ความรู้เกี่ยวกับหุ้น การเงิน การลงทุน ธุรกิจ สร้างสมดุลให้กับชีวิตส่วนตัว เพื่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนและมีความสุข แบบภาษาชาวบ้าน บทความต่างๆ เป็นของผู้เขียน (ยกเว้นระบุไว้เป็นอย่างอื่น) จากความรู้ ประสบการณ์ และอาจมีความเห็นร่วมอยู่ด้วย ขอให้ผู้อ่านตรวจสอบข้อมูลก่อนนำไปใช้ หากนำบทความไปเผยแพร่ กรุณาระบุผู้เขียน "มือเก่าหัดขับ" และที่อยู่ของบล็อกนี้ ขอบคุณครับ [Email: muegaohudkub@gmail.com]
วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558
บริษัทขยายกิจการดีหรือไม่
สำหรับธุรกิจต่างๆการเจริญเติบโตนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างน้อยการทำยอดขายและกำไรก็จะต้องได้เทียบเท่าหรือดีกว่าสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนอกจากนั้นแล้วการไม่ขยายกิจการก็อาจจะสร้างปัญหาภายในได้การขึ้นเงินเดือนอัตราค่าจ้างก็จะทำได้ยากลำบาก ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการรักษาพนักงานที่มีคุณภาพสูงเอาไว้ในองค์กรอีกด้วย
ดังนั้นถ้าเราพูดถึงการขยายกิจการ โดยปกติแล้วใครๆ ก็ต้องบอกว่าดี แต่ถ้าเราพิจารณาให้ถ้วนถี่แล้ว ก็อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป นั่นคืออาจจะไม่ดีก็ได้ เพราะเราก็คงเคยเห็นกิจการหลายอย่างที่เมื่อแตกธุรกิจออกไปแล้วกลับไม่สามารถทำยอดขายจนสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นจากธุรกิจเดิมได้ เหตุผลก็มีหลายประการ เช่น ขยายไปในสิ่งที่ไม่เคยทำ ไม่มีชื่อเสียงมาก่อน ไม่มีลูกค้าเดิมมาก่อน หรือในที่ที่ไม่มีลูกค้า และแม้จะดีก็อาจจะดีต่างกันในช่วงของการขยายที่ต่างกัน (ขยายสาขาแรกๆ จะดี หลังๆ มาเริ่มแย่งลูกค้ากันเอง กำไรโตไม่เป็นเชิงเส้นกับสาขาที่เพิ่มขึ้น หรือบางครั้งอย่างลูกค้ากันเองจนกระทั่งยอดขายไม่เพิ่มขึ้นก็มี)
เนื่องจาก "ลูกค้า" เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจ การขยายงานจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยถ้าบริษัทไม่สามารถขายสินค้าได้ "มากขึ้น" (คำว่าลูกค้านี้รวมถึงลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าสำหรับผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ตาม) ดังนั้นเราจะต้องพิจารณาข้อต่างๆ เกี่ยวกับลูกค้าต่อไปนี้ด้วย
1) ทำเล
การขยายงานนั้นเป็นการทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง ทำให้ได้ลูกค้ามากขึ้นเนื่องจากการได้เปรียบทางด้านทำเลหรือไม่ ลูกค้าที่ไม่เคยซื้อมาซื้อได้สะดวกมากขึ้นหรือไม่ หรือดีกว่านั้นคือการขยายงานนั้นออกไปสู่ต่างประเทศที่มีลูกค้ารองรับยิ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก
2) ต้นทุน
การขยายนั้นทำให้ต้นทุนที่ต่ำลงหรือไม่ แต่มักต้องเป็นการขยายที่ได้ economies of scale (การประหยัดเนื่องจากขนาดกำลังการผลิตที่สูงขึ้น) ด้วย นั่นคือปริมาณการผลิตจะต้องมาก ดังนั้นต้องดูให้ดีว่าสินค้าที่ผลิตออกมานั้นมีลูกค้ารองรับไหม บางบริษัทตั้งหน้าตั้งตาผลิตสินค้ามากมายเพื่อหวังการประหยัดจากขนาดตราสินค้ากับขายไม่ได้ตกรุ่นและต้องทำลายทิ้งไป ทำให้เสียเงินเสียทอง ต้นทุนหาย กำไรไม่มี แบบนี้ก็มีนะครับอย่าคิดว่าไม่มี
3) อุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply)
ถ้าการขยายงานเป็นการขยายงานที่มีอุปสงค์รองรับอยู่แล้ว (คือปกติมีสินค้าเดิมไม่พอขายอยู่แล้ว) เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำออกมาจะสามารถขายได้เลยทันที แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่อย่างหนึ่งคือกรณีแบบนี้มักอยู่ไม่นานเนื่องจากคู่แข่งก็มองเห็นเช่นกันและก็จะตั้งโรงงานหรือพยายามหาสินค้ามาตอบสนองอุปสงค์นั้นในเวลาไม่นาน
4) ความเป็นผู้นำหรือการผูกขาด
การขยายงานที่ดีในสินค้าที่ตัวเองมีความชำนาญ ลูกค้าต้องการซื้อแต่ของเรา หรือเป็นสินค้าและบริการที่ผูกขาด แบบนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะเท่ากับมีลูกค้ารองรับอยู่แล้ว
เรื่องอื่นที่ควรต้องพิจารณาด้วยคือการขยายงานนั้นทำให้ความสามารถทางการเงินเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร มีการกู้ยืมเงิน (บางที กู้มาซื้อกิจการ หรือออกหุ้นเพิ่มทุน) การกู้บางลักษณะทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยเพิ่มเข้ามาจนกดดันกำไรหากไม่สามารถทำยอดขายและกำไรมากขึ้นจนเพียงพอกับดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือจำนวนหุ้นที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในการเป็นนักลงทุนเราจะต้องพิจารณาให้รอบคอบไปในอนาคตว่าการขยายกิจการของธุรกิจนั้นจะเกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน ถ้าคิดแล้วว่าเกิดผลดีมากกว่า แต่ราคาหุ้นยังไม่ตอบรับเราก็อาจฉวยโอกาสซื้อเพื่อการลงทุนได้ในทางตรงกันข้ามถ้าคิดว่าเกิดผลเสียมากกว่าแต่หุ้นกลับพุ่งเพิ่มราคาสูงขึ้นไปก็นับว่าเป็นโชค เพราะอาจจะเป็นจังหวะขายของเราก็ได้เช่นกัน