิจนั้นที่มีราคาในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมัน เขาก็อาจจะเลือกวิธีการลงทุนในแนวเน้นมูลค่า คือซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันมาก นั่นคือมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (margin of safety) มากเพียงพอ และรอเวลาให้ผู้คนในตลาดมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของธุรกิจนั้นเมื่อถึงเวลานั้นราคาของหุ้นก็จะขยับเพิ่มสูงขึ้นไปเองโดยธรรมชาติ

ความผิดพลาดในการลงทุนที่เราเห็นกันบ่อยๆ ก็คือการใช้เทคนิคทั้งสองอย่างนี้โดยไม่ถูกที่ไม่ถูกเวลา บางคนลงทุนระยะสั้นแต่ใช้วิธีการประเมินมูลค่าของหุ้นแล้วทำการซื้อขายแต่ราคาก็ไม่ตอบสนองมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจสักทีหรือในอีกด้านหนึ่งนักลงทุนอาจจะลงทุนในระยะยาวแต่ใช้ปัจจัยทางด้านเทคนิค ที่เน้นการตอบสนองในระยะสั้นมาเป็นเครื่องมือหลักในการตัดสินใจ แบบนี้ก็สามารถทำให้เสียโอกาสรวมทั้งอาจสร้างการขาดทุนได้ในบางกรณีด้วย ดังนั้นเราจึงต้องรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่และเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมกับสิ่งที่เรากำลังทำด้วย โดยสรุปอีกคร้งก็คือ:

ระยะสั้น - ราคาหุ้นปรับตัวอย่างไม่มีเหตุผล ตามข่าวต่างๆ ผู้ที่ลงทุนและต้องการผลลัพธ์ในระยะสั้นน่าจะใช้การลงทุนแบบ "เทคนิค" และติดตามราคาหุ้นรวมทั้งตัดสินใจอย่างใกล้ชิดรวดเร็ว (แต่ ขอเน้นว่า "ผลลัพธ์ในระยะสั้น" นี้ไม่ได้รับประกันว่าจะได้กำไร เพียงแต่สามารถสรุปผลได้โดยเร็วในระยะเวลาสั้นและมีโอกาสได้กำไรอยู่) ในทางกลับกันถ้าใช้ VI ในระยะสั้น (เนื่องจากรอไม่ได้ เช่นต้องนำเงินออกมาเพื่อใช้จ่ายในทางอื่น) อาจจะขาดทุนมากได้
ระยะยาว - เป็นไปตามเหตุผล เน้นการลงทุนแบบ VI และในระยะยาวแล้วราคาจะเป็นไปตามผลประกอบการเสมอ จนมีคำพูดติดปากว่า "เจ้าที่แท้จริงคือผลประกอบการของบริษัท" นั่นเองครับ