วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การจ่ายปันผลเป็นหุ้น

 

เมื่อบริษัทดำเนินกิจการมีกำไร บริษัทก็มีทางเลือกในการตอบแทนผู้ถือหุ้นได้หลายรูปแบบ รูปแบบแรกคือเก็บเงินทั้งหมดไว้ขยายกิจการของตัวเองทั้งหมด โดยมีเหตุผลว่าการเก็บเงินไว้และไปขยายกิจการจะได้ประโยชน์มากกว่าการจ่ายออกไปให้ผู้ถือหุ้นไปจัดการหาทางลงทุนอื่นเอาเอง บางบริษัทอาจจะเลือกจ่ายเงินกำไรบางส่วนออกมาเป็นเงินสดโดยเก็บไว้อีกส่วนหนึ่ง บางบริษัทอาจจะจ่ายเงินจากผลกำไรให้เป็นเงินปันผลเงินสดทั้งหมดโดยไม่เก็บไว้เลย (กรณี้นี้อาจจะเป็นเพราะบริษัทยังไม่มีแนวทางในการขยายงานต่อไป หรือเป็นเพราะมีสภาพคล่องสูงมาก มีเครดิตสูงมากสามารถกู้เงินได้มากทันทีโดยไม่ต้องเก็บเงินไว้เอง) และอีกวิธีหนึ่งสามารถเลือกได้ก็คือการจ่ายปันผลเป็นหุ้นพร้อมกับเงินสดบางส่วน (สองอย่างนี้จะมาคู่กันเสมอ ลองดูต่อไปว่าทำไมนะครับ)

  • ทำไมจึงจ่ายเปันผลเป็นหุ้น (พร้อมพ่วงด้วยเงินสดเสมอด้วย)

ถ้าไม่นับการไม่จ่ายเงินปันผลเลยแล้วล่ะก็ การเลือกจ่ายเป็นหุ้นปันผลพร้อมกับเงินสด (ส่วนมากจะเป็นจำนวนน้อยมาก เดี๋ยวเรามาดูกันว่าทำไม) จะเป็นวิธีที่ทำให้บริษัทยังคงมีเงินสดหลงเหลืออยู่มากที่สุดเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการต่อไป แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นในทางบัญชีตามมาดังนี้

1. บริษัทจะจ่ายหุ้นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนของจำนวนหุ้น (ก่อนจ่ายปันผล) ที่ผู้ถือหุ้นถืออยู่
2. หุ้นใหม่ที่จ่ายออกมาจะทำให้บริษัทมีหุ้นทั้งหมดเพิ่มขึ้น จึงต้องจดทะเบียนเพิ่มทุนด้วย
3. หุ้นใหม่ที่จ่ายออกมาจะมีราคาพาร์เท่ากับหุ้นเดิมที่มีอยู่ (ถ้าไม่มีการจดทะเบียน แตกพาร์ ลดพาร์ หรืออื่นๆ)
4. เนื่องจากมีการจ่ายปันผล (แม้จ่ายเป็นหุ้นก็ตาม) จึงต้องหักเงินส่วนกำไรออกไป โดยโยกย้ายไปเเป็นทุนจดทะเบียนแทน (เงินสดส่วนนี้ไม่หายไป)
5. บริษัทจะจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดควบคู่กันไปด้วย (จำเป็นต้องจ่าย ไม่ใช่ใจดี เดี๋ยวดูคำอธิบายภายหลัง)
6. เงินได้ของผู้ที่ได้รับหุ้นปันผลและเงินปันผล คำนวณได้จากผลรวมของ จำนวนหุ้นปันผลคูณราคาพาร์ บวกกับ เงินปันผล
7. บริษัทมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเงินสดในอัตราร้อยละ 10 โดยคำนวณเงินได้ของผู้ถือหุ้นตามข้อ 6

เอ่อ... เขียนๆ ไปถึงตรงนี้จึงนึกขึ้นได้ว่า มิน่าล่ะเมื่อบริษัทมีการจ่ายปันผลเป็นหุ้นออกมาจึงมักสร้างความงุนงงให้กับนักลงทุนมือใหม่ทุกครั้งไป (มือเก่าบางทียังมึนเลย แต่ทำเป็นพอเข้าใจกล้อมแกล้มไปบ้าง) เพราะมีสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่างเท่าที่นับได้นั่นก็ 7 ข้อแล้ว คราวนี้เรามาดูผลที่เกิดขึ้นกับงบดุลหรืองบแสดงสถานะทางการเงินกันดีกว่าว่าเป็นอย่างไรเมื่อบริษัทจ่ายปันผลเป็นหุ้นพร้อมกับเงินสด

ตัวอย่าง การจ่ายปันผลเป็นหุ้นพร้อมเงินสด

ก่อนการจ่ายปันผล:
สมมติ มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาท, จำนวนหุ้นของบริษัท 100,000 หุ้น, กำไรสะสม 500,000 บาท
สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน
1,500,000 (สมมติว่าทรัพย์สินเป็นเงินสดทั้งหมด) = [(10 x 100,000) ทุนเรือนหุ้น + 500,000 กำไรสะสม] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)

ทำการจ่ายปันผลเป็นหุ้นดังนี้:
อัตราส่วน 5:1 นั่นคือมีหุ้นปันผลทั้งหมด 20,000 หุ้น
บริษัทต้องจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 120,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท
ทุนจดทะเบียนใหม่จะเป็น 120,000 x 10 = 1,200,000 บาท (เงินจำนวน 200,000 บาทที่เพิ่มขึ้นมานี้จะต้องย้ายมาจากส่วนหนึ่งของกำไรสะสม)

  • ในภาพรวมทั้งบริษัท

เงินได้ของผู้ได้รับปันผลเป็นหุ้น (สมมติมีคนเดียว รับไปทั้งหมด) คือ 20,000 หุ้น x ราคาพาร์ 10 บาท/หุ้น = 200,000 บาท
บริษัทต้องจ่ายปันผลเป็นเงินสดอีกเป็นจำนวน 22,222 บาท
รวมเป็นเงินได้ทั้งหมดของผู้ถือหุ้น 200,000 + 22,222 = 222,222 บาท
ซึ่งบริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละสิบ คือ 222,222 / 10 = 22,222 บาท แล้วนำส่งสรรพากร
จะเห็นว่าเงินจำนวน 22,222 บาทนี้เท่ากันกับที่บริษัทจ่ายออกมาเป็นเงินสดพอดี
และก็จะนำส่งสรรพากรไป ผู้ถือหุ้นก็ได้แต่หุ้นใหม่จำนวน 20,000 หุ้นเก็บไว้

  • ในภาพของบุคคล (เวลาเราเสียภาษี คิดแบบนี้จะเห็นภาพของตัวเองได้ดีกว่า)

ถ้าคิดเทียบกับ "จำนวนหุ้นเดิมที่มีก่อนการจ่ายปันผลต่างๆ" คือเดิมทีบริษัทมีหุ้น 100,000 หุ้น
หลังจากจ่ายปันผลเป็นหุ้นที่มีมูลค่ารวม 200,000 บาทไปแล้ว
ก็จะจ่ายปันผลเป็นเงินสดเมื่อเทียบกับหุ้นเดิม 22,222 บาท / 100,000 หุ้นเดิม หรือ 0.2222 บาท/หุ้นเดิม
เงินได้ในรูปของหุ้นปันผล คือ 10 (ราคาพาร์ บาทต่อหุ้นใหม่หนึ่งหุ้น) / 5 (หุ้นเดิม ต่อ หนึ่งหุ้นใหม่) = 2 บาท/หุ้นเดิม
ทำให้ผลประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหุ้นเป็น:
ผลประโยชน์จากหุ้นปันผล 2 บาทต่อหุ้นเดิม + 0.2222 บาทต่อหุ้นเดิม = 2.2222 บาทต่อหุ้นเดิม
บริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 คือ 2.2222 / 10 = 0.2222 บาทต่อหุ้นเดิม
นั่นคือ ตามตัวอย่างนี้ เงินสดที่จ่ายออกมาจะถูกหักภาษีหมดไปพอดี
สิ่งที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจริงๆ คือหุ้นปันผลเท่านั้น


หลังการจ่ายปันผล:
มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาทเท่าเดิม, จำนวนหุ้นของบริษัทเพิ่มเป็น 120,000 หุ้น (มีหุ้นปันผลเพิ่มเข้ามา)
สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน
1,477,778 (สมมติว่าทรัพย์สินเป็นเงินสดทั้งหมด) = [(10 x 120,000) ทุนเรือนหุ้น + (500,000 - 200,000 - 22,222) กำไรสะสม] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)
1,477,778 (สมมติว่าทรัพย์สินเป็นเงินสดทั้งหมด) = [(10 x 120,000) ทุนเรือนหุ้น + (277,778) กำไรสะสม] (ส่วนของผู้ถือหุ้น) + 0 (หนี้สิน)

โดยที่
ก) -200,000 บาท เป็นการหักออกจากกำไรสะสมไปเป็นทุนจดทะเบียน
ข) -22,222 บาท เป็นปันผลที่เป็นเงินสดจ่ายออกมาให้กับหุ้นจำนวน 100,000 หุ้น ซึ่งในตัวอย่างนี้จะตั้งใจให้เท่ากับภาษีที่หักไว้ทั้งหมดเพื่อส่งให้กับสรรพากร ซึ่งถ้าบริษัทไม่จ่ายปันผลเป็นเงินสดควบออกมาด้วย จะทำให้บริษัทไม่รู้จะเอาเงินตรงไหนหักออกไปจ่ายให้กับสรรพากร จึงต้องมีการจ่ายปันผลเป็นเงินสดควบคู่กันเสมอ (เป็นการอธิบายตามข้อ 5 ด้านบน)

จะเห็นว่าโดยรวมแล้ว การจ่ายปันผลเป็นหุ้นนั้นจะทำให้เงินสดส่วนใหญ่ยังอยู่ภายในบริษัท (ตามตัวอย่างคือ ลดจาก 1,500,000 เหลือ 1,477,778 บาท) โดยส่วนที่หายไปก็คือเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องส่งให้สรรพากรนั่นเอง แต่ก็ยังทำให้มีเงินสดเหลือไว้ใช้ในกิจการได้อีกมากก่อนการกู้ยืมและ/หรือเพิ่มทุน

หวังว่าจะทำให้เพื่อนๆ นักลงทุนเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการจ่ายปันผลเป็นหุ้นพร้อมกับเงินสดอีกส่วนหนึ่งนี้นะครับ