วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เรื่องของ Free float


นักลงทุนที่เข้ามาในตลาดเป็นเวลานานพอสมควรน่าจะรู้จักคำว่า สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Free float นะครับ สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มาจากจำนวนหุ้นทั้งหมดคือ 100% หักลบออกด้วยจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทมากกว่า 0.5% หรือพูดอีกทีได้ว่าจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้ที่ถือหุ้นไม่ถึง 0.5% รวมกันนั่นเอง

บางคนอาจจะถามว่าและบริษัทที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่มากหรือน้อยจึงจะดี เรื่องนี้เราคงตอบว่าดีหรือไม่ดีไม่ถนัดนักเนื่องจากเป็นลักษณะของบริษัทนั้นนั้นเองเป็นบริษัทบริษัทไป แต่อย่างน้อยเมื่อเราเข้าไปดูในรายชื่อของผู้ถือหุ้นใหญ่แล้วพบว่าเป็นบุคคลที่เป็นกลุ่มเดียวกัน ถือหุ้นไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ซื้อไม่ขายหวังหาผลกำไรจากราคาหุ้นที่ขึ้นลง อย่างน้อยเราก็เพราะอุ่นใจได้ว่าเจ้าของเดิมยังรักบริษัทอยู่และตั้งใจบริหารงานเพื่อให้ได้ผลกำไรที่ดี สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งรวมทั้งตัวเองด้วยก็จะได้ผลตอบแทนที่ดี อาจจะเป็นในรูปของเงินปันผลจำนวนมากและเติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป

อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้กับบริษัทที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่มากนักก็คือเมื่อผลประกอบการของธุรกิจออกมาดีราคาหุ้นอาจจะตอบสนองกับผลประกอบการที่ดีนั้นได้ค่อนข้างง่ายเนื่องจากการมีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดค่อนข้างน้อย หากมีความต้องการซื้อหุ้นของธุรกิจนั้นก็จำเป็นที่จะต้องยอมซื้อที่ราคาสูงขึ้น เรียกว่าเป็นไปตามหลักของอุปสงค์และอุปทาน คือเมื่อของหายากแต่มีคนต้องการ ก็ต้องสู้ราคากันหน่อย

อย่างไรก็ตามในทางกลับกันการที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดค่อนข้างน้อยจึงเป็นที่สนใจของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เช่นกองทุนน้อยลงรวมทั้งหุ้นเหล่านี้มักจะเป็นหุ้นของบริษัทขนาดไม่ใหญ่นัก ขนาดบริษัทตามราคาตลาด (market cap.) ค่อนข้างเล็ก นั่นคือไม่เข้าเงื่อนไขของหลายกองทุนที่จะสามารถซื้อขายเพื่อการลงทุนหรือเก็งกำไรได้ การเคลื่อนไหวของราคาในลักษณะที่เรียกว่ากองทุนดันราคานั้นจึงเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากนั้นก็จะมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในการซื้อขายนั่นคือสภาพคล่องอาจจะไม่สูงนัก ทำให้เราไม่สามารถซื้อหุ้นด้วยราคาเดียวกันในปริมาณมากๆ ได้ นั่นรวมถึงเมื่อเราจะขายหุ้นด้วย เราก็อาจจะไม่สามารถขายหุ้นของบริษัทดังกล่าวในปริมาณมากๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีจำนวนเงินไม่มากนักและสามารถอ่านธุรกิจ สามารถคาดการณ์ผลกำไรและราคาที่เหมาะสมของหุ้นขนาดเล็กที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อยๆ นี้ได้แม่นยำ สามารถเห็นเป็นโอกาสลงทุนที่ดีได้ นั่นคือเป็นหุ้นที่อยู่ในเกมของรายย่อยอย่างหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามหากผลประกอบการของธุรกิจออกมาดีและเติบโตอย่างต่อเนื่องสุดท้ายแล้วหุ้นเล็กๆ ก็จะกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่เนื่องจากราคาของหุ้นสูงขึ้น (market cap. จะใหญ่ขึ้นตามไปเอง)  บริษัทอาจจะขยายมีการเพิ่มทุนซึ่งก็ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนรายย่อยอาจจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย หรือแม้สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยจะไม่เปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่นักเนื่องจากเจ้าของเดิมนั้นเพิ่มทุนร่วมลงทุนด้วยแต่จำนวนหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดก็จะเพิ่มมากขึ้นอยู่ดี สุดท้ายก็จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนกลุ่มอื่นๆและเรารายย่อยที่ได้ลงทุนล่วงหน้ามาตั้งแต่บริษัทยังมีขนาดเล็กยอมเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เป็นรางวัลของการวิเคราะห์ที่ถูกต้องและการรอคอยนั่นเอง