เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ผมเห็นการโพสต์ลงเฟซบุ้กของนักลงทุนท่านหนึ่ง ซึ่งต้องขออภัยจริงๆ เนื่องจากจำไม่ได้ว่าเป็นท่านใด พยายามย้อนหาก็ไม่พบ แต่เป็นเรื่องเล่าระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ที่ท่านนั้นได้นำมาแบ่งปันกัน เนื่อความก็คือ อาจารย์กับลูกศิษย์เดินไปบนถนนด้วยกัน พลันลูกศิษย์ก็เหลือบตาไปเห็นธนบัตรใบละ 10 เหรียญตกอยู่ และได้บอกกับอาจารย์ว่า "อาจารย์ครับ นั่นเป็นธนบัตร 10 เหรียญตกอยู่ใช่ไหมครับ" อาจารย์ก็ตอบว่า "ไม่ใช่หรอก เพราะถ้าใช่ก็คงมีคนอื่นเก็บไปแล้ว" และก็เดินผ่านไป โดยที่ลูกศิษย์ก้มลงเก็บธนบัตรนั้นแล้วได้นำไปซื้อเบียร์บางคนอ่านเรื่องนี้แล้วผ่านไป เราก็คงเห็นเป็นเรื่องเล่าขำๆ หนึ่งเรื่อง อาจจะคิดว่าอาจารย์ท่านนั้นช่างโง่เขลาเหลือเกิน หรือคิดว่าลูกศิษย์ตาดีกว่าอาจารย์ หรือคิดว่าลูกศิษย์ไม่น่าจะก้มเก็บเงินนั้นแต่ปล่อยเอาไว้เพราะประเดี๋ยวเจ้าของก็คงมาตามหาเอง รวมทั้งอาจจะคิดเลยไปว่าเอาเงินไปทำอะไรได้ดีกว่าการนำไปซื้อเบียร์หรือเปล่า (ไปโน่นเลย)
แต่ในแง่ของนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าของกิจการ (Value Investor - VI) แล้ว แว่บแรกที่ผมได้อ่านเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นคือ
- ไม่ว่าในสถานการณ์เป็นอย่างไร ก็ย่อมมีคนที่มองเห็น (และคิดถึง) สิ่งที่เกิดขึ้นในแง่มุมที่ไม่เหมือนกัน และ
- มีผู้คนจำนวนมากที่คิดว่า สิ่งที่คนอื่นๆ เขาทำกัน คงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และถ้ามีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่ คนอื่นๆ ก็คงทำกันไปหมดแล้วล่ะ
ในฐานะของนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าของกิจการ คงเป็นเวลาที่ดีที่เราจะได้ "ตรวจการบ้าน" ที่ได้ทำมาสักหน่อยในสถานการณ์แบบนี้ (ไม่ใช่ว่าเริมทำการบ้าน เพราะต้องทำก่อนการซื้อหุ้นแล้วให้เรียบร้อย) คือเริ่มดูว่ามูลค่าของกิจการที่เราลงทุนซื้อหุ้นเป็นเจ้าของร่วมอยู่นั้นมีค่าเท่าไร (คือมีราคาที่เหมาะสมที่แท้จริงเท่าไร) เราซื้อหุ้นนั้นมาด้วยราคาเท่าไร หุ้นนั้นจ่ายปันผลหรือไม่ (ในสถานการณ์ที่หุ้นตกเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่จะค้ำราคาหุ้นเอาไว้ได้ก็คือเงินปันผล เนื่องจากย่อมมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นของกิจการที่มีกำไรและจ่ายปันผลสูง ซึ่งต้องเป็นเงินปันผลที่สม่ำเสมอ ไม่ใช่จ่ายผิดปกติเป็นการชั่่วคราว และถ้าปันผลเติบโตด้วยย่อมเป็นที่จูงใจมากขึ้นมาก) และจากราคาที่เหมาะสมกับราคาตลาดของหุ้นนั้น ย่อมทำให้นักลงทุนแบบเน้นมูลค่าสามารถรู้ได้ว่าตัวเองถือหุ้นที่มี "ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย" อยู่มากหรือน้อยเท่าไร การรู้เช่นนี้จะทำให้เราไม่ตัดสินใจผิดในหลายประการเพราะเป็นไปได้มากว่าเราขายหุ้นที่ดี มีการเติบโต จ่ายปันผลสูง (คิดแล้ว คำนวณได้ว่ามูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาตลาดมาก) แต่ราคาตกลงมา (ทำให้ "ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย" ยิ่งกว้างขึ้น) และสิ่งที่เกิดเป็นประจำก็คือ "พอขายปุ้บ ก็เด้งปั้บ" ให้เห็นคาตากันเลยทีเดียว
ในกรณีอื่น หากวินาทีนี้ไม่มีหุ้นในมือ แต่ถือเงินสดเอาไว้ ย่อมเป็นสถานการณ์ที่ได้เปรียบทีเดียว เนื่องจากสามารถทำการบ้าน (เอาล่ะ คราวนี้ไม่มีหุ้นในมือ ก็ทำการบ้าน วางแผนการซื้อขายได้ถนัด) และเลือกซื้อหุ้นของกิจการที่ดีและคุ้มค่าต่อการลงทุนได้ ซึ่งต้องทำการวางแผนให้ดีว่าจะซื้อทีเดียว หรือแบ่งซื้อกี่ครั้งครั้งละเท่าไรห่างกันเท่าไรอย่างไร (เหมาะกับผู้ที่มีเวลาน้อย หรือทำงานประจำด้วย) หรือซื้อแล้วพร้อมที่จะขายตัดขาดทุนออกมาก่อนก่อนที่จะซื้อกลับหรือไม่อย่างไร (ต้องมีเวลาเฝ้า) ซึ่งต้องแล้วแต่ความถนัดและการมีเวลาของนักลงทุนคนนั้นๆ และในบางกรณีก็จะเข้าหลักเกณฑ์ของการขายหุ้นหนึ่งก็คือ ขายเมื่อพบการลงทุนที่ดีกว่า นั่นคือหากเราเห็นหุ้นของกิจการอื่นที่ดีกว่า เติบโตมากกว่า จ่ายปันผลมากกว่า มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยมากกว่าหุ้นที่เราถืออยู่ เราก็อาจจะขายหุ้นที่เรามีและลงทุนในหุ้นของอีกบริษัทนั้นก็ได้
โดยสรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร นักลงทุนแบบเน้นมูลค่าของกิจการย่อมจดจ่ออยู่กับมูลค่าของกิจการนั้น และตัดสินใจไปตามหลักการเดิม และหวังได้ผลตอบแทนในระยะเวลาที่ยาวสักนิด (ไม่ใช่ว่าใช้วิธีแบบ VI แล้วหวังผลระยะสั้น) การขายหุ้นออกหรือซื้อกลับมานั้นเป็นสิ่งที่นักลงทุนแบบเน้นมูลค่าทำได้ แต่จะต้องอยู่บนรากฐานของมูลค่าของกิจการ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์เป็นหลักครับ