วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เยี่ยมเยือนประเทศเยอรมัน


เมื่อประมาณเดือนที่แล้วผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนบริษัทอุตสาหกรรมหลายบริษัทในประเทศเยอรมนี องค์กรที่ไปเยี่ยมส่วนใหญ่นอกจากจะอยู่ในประเภทผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ยังมีผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับการดูแลและใช้งานพลังงานให้คุ้มค่าและศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยที่ช่วยทำหน้าที่หาวิธีการใหม่ๆ ในการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น การไปครั้งนี้ได้รวมการไปเยี่ยมเยือนโรงงานประกอบรถยนต์บีเอ็มดับบลิวที่เมืองมิวนิคด้วย

คณะผู้เดินทางประกอบไปด้วยเจ้าของกิจการในประเทศไทยจำนวนประมาณ 20 ท่าน สิ่งแรกที่เห็นทันทีที่เราลงเครื่องที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ตคือความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง ถนนหนทางที่ได้มาตรฐานและสองข้างทางที่เต็มไปด้วยต้นไม้ เห็นแล้วก็นึกอิจฉาในใจว่าถ้าถนนบ้านของเรามีต้นไม้ปลูกสองข้างทางอย่างนี้บ้างก็คงจะเขียวชอุ่มกว่าทุกวันนี้ จากการพูดคุยกับชาวเยอรมัน ทำให้ได้ความรู้ว่าประเทศเยอรมันนั้นกำลังจะยุติการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยหันไปใช้พลังงานทดแทนอื่นแทน (ถ่านหิน แสงอาทิตย์ ลม) และการวางแผนเกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้นประเทศเยอรมันให้ความสำคัญมากจนกระทั่งวางแผนล่วงหน้าไว้เกิน 100 ปีเลยทีเดียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะแทรกซึมไปในสายเลือดของคนเยอรมันทุกคนทำให้แต่ละคนก็พยายามที่จะทำให้ได้สำเร็จตามแผนต่างๆ คงไม่เหมือนกับบางประเทศที่แผนการก็ไม่แน่นอนและเมื่อกำหนดแล้วก็เปลี่ยนแผนแม่บทไปมา รวมทั้งไม่มีแผนการปฏิบัติลงไปจนถึงประชาชนในประเทศนั้นอย่างชัดเจนแต่ประการใด

จากการไปเยี่ยมโรงงานต่างๆในประเทศเยอรมันจำนวน 4-5 แห่ง ทำให้เห็นว่าการดำเนินงานอุตสาหกรรมในประเทศมีการนำระบบอัตโนมัติรวมทั้งหุ่นยนต์มาใช้ในการทำงานมากขึ้น ที่จริงแล้วเราไปเยี่ยมโรงงานผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมด้วย (KUKA) ซึ่งในโรงงานผลิตหุ่นยนต์แห่งนั้นก็ใช้หุ่นยนต์ในการสร้างหุ่นยนต์ด้วยกันเองโดยมีคนคอยควบคุมเฉพาะขั้นตอนที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น และแน่นอนว่าโรงงานประกอบรถยนต์ BMW ซึ่งเป็นตึกสูงประมาณ 5-6 ชั้นที่เราไปเยี่ยมด้วยนั้นก็ใช้หุ่นยนต์ในการประกอบรถยนต์เป็นหลักเช่นกัน

สิ่งที่สังเกตเห็นและน่าแปลกใจคือ หลายบริษัทที่เรามีโอกาสไปเยี่ยมนั้น แม้ว่าจะมีพนักงานนับพันคนและมียอดขายจำนวนมากต่างมาแล้วนับร้อยปี แต่หลายบริษัทนั้นก็ยังคงเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เราได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของหลายบริษัทซึ่งล้วนแต่พูดเป็นคำเดียวกันว่าบริษัทของเขาเหล่านั้นมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและไม่จำเป็นต้องระดมทุนจากผู้อื่นและยังคงต้องการที่จะบริหารบริษัทได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นที่ผ่านๆ มา อย่างไรก็ดีความมั่นคงเหล่านี้ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญแต่ว่าแต่ละบริษัทนั้นล้วนให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยวางงบประมาณด้านการพัฒนาเหล่านี้เป็นเงินประมาณ 7-15% ของยอดขายเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาสินค้าเพื่อเสนอให้กับลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะรู้ตัวด้วยซ้ำว่าของเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็น แนวทางดำเนินธุรกิจแบบนี้จึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่สร้างอำนาจการต่อรองระหว่างผู้ผลิตและผู้ขายรวมทั้งสามารถหลีกเลี่ยงสงครามราคาได้

สิ่งเหล่านี้ทำให้ย้อนนึกถึงความสามารถในการทำธุรกิจของบริษัทที่ดีในประเทศไทยที่ควรจะมีการวางแผนทั้งในระยะสั้นและยาว มีการใส่ใจให้ความสำคัญด้านการใช้พลังงานและการลดของเสียต่างๆ ซึ่งหากดูเพียงผิวเผินจะเห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้สร้างรายจ่ายให้กับธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับจะลดค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากต่างๆ ให้กับธุรกิจได้ในระยะยาวต่างหาก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นและเป็นที่ต้องการรวมทั้งให้ผลตอบแทนทางธุรกิจที่ดีกับลูกค้า วิธีการเช่นนี้เป็นสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการตกเข้าไปอยู่ในสงครามราคากับคู่แข่ง ความมีระเบียบวินัยการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและมีความสุขเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลในองค์กรมีความสุขและทำให้องค์กรเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ ไม่แน่นะครับ นอกจากตัวเลขผลประกอบการทางการเงินต่างๆ ที่นักลงทุนอย่างเราสามารถจับต้องและวัดผลกันได้อย่างชัดเจน สิ่งต่างๆ ที่มองเห็นได้ยากกว่าเหล่านี้อาจจะเป็นส่วนประกอบที่ดีในการตัดสินใจเลือกลงทุนในบริษัทที่เราสนใจก็ได้ โดยคงจะต้องทำการบ้านกันสักหน่อยซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนัก แต่ก็เป็นหน้าที่ของพวกเรานักลงทุนที่ต้องการจะประสบความสำเร็จจะต้องทำอยู่แล้วจริงไหมล่ะครับ