วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แรงนักจับขังซะเลย


ในหลายโอกาสเราอาจจะเห็นหุ้นที่มีการซื้อขายกันอย่างร้อนแรงซึ่งโดยปกติแล้วตลาดหลักทรัพย์และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลนักลงทุนโดยทั่วไปให้อยู่ในความเสี่ยงในระดับที่พอประมาณและสามารถยอมรับได้ ดังนั้นเมื่อมีหลักทรัพย์บางหลักทรัพย์ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นหุ้นแต่อาจจะเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิ์ต่างๆ ก็ตาม มีการซื้อขายกันมากผิดสังเกตในระดับราคาที่อาจจะสูงเกินไป ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จะมีมาตรการในการปกป้องนักลงทุนและการลงทุนในหลักทรัพย์เหล่านั้น

สำหรับหลักการโดยทั่วไปแล้วก็คือหากหลักทรัพย์ประเภทหุ้นมีราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) สูงมาก (เช่นมากกว่า 50) และมีการซื้อขายสูงมากผิดปกติ (เช่น เฉลี่ยมากกว่า 500 ล้านบาทในเวลา 5 วันทำการ) หรือถ้าเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิในการแปลงเป็นหุ้นสามัญ (warrant - วอแร้นท์) มีราคาสูงเกินมูลค่ายุติธรรมไปมาก (มี premium มากเกินไป) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จะเริ่มเพ่งเล็งถึงความผิดปกตินี้ และมีมาตรการ ออกมากำกับในหลายระดับ เช่น
  • ระดับ1 ให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ด้วยบัญชีแบบ Cash Balance (คือต้องใช้เงินสดซื้อ) เท่านั้น ถ้าเป็นความผิดปกติแบบ Trading Alert ก็โดนขัง 3 สัปดาห์ และ 6 สัปดาห์สำหรับ Turnover List
  • ระดับ2 ให้ซื้อขายได้ด้วยบัญชีแบบ Cash Balance เท่านั้นและห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย ใช้ในกรณีที่ถูกปล่อยตัวมาแล้วแต่ทำผิดซ้ำในระยะเวลา 1 เดือน ก็จะถูกขังในระดับ 2 นี้
  • ระดับ3 คือให้ซื้อขายได้ด้วยบัญชีแบบ Cash Balance เท่านั้น ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย แถมด้วยห้าม Net settlement ด้วย จะใช้กับหลักทรัพย์ที่มีปริมาณการซื้อขายผิดปกติซ้ำแล้วซ้ำอีก เรียกว่าโดนปล่อยจาก ระดับ2 แล้วก็ยังทำผิดอีก ก็โดนมาตรการนี้ไป
โดยที่
  • Cash Balance: นักลงทุนต้องวางเงินสดล่วงหน้าเต็มจำนวนที่จะซื้อหลักทรัพย์
  • ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย: ห้ามใช้หลักทรัพย์นั้นเป็นหลักประกันการกำหนดวงเงินการซื้อขาย (ทุกประเภทบัญชี)
  • ห้าม Net Settlement: การซื้อและขายหลักทรัพย์ในวันเดียวกัน เงินรับจากการขายจะไม่คืนเป็นวงเงินซื้อในวันนั้น
เรียกว่า ถ้าหลักทรัพย์ใดโดนมาตรการเหล่านี้ก็เหมือนกับถูกจับขังชั่วคราว โดยขึ้นเครื่องหมายหลังหลักทรัพย์นั้นเช่น T1 (ระดับ1) และจะถูกขังโหดแค่ไหน นานแค่ไหน ทำอะไรได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ความร้อนแรงแปลกๆ ที่ถูกจับตามองเห็นล่ะครับ

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ในหลายกรณีมาตรการเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์ที่ปกป้องนักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปซื้อขายหุ้นที่ถูกทำราคาขึ้นมาสูงผิดปกติเกินพื้นฐานไปมากเกินจริง (เช่น ซื้ออนาคตกัน 10-20 ปีเป็นต้น) หรือแม้แต่ขึ้นตามข่าวที่ไม่มีมูลความจริง หุ้นเหล่านี้มักถูกผู้มีหุ้นในมีอมาก เงินมาก พรรคพวกมาก ข้อมูลมาก ซื้อขายได้มากด้วยค่านายหน้าอัตราพิเศษ (ผมไม่ได้เรียกว่าเจ้ามือนะ ฮา..) "เทขายทิ้ง" ไปตั้งแต่เมื่อรู้ว่าจะถูก "ขัง" แล้ว และเมื่อถูกขังราคาก็คงไหลรูดเอาๆ เพราะหมดคนซื้อในราคาสูงขึ้นเรือ่ยๆ ซึ่งจะทำให้ราคาสูงได้ (นี่ก็เหมือนกัน ผมไม่ได้บอกว่า ดันราคา นะ)

ในทางตรงกันข้ามหากเป็นหุ้นของบริษัทที่มีพื้นฐานดี มีแผนการเติบโตสูงที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังคงอยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั้งรายย่อยรวมทั้งรายใหญ่ การตกอยู่ในสภาพถูกขังก็อาจจะไม่ได้เป็นปัญหากับราคาที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางสะท้อนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตสักเท่าใดนัก ในทางตรงกันข้ามเมื่อปริมาณการซื้อขายลดน้อยลงมาก หากมีผู้ต้องการหุ้นแต่อาจจะยังซื้อไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการ ก็อาจจะมีวิธีในการทำให้ราคาต่ำลงมาเพื่อมีโอกาสในการซื้อหุ้นเก็บในต้นทุนต่ำให้ได้มาก หรือหากไม่คิดว่าราคาในกระดานจะแพงเกินไปและยอมซื้อทันทีในราคาตลาดในปริมาณมากก็ย่อมจะต้องยอมสู้ราคาที่ค่อยๆ ขยับสูงขึ้นโดยง่ายจากสภาพคล่องที่ต่ำลงนั่นเอง (ก็ดีกว่าไม่ได้ซื้อ แล้วหุ้นก็ขยับราคาสูงหนีขึ้นไปเรื่อยๆ)

พูดโดยรวมก็หมายความว่าถ้านักลงทุนรู้จักธุรกิจดี ลงทุนด้วยเงินส่วนเหลือ ใจเย็น มีเวลาเป็นเพื่อนที่ดีได้ และรู้จักมูลค่าที่เหมาะสมของธุรกิจนั้นดี ถ้ามีหุ้นในมือครบก็อาจจะอยู่เฉยๆ หรือถ้าบังเอิญหุ้นถูกทำราคาลงต่ำกว่าค่าของมันในระหว่างที่ผู้คนกลัว ก็อาจจะสามารถใช้สภาพถูกจับขังให้เป็นประโยชน์ได้ (ซื้อเพิ่ม) เพราะในที่สุดแล้วราคาก็จะสะท้อนความ สามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตนั่นเองครับ