วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ค่าเสื่อมราคา


ในการทำธุรกิจหลายอย่างนั้น จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องจักรต่างๆ ในการดำเนินกิจการ จะมากบ้างหรือน้อยบ้างก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นกิจการอะไร เพราะบางกิจการอาจจะแทบไม่มีเครื่องจักรของตัวเองเลยก็เป็นได้ (เช่น อาศัยคู่ค้าเป็นผู้รับภาระในการผลิตให้) แต่หลายกิจการอาจจะต้องจัดการผลิตเองทั้งหมด จึงจำต้องมีเครื่องจักรไว้ใช้เองเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกิจการมีเครื่องจักรไว้ใช้เป็นจำนวนมากก็คือ เมื่อถึงเวลาหนึ่งเครื่องจักรเหล่านั้นก็จะต้องเสื่อมสภาพลง และในที่สุดก็ไม่สามารถทำงานได้อีก จำเป็นที่จะต้องซื้อใหม่เข้ามาทดแทนเพื่อให้กิจการสามารถดำเนินงานต่อไปได้ ฟังดูแล้วน่าตกใจมาก แต่นักลงทุนอย่างเราก็ไม่ต้องตกใจเกินไปว่าบริษัทจะไม่มีเครื่องจักรไว้ดำเนินกิจการ เพราะมาตรฐานทางบัญชีได้กำหนดสิ่งที่สามารถ "ต่ออายุ" บริษัทให้มีเงินซื้อเครื่องจักรทดแทนและทำงานต่อไปได้ นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ค่าเสื่อมราคา" ที่แสดงอยู่ในงบการเงินที่เรียกว่า งบกำไรขาดทุน นั่นเอง

เมื่อบริษัทมีการตัดค่าเสื่อมราคา จะมีผลกระทบหลายอย่างเกิดขึ้น คือ
  1. ทำให้กำไรน้อยลง เพราะต้องหักค่าเสื่อมราคาออกจากกำไรขั้นต้นก่อน
  2. มูลค่าของเครื่องจักร (เป็นส่วนของสินทรัพย์และอยู่ในด้านซ้ายของสมการงบดุล - งบแสดงสถานะทางการเงิน) ลดลงเท่ากับค่าเสื่อมราคา
  3. ถ้าการหักค่าเสื่อมราคาเป็นการหักจากกำไรที่เป็นเงินสด จะทำให้เงินสด (ซึ่งเป็นส่วนของสินทรัพย์ในด้านซ้ายของสมการงบดุลในงบแสดงสถานะทางการเงิน) มีจำนวนเพิ่มขึ้น
  4. เงินสดจากข้อ (3) ไม่สามารถนำไปจ่ายปันผลได้ เนื่องจากจะต้องนำไปสมทบไว้เพื่อซื้อเครื่องจักรเพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่า (ไม่อย่างนั้นแล้วเมื่อเครื่องจักรเสื่อมไป ก็จะต้องหาเงินจากแหล่งอื่นมาเช่น การกู้หนี้เพิ่ม และ/หรือ การเพิ่มทุน เป็นต้น)
ตัวอย่าง
สินทรัพย์ (เงินสด, เครื่องจักร, ที่ดิน, ลูกหนี้การค้า, ฯลฯ) = ส่วนของผู้ถือหุ้น (ทุนชำระแล้ว, ส่วนเกินทุน, กำไรสะสม) + หนี้สิน (หนี้ระยะยาว, หนี้ระยะสั้น, เจ้าหนี้การค้า, ฯลฯ)

ต้นปี (หน่วย ลบ.)
100 (เครื่องจักร) = 100 (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (ไม่มีหนี้สิน)

สิ้นปี (หน่วย ลบ.)
สมมติว่า บริษัทมีกำไรเป็นเงินสด 50 ลบ., ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร 20 ลบ.ต่อปี, จ่ายปันผล 13 ลบ.

[20 (เงินสดส่วนของค่าเสื่อมราคา) + 17 (กำไรสะสม)] + [100 (เครื่องจักร) - 20 (ค่าเสื่อมราคา)] = 100 (ส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม) + [50 (กำไร) - 20 (ค่าเสื่อมราคา) - 13 (จ่ายปันผล)] + 0 (ไม่มีหนี้สิน)

37 (เงินสด) + 80 (เครื่องจักร) = 117 (ส่วนของผู้ถือหุ้นใหม่ คือเดิม 100 บวกด้วยกำไรสะสม 17) + 0 (ไม่มีหนี้สิน)

โดยส่วนที่เป็นเงินสด 37 ลบ. ในสินทรัพย์นั้น จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ 20 ลบ. จากค่าเสื่อมราคาที่จะไม่สามารถนำมาจ่ายเป็นปันผลได้เพราะจะต้องเก็บรวบรวมเอาไว้ซื้อเครื่องจักรทดแทน และ 17 ลบ. ที่สามารถนำไปแปลงเป็นสินทรัพย์อื่นหรือจ่ายปันผลได้ภายหลัง

ดังนั้นในการลงทุน สิ่งที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาด้วยก็คือ บริษัทมีทรัพย์สินที่จะต้องมีค่าเสื่อมราคามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีน้อยก็จะทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นเพราะไม่ต้องหักค่าเสื่อมราคาไว้ แต่ก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นและธุรกิจนั้นอาจจะมีกำแพงการแข่งขัน (entry barrier) น้อยลงและมีคู่แข่งจำนวนมากในอนาคตได้ แต่หากมีเครื่องจักรที่ต้องเสื่อมราคาและซื้อใหม่ทดแทน ก็จะต้องมีการหักค่าเสื่อมราคาที่เหมาะสมด้วย โดยทั่วไปจะคิดจาก (ราคาทุน - มูลค่าขายซาก) / ระยะเวลาการใช้งาน นั่นเอง การหักค่าเสื่อมราคามากเกินไปก็จะทำให้กำไรน้อยลงโดยไม่สมควร ในขณะที่การหักค่าเสื่อมราคาน้อยเกินไปก็จะทำให้ไม่มีเงินมากพอในการซื้อเครื่องจักรเพื่อทดแทน แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรบางอย่างอาจจะมีราคาต่ำลงเมื่อเวลาผ่านไปจึงอาจจะทำให้บริษัทมีเงินพอในการซื้อทดแทนก็ได้