เสร็จสิ้นไปหมาดๆ กับการประมูลใบอนุญาตสำหรับคลื่นความถี่ 1800 MHz อายุ 18 ปี และคงทราบผลกันไปแล้วว่าผู้ที่ชนะการประมูลคือตัวแทนจาก AIS และ TRUE ในขณะที่ DTAC และ JAS เป็นผู้ไม่ได้ใบอนุญาตนี้ติดมือกลับบ้านไปด้วย การประมูลนี้ใช้เวลานานข้ามวันข้ามคืนรวม 29 ชั่วโมงโดยที่ตัวแทนจากแต่ละบริษัทถูกจำกัดบริเวณอยู่แยกจากกัน และไม่สามารถออกจากห้องประมูลได้กระทั่งการประมูลสิ้นสุดลง นับว่าโชคดีที่ไม่กินเวลานานหลายวันมากนักเนื่องจากการเคาะราคาถูกทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักทั้งวันและคืน จากการประมูลครั้งนี้เราจะเห็นสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เป็นข้อมูลก่อนการประมูลและหลังจากที่การประมูลได้สิ้นสุดลง เรามาดูข้อมูลก่อนการประมูลก่อนดีกว่า คือ
- ก่อนการประมูล เป็นที่ทราบกันว่า DTAC มีคลื่นครบครันในมือเพียงพอการใช้งาน แต่สัญญาก็จะหมดลงในไม่กี่ปี (พ.ศ. 2561) หากคราวนี้ไม่ได้คลื่นมาเพิ่ม ในวันข้างหน้าก็จะลำบากในการสู้ราคาเพื่อให้ได้ช่วงความถี่มาใช้งาน
- หลายคนเข้าใจว่านี่คือ "การประมูล 4G" แต่ที่จริงแล้วคือการประมูล "สิทธิในการใช้ความถี่ 1,800 MHz ตามช่วงที่ระบุ" นั่นหมายถึงว่าในระยะเวลา 18 ปีนี้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะสามารถนำคลื่นไปใช้กับเทคโนโลยี 3G, 4G, 5G หรืออื่นๆ ตามต้องการได้ (แน่นอน คงไม่มีใครนำไปทำ 3G ซึ่งเริ่มจะล้าสมัยแล้ว)
- ก่อนการประมูล AIS เป็นผู้ที่ดูจะขาดแคลนคลื่นที่สุด (ช่วงคลื่นกว้าง 20MHz) ในขณะที่มีลูกค้ามากที่สุดและเป็นเพียงผู้เล่นรายใหญ่ (ที่สุด) รายเดียวที่ยังไม่มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายในแบบ 4G (4th Generation) และมีเพียง 3G ให้บริการบนช่วงคลื่น 2100 MHz ที่แน่นอึดอัดจนทำให้ลูกค้าหลายรายย้ายหนีไปค่ายอื่น การประมูลครั้งนี้จึงเป็นที่ทราบกันว่า AIS อยู่ในสภาพที่ "ต้องเอาให้ได้" แต่ก็โชคดีอยู่ตรงที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่ "เงินหนา" ที่สุด
- ก่อนการประมูล TRUE ดูจะเป็นผู้ที่พอมีพอกินในจำนวนคลื่นที่มี (ความกว้าง 50 MHz) การเข้ามาประมูลตรงนี้ถูกมองว่าเป็นการกีดกันคู่แข่งไปด้วยในตัว จริงๆ แล้วทรูคงรู้ดีว่า AIS เงินหนากว่าและคงจะได้ไปด้วยในที่สุด ดังนั้นตัวเองก็คงอยากได้คลื่นเพื่อกันทั้ง DTAC (มีคลื่นช่วงกว้าง 30MHz) ซึ่งกำลังขับเคี่ยวเพื่อครองอันดับสองให้ได้อย่างมั่นคง และ JAS ที่เป็นผุ้เล่นหน้าใหม่ไม่ให้เข้ามาในตลาด อย่างไรก็ตามปัญหาของ TRUE ก็คือเงินที่จะนำมาจ่ายค่าใบอนุญาต โดยถูกมองว่าถ้าไม่ขอบริษัทแม่ก็คงต้องหาวิธีการเพิ่มทุน (หรือการได้มาของเงินด้วยวิธีอื่น - กู้ ก็คงยาก หรือด้วยดอกเบี้ยที่สูงมาก)
- JAS เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาประมูล ยังนึกไม่ออกว่าถ้าได้คลื่นไปจะเริ่มต้นอย่างไร เพราะมองดูเพื่อนรุ่นล่าสุดอย่าง TRUE ที่กว่าจะมีคลื่น มีเสา มีลูกค้า กินเวลานานนับสิบปีแต่ก็ยังไม่สามารถทำกำไรมากพอที่จะชดเชยการขาดทุนสะสม (ต้องใช้วิธีเพิ่มทุน ลดพาร์ มาช่วย) รวมทั้งยังไม่สามารถจัดการกับส่วนต่ำมูลค่าหุ้นได้ ดังนั้นสำหรับ JAS แล้วแม้จะมีวิธีการหาเงินจากการเพิ่มทุนหรือการออกกองทุนพื้นฐานต่างๆ ก็ยังมองไม่ออกชัดเจนว่าจะทำกำไรได้มากพออย่างไรและเมื่อไร
- ใบอนุญาตช่วงคลื่นที่ 1 ราคา 39,792 ล้านบาทโดย TRUE (บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด)
- ใบอนุญาตช่วงคลื่นที่ 2 ราคา 40,986 ล้านบาทโดย AIS (บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด)
- รวมทั้งสิ้น 80,778 ล้านบาท
- ราคาประมูลสุดท้ายของผู้ที่ไม่ชนะคือ
- 38,996 ล้านบาทโดย JAS (บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด)
- DTAC 17,504 ล้านบาท (บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด)
- DTAC หยุดเคาะประมูลที่ราคาต่ำมาก นั่นอาจจะหมายความว่าตัวเองไม่อยากได้คลื่น 1800 MHz นี้ในเวลานี้ หรือต้องการเก็บเงินไว้ทำอย่างอื่น หรือแม้แต่ไม่มีเงินและไม่อยากจ่ายเงินนี้ในเวลานี้
- AIS ได้คลื่นไปสมใจ เป็นช่วงคลื่นที่ 2 ที่แพงกว่าช่วงคลื่นแรกที่ TRUE ได้ไปอยู่ 1,194 ล้านบาท ถามว่าทำไมราคาคลื่นนี้จึงแพงกว่า จะเป็นเพราะ AIS ไม่ฉลาดหรือ คำตอบคือไม่ใช่ แต่เป็นเพราะคลื่นในช่วงที่ 2 มีคุณสมบัติที่ดีกว่า อยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าไม่ติดกับขีดจำกัดด้านต่ำของช่วงคลื่น และความถี่สูงขึ้นจากช่วงคลื่นที่ 2 นี้เป็นคลื่นที่กำลังจะหมดอายุสัญญาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หากคนที่ได้ครอบครองคลื่นช่วงที่ 2 สามารถไปครอบครองคลื่นความถี่สูงกว่าที่ติดกันด้วยได้ ก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบมากในเชิงธุรกิจต่อไป เมื่อคิดถึงประเด็นนี้กับราคาที่สูงกว่า 1,194 ล้านบาทที่ตัวเองสามารถจ่ายเพิ่มได้อย่างสบายแล้ว นับว่าคุ้ม ในขณะที่ TRUE ก็คงพอใจที่จะได้คลื่นในช่วงที่ 1 เพราะอย่างน้อยก็กันคู่แข่งออกไปได้อีก 1 ราย (การจะกัน AIS นั้นคงรู้ดีว่าเป็นไปได้ยากมาก)
- JAS ในที่สุดก็หยุดเพิ่มราคา แต่ก็นับว่าทำให้ราคาประมูลเพิ่มสูงขึ้นมาได้มากทีเดียว เพราะหาก DTAC และ JAS หยุดเคาะราคาไปตั้งแต่ 17,000 - 18,000 ล้านบาท ราคาประมูลสุดท้ายของทั้งสองสัญญาก็คงจบลงที่สัญญาละไม่เกิน 20,000 ล้านบาทเป็นแน่ เนื่องจากทั้ง AIS และ TRUE ก็คงรู้ได้จากการเคาะราคาว่าเหลือเพียงสองเจ้าเท่านั้น และหากไม่ได้แย่งช่วงคลื่นเดียวกัน การประมูลก็จะจบลงทันที
หลายคนอาจจะเห็นตัวเลขแล้วตกใจอยู่ไม่น้อย อย่างน้อยก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นจากราคาเริ่มต้นที่ 15,912 ล้านบาทไปมากพอสมควร แต่ถ้าเราดูรายได้ของบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่อย่าง AIS แล้ว จะเห็นว่าราคานี้ไม่แพงเลย เพราะ
- ใบอนุญาตนี้มีอายุ 18ปี (2558-2575)
- ราคา 40,986 ล้านบาทจึงคิดเป็นประมาณ 2,277 ล้านบาทต่อปี
- หันมามองรายได้และกำไรสุทธิของ AIS อยู่ในระดับ 150,000 และ 35,000 ล้านบาทตามลำดับ โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นกว่า 40%
- นั่นหมายความว่าค่าใบอนุญาตนี้คิดเป็นรายจ่ายเพียง 1.5% ของยอดขายเท่านั้น หรือแม้จะคิดค่าเงินตามเวลาด้วยก็คงไม่เกิน 2% ไปนัก
- ในเวลาที่ผ่าานมา บริษัทเองก็มีค่าใช้จ่ายในด้านของค่าสัมปทานอยู่ ดังนั้นเมื่อตัดส่วนนั้นออกไปและจ่ายค่าใบอนุญาตแทน ก็ทำให้มีรายจ่ายไม่ผิดจากเดิมไปสักเท่าไร
- AIS คงรีบเร่งนำคลื่น 1800 MHz ที่ได้ใบอนุญาตมาจัดการให้บริการ 4G กับลูกค้า และหวังว่าลูกค้า 3G บนคลื่น 2,100 MHz ของตัวเองที่เต็มจนล้นจะย้ายมาที่ระบบ 4G บ้าง
- โดยส่วนตัวแล้ว ผมจึงเห็นว่าราคานี้สำหรับ AIS แล้วไม่แพงเลย คิดดูง่ายๆ ว่าถ้าสามารถมีลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ 5% (และสมมติต่อว่ามีรายได้มากขึ้น 3%) เพียงเท่านี้ก็คุ้มค่าใบอนุญาตแบบสบายๆ ไม่นับโอกาสอื่นๆ ที่จะตามมาอีก
- ราคานี้นับว่าต้องหาเงินมาเพิ่มเติมเป็นแน่นอน นักลงทุนคงต้องคอยติดตามว่าบริษัทจะหาเงินมาจากแหล่งใดในการจ่ายค่าใบอนุญาต
- อย่างน้อย TRUE สามารถกันคู่แข่งออกไปได้หนึ่งเจ้า เราคงต้องติดตามต่อว่าจะทำอย่างไรกับคลื่นนี้ต่อไป เพราะดูว่าจำนวนคลื่นที่มีอยู่ยังเพียงพออยู่อย่างสบาย
- TRUE เองคงพยายามเติบโตต่อไป แต่คงไม่ใช่เพราะว่าคลื่นที่กว้างขึ้น (เพราะตอนนี้มีมากเกินพอเมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้าในมือ) แต่ควรเป็นด้านการไว้ใจได้และการบริการที่ดีขึ้นในอนาคต
ในไม่นานนี้ก็จะมีการประมูลคลื่นอีกช่วงหนึ่งคือ 900 MHz ที่ต้องติดตามต่อไปว่าผู้เล่นรายใดจะยอมจ่ายในจำนวนเท่าใด แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่คิดว่า JAS จะสู้มากเท่าไรในความถี่นี้ เพราะหากอยากได้จริงๆ ก็คงอยากได้ทั้ง 1800 และ 900 MHz มากกว่าเพื่อตั้งท่าสู้ให้เต็มที่ และในเมื่อไม่ได้คลื่น 1800 MHz มาไว้ในมือแล้ว จะเปลี่ยนแผนเป็นการทำ 900 MHz เล็งไปที่พื้นที่ห่างไกลกระนั้นหรือ มันจะผิดจากที่วางแผนไว้อย่างไรก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป เมื่อหันมามองทาง DTAC ในเมื่อยอมวางมือกับคลื่น 1800 MHz ไปตั้งแต่ต้นแบบนั้น ถ้าไม่คิดไม่อยากได้คลื่น 1800 แต่อยากได้คลื่น 900 MHz มาไว้ในมือแทนแล้วล่ะก็ คงไม่แข่งขันดุเดือดมากนัก ในขณะที่ทาง TRUE เองก็คงพยายามรวบรวมเอาคลื่นมาไว้ในมือให้มากที่สุดเช่นเดิม และแน่นอนว่า AIS คงอยากได้คลื่น 900MHz นี้เช่นกันโดยอาจจะเล็งไปที่การให้บริการในพื้นที่ห่างไกล เสริมกับความได้เปรียบที่มีชื่อเสียงในด้านการครอบคลุมพื้นที่ให้บริการที่มีมาช้านาน
คงต้องติดตามกันต่อไปครับ