วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วิกฤตน้ำมัน



เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น จำได้ว่าเมื่อก่อนนั้นผมยังเติมน้ำมันลิตรละ 7-8 บาทอยู่เลย เรียกว่า 450 บาทนั้นทำให้ถังน้ำมันของรถเล็กๆ ล้นแล้วล้นอีกก็ว่าได้ แล้วน้ำมันก็เพิ่มราคาขึ้นอย่างมากจนทำให้ประเทศหลายประเทศรวมทั้งรัสเซียมีรายได้เป็นกอบเป็นกำและสามารถพัฒนาประเทศขึ้นได้มาในระยะเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา (ถ้าย้อนลงไปดูจะเห็นบทความเรื่อง มือเก่าหัดขับพาเที่ยวรัสเซีย ที่ผมเขียนไว้ก่อนหน้านี้)

ถ้าจะว่าไปแล้ว กลไกของราคาน้ำมันน้ำซับซ้อนมาก มีทั้งอุปสงค์ อุปทาน ความคาดหวังในของสองอย่างที่กล่าวมา และการเก็งกำไรที่ประกอบไปด้วยผู้ขายที่อยากได้ในราคาที่ตัวเองต้องการ และนักเก็งกำไรที่คาดการณ์ไปในทิศทางต่างๆ กัน ถ้าจะว่าไปแล้วราคาน้ำมันในช่วงสูงสุดระดับ 120-140 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลนั้นก็ "เกินไป" ในความคิดของผม (และผมได้เตือนเพื่อนหลายคนว่า ถ้าน้ำมันราคาต่ำกว่า 100 เหรียญ ลองพิจารณาขายตัดขาดทุนด้วย) ถ้าเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะสัมพันธ์กับอุปสงค์ (demand) และอัตราเงินเฟ้อต่างๆ แล้ว ในความคิดส่วนตัวผมคิดว่าน้ำมันน่าจะมีราคาในระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ซึ่งน่าจะเป็นราคาที่ทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุข

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา น้ำมันลดราคาลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ที่ต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล (Nymex USD37-38) ถือว่าเกินกว่าที่ผมคาดการณ์ไว้พอควร อันที่จริงในฐานะนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการหรือ VI (Value Investor) แล้ว ผมไม่เคยพยายามคาดการณ์ราคาน้ำมันเพื่อการลงทุน อาจจะคิดเล่นๆ ว่าควรเป็นเท่านั้นเท่านี้แต่ก็ไม่ยุ่งกับการพยายาม "หารายได้" จากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันเพราะโดยส่วนตัวคิดว่ามีโครงสร้างที่ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจได้ (จำได้ไหมครับ อะไรที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ คือเสี่ยง) แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าการที่ราคาน้ำมันลดลงมาขนาดนี้ สาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้คือ
  1. จุดสมดุลของ อุปสงค์-อุปทาน (demand-supply) เปลี่ยนไปมากกว่าที่จะป็นเพราะ supply มากเกินไป แต่เป็นเพราะ demand ลดน้อยลงมากนั่นเอง และอีกความเป็นไปได้คือ
  2. การตกใจจากการคาดการณ์ว่าน้ำมันจะลดราคาลงไปเรื่อยๆ เพราะในการประชุมของผู้ผลิตน้ำมันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันอื่น เช่น อเมริกา ก็ไม่ยอมลดกำลังการผลิตลง ทำให้ OPEC ก็ไม่ยอมลดกำลังการผลิตด้วยเช่นกัน ทำให้ตลาดราคาล่วงหน้าปั่นป่วน (ทุบราคาล่วงหน้ากันเอง)
คราวนี้มาคอยดูฝั่งอุปสงค์กันบ้าง ถ้ายังไม่เปลี่ยนโครงสร้าง (คือ ราคาที่ต่ำลงไม่ได้กระตุ้นการใช้งานให้มากขึ้น) ราคาน้ำมันก็คงลงต่อไปจนถึงจุดที่เป็นต้นทุนการผลิต "จริงๆ" ของการขุดเจาะน้ำมัน (ที่เคยบอกว่ามีต้นทุน 50-60 เหรียญต่อบาเรลนั้น ผมไม่เคยเชื่อมาแต่ต้นแล้ว) โดยโครงสร้างของต้นทุนอาจจะต่ำลงเนื่องจากไม่มีการสำรวจเพิ่ม ใช้น้ำมันบ่อเก่าเป็นหลัก หรืออาจจะเพราะการขุดเจาะได้ผลดีมากขึ้นมีค่าใช้จ่ายต่ำลง หรือผสมกัน ก็ทำให้ต้นทุนไม่สูงมากนักนั่นเอง เดี๋ยวคราวหน้าอาจจะคุยกันเรื่องผลกระทบของราคาน้ำมันกันต่อครับ