วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ศึก-สงครามคลื่นมือถือ


ในที่สุดก็จบกันไปแล้วนะครับสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ตลอดระยะเวลาสองสามเดือนที่ผ่านมาราคาของหุ้นกลุ่มสื่อสารทั้งหมดดูเหมือนจะถูกกดดันและรอผลการประมูลให้เสร็จสิ้นเสียก่อน สำหรับผลการประมูลของคลื่นทั้ง 1,800  และ 900 MHz ก็คงเป็นที่รู้กันกับทุกท่านแล้วนะครับโดยผู้ที่ชนะการประมูลคลื่น 1,800 MHz คือ AIS และ TRUE ในขณะที่ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz คือ TRUE และ JAS (แม้การส่งบริษัทเข้าประมูลจะเป็นในนามบริษัทอื่นแต่ก็เป็นตัวแทนโดยตรงของผู้ให้บริการหลักทั้ง 4 ราย ดังนั้นผมจึงขอเรียกชื่อของผู้ที่ได้ชนะการประมูลเป็นชื่อของผู้ให้บริการหลักนะครับ)

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายประเด็นที่เราน่าจะนำมาพิจารณากันนอกจากประเด็นทางด้านธุรกิจแล้วก็ยังเห็นถึงประเด็นด้านแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทอีกด้วย โดยเราสามารถพิจารณาแยกกันแต่ละบริษัทได้ดังนี้

1) DTAC
ก่อนเริ่มการประมูลทั้งสองคลื่น ดูเหมือนว่าบริษัทนี้เป็นผู้ที่ต้องการที่จะได้คลื่นมาครอบครองในมือให้ได้ เนื่องจากว่าอายุของการครอบครองคลื่นจะหมดไปในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2561) เมื่อถึงตอนนั้นก็จริงอยู่ที่จะมีการนำคลื่นมาประมูลกันอีก แต่ก็มีคำถามว่าถ้าประมูลไม่ได้ล่ะ หรือถ้าไม่ได้คลื่นครบตามจำนวนที่ต้องการจะเป็นอย่างไร และแม้ว่าจะได้คลื่นทั้งหมดที่หลุดมือไปกลับมาจะต้องใช้เงินมากมายเท่าใด แต่สุดท้ายบริษัทก็ไม่สามารถเสนอราคาที่สูงพอที่จะเป็นผู้ชนะในการประมูลคลื่นทั้งสองได้แม้แต่คลื่นเดียว ความหวังก็มีอยู่เพียงแต่ว่าจะต้องได้ขึ้นในการประมูลครั้งต่อไปให้ได้ ซึ่งหนทางเป็นไปได้ก็คือบริษัทคู่แข่งบางรายที่กำลังจะมีค่าใช้จ่ายในปี พ.ศ. 2562 ประมาณรายละ 60,000 ล้านบาทก็หวังว่าคงจะไม่สามารถเสนอราคาเพื่อกีดกันได้สูงมากนัก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์ในเวลาต่อไป ในระหว่างนี้บริษัทก็คงต้องตั้งหน้าตั้งตารักษาลูกค้าเดิมพยายามสร้างเครดิตเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในกรณีที่จำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากไว้เตรียมสู้ราคาของการประมูลคลื่นที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก 3 ปีครั้งหน้า

2) TRUE
ก่อนการประมูลดูเหมือนว่าบริษัทนี้จะเป็นผู้เล่นรายเดียวที่ยังไม่เดือดร้อนเรื่องจำนวนคลื่นและระยะเวลาที่กำลังจะหมดสัญญาในการครอบครองคลื่นต่างๆ ที่สุด แต่ก็ไม่เกินความคาดหมายของนักลงทุนและตลาดว่าโดยปกติของการทำธุรกิจของบริษัทแล้วดูเหมือนจะชอบในการผูกขาดและกีดกันคู่แข่งใหม่ ไม่ให้เข้ามาร่วมแข่งขันในตลาด หรือแม้กระทั่ง พยายามกีดกันคู่แข่งที่อยู่ในตลาดแต่เดิมให้ออกไป ถ้าจะว่าไปแล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาในการทำธุรกิจแต่อะไรก็ตามที่เกินงามเกินควรเกินไปก็อาจจะดูขัดสายตากับผู้คนธรรมดามากไปสักนิด ภายหลังจากการประมูลปรากฏว่าบริษัทเป็นผู้ชนะทั้ง 2 คลื่น สิ่งที่ตามมาก็คือรายจ่ายจำนวนมหาศาลกว่า 116,090 ล้านบาท โดยราคาขนาดนี้กับจำนวนลูกค้าที่มีและโดยส่วนตัวผมก็ไม่คิดว่าจะเพิ่มได้มากมายจากจำนวนคลื่นที่มากขึ้นเพราะคลื่นเดิมที่มีอยู่ก็ไม่ได้ขาดแคลนอะไร จึงเป็นภาระหนักหนาที่ต้องตอบคำถามว่าจะนำเงินจากไหนมาจ่ายค่าใบอนุญาต ก็คงไม่พ้นที่จะต้องเพิ่มทุนถ้าการกู้เพิ่มไม่สามารถทำได้เนื่องจากหนี้สินเดิมมีอยู่มากแล้ว คำถามต่อไปก็คือจะเพิ่มจำนวนลูกค้าอย่างไรที่จะมีผลกำไร ครอบคลุมรายจ่ายที่เกิดขึ้น ถ้าจะว่ากันตามตรงเหนื่อยไม่น้อยเลยทีเดียวและจากสถานะทางการเงินรวมทั้งความสามารถในการทำกำไรปัจจุบันบริษัทก็อาจจะไม่สามารถจ่ายปันผลได้อีกในระยะเวลายาวนานพอสมควรทีเดียว

3) JAS
เรียกว่าเหนือความคาดหมายก็คงจะไม่ผิดเท่าไรเนื่องจากว่าเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่ยื่นราคาประมูลค่อนข้างสูงเอามากๆคราวที่ประมูลคลื่น 1800 MHz แม้ว่าจะผิดหวังไปในครั้งนั้น แต่ในคราวประมูลคลื่น 900 MHz บริษัทนี้กลับมาใหม่โดยส่งตัวแทนเข้าเสนอราคาเพียง 3 คนเท่านั้นในขณะที่คนอื่นส่งเข้าจำนวน 10 คนตามที่ผู้จัดการประมูลอนุญาต สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือบริษัทสามารถชนะการประมูลมาได้สมใจ แต่คำถามต่อไปคือในระดับราคานี้คือ 75,654 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าสองเท่าของมูลค่าการตลาดของบริษัทเอง (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันที่ 18 ธ.ค. 2558 คือ 34,098 ล้านบาท) ในขณะที่ตัวเองไม่มีทรัพยากรใดๆ เลย รวมทั้งไม่มีลูกค้าในมือแม้แต่รายเดียวบริษัทจะทำอย่างไรที่จะมียอดขายและสร้างกำไรจนถึงจุดคุ้มทุนได้ และใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะไปถึงจุดนั้นได้ เพราะถ้ามองย้อนดูรุ่นพี่ล่าสุดอย่าง TRUE กว่าจะดำเนินธุรกิจจนถึงระดับที่พอจะสร้างกำไรได้ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มทุนมานับครั้งไม่ถ้วน หลายคนรวมทั้งนักวิเคราะห์หลายสำนักดูเหมือนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้เล่นรายใหม่จะทำให้ตลาดเกิดความปั่นป่วนเนื่องจากอาจจะเสนอราคาค่าบริการที่ต่ำจนกระทั่งผู้ให้บริการรายอื่นจะต้องลดราคาลงมาตรงจุดนี้ผมค่อนข้างเห็นแย้งเป็นตรงกันข้ามเพราะโดยทั่วไปแล้ว ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการไม่ควรจะเลือกต่อสู้ด้วยสงครามราคาถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นผู้นำในการมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่มีอะไรอยู่ในมือเลยค่าใช้จ่ายของตัวเองจะสูงมาก การใช้สงครามราคามาเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้ในระยะแรกนั้นผมมองว่าเป็นการฆ่าตัวตายเร็วขึ้นเท่านั้นเอง สิ่งที่ควรทำคือการหาพันธมิตรและเติบโตไปด้วยกัน ที่จริงผมก็ค่อนข้างแปลกใจว่าทำไมไม่หาพันธมิตรเสียตั้งแต่นอกห้องประมูลโดยที่ไม่ต้องเดินเข้ามาในห้อง บางความเห็นผมนับว่าเป็นผู้เล่นที่น่าสนใจแต่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ค่อยค่อยคิดที่จริงแล้วบริษัทไม่น่าจะกลัวคู่แข่งที่มีอยู่ในปัจจุบันหรอกแต่บริษัทควรจะกลัวสภาพของอุตสาหกรรมที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันมากกว่าในการที่ตัดสินใจเข้ามาแต่ก็ไม่แน่นะครับอาจจะมีกลยุทธ์เหนือความคาดหมายอย่างอื่นซ่อนอยู่ก็ได้ ดังนั้น ณ วันนี้เราจึงต้องติดตามต่อไปว่าจะเติบโตได้มากมาย หรืออยู่ในลักษณะของผู้ให้บริการเช่น CAT และ TOT ที่จะว่าไปก็มีลูกค้าของตัวเองอยู่แต่ไม่มีผลกับผู้เล่น 3 รายหลักสักเท่าไร

4) AIS (ADVANC)
บริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz ซึ่งทำให้แรงกดดันด้านจำนวนคือไม่พอใช้ลดลงไปมาก โดยมีแผนจะนำคลื่นที่ประมูลได้ไปให้บริการ 4G สนนราคาที่ได้มาก็ประมาณ 40,986 ล้านบาทนับว่าไม่แพงกับ bandwidth ที่ได้และระยะเวลา 18 ปีของใบอนุญาต มาถึงการประมูลคลื่น 900 MHz ที่ใครใครก็ต่างคิดล่วงหน้าไว้ว่าบริษัทจะต้องเสนอราคาจนได้ขึ้นมากครอบครองให้ได้เนื่องจากตัวเองมีชื่อเสียงและข้อได้เปรียบที่มีคุณภาพสัญญาณที่ดีครอบคลุมได้เกือบทุกพื้นที่ในประเทศ ซึ่งเหตุผลทางวิศวกรรมเบื้องหลังก็คือการทำงานกับคลื่น 900 MHz ภายใต้สัญญาสัมปทานกับ TOT แต่เมื่อจบการประมูลปรากฏว่าบริษัทเลือกที่จะหยุดเสนอราคาเกินกว่า 75,976 ล้านบาทโดยให้เหตุผลว่าได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบแล้วว่าที่ระดับราคาขนาดนี้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน (ก็เป็นที่น่าคิดทันทีว่าขนาดรายใหญ่หมายเลข 1 ยังบอกว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน แล้วราคานี้จะไม่ยิ่งแพงมากไปสำหรับคู่แข่งรายอื่นๆ หรือ) ถ้าจะว่ากันตามตรงการตัดสินใจของผู้บริหารก็มีส่วนถูกต้อง เพราะเงินขนาดนี้สามารถตั้งธุรกิจใหญ่ๆ ได้ 2 ถึง 3 ธุรกิจเลยทีเดียว ไปกินตลาดที่ไม่เป็นทะเลสีแดงแบบนี้น่าจะเข้าท่ากว่า นอกจากนั้นก็ยังสามารถนำเงินไปทำโปรโมชั่นและแคมเปญดีๆ ให้ลูกค้า หรือขยายโครงข่ายที่ตัวเองได้สัมปทานให้มีคุณภาพที่ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าคลื่น 900 MHz หรือนำไปพัฒนาจากระบบรับส่งข้อมูลแบบมีสายผ่านใยแก้วนำแสงที่มีอยู่ให้ดีขึ้น  และถ้ายังรักษาส่วนแบ่งการตลาดได้หรือแม้แต่เติบโตขึ้นจากลูกค้า 4G มากขึ้น ทำแบบนี้ซัก 3 - 4 ปีผู้เล่นหน้าใหม่ก็หน้ามืดแล้วล่ะครับ นอกจากนั้นบริษัทยังมีทางเลือกในการตกลงกับคู่สัมปทานเดิมคือ TOT ในการนำคลื่นที่มีอยู่มาใช้งาน ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จริงก็นับว่าบริษัทมีคลื่นมากมาย มีทรัพยากรมากเกินพอในการให้บริการและขยายปริมาณลูกค้าด้วย ในขณะที่บริษัทไม่ได้สร้างหนี้มากมาย มีกระแสเงินสดที่ดี มีทรัพยากรพอใช้และยังมีทางเลือกในการประมูลคลื่นใหม่ๆ ที่กำลังจะตามมาในอีกหลายหลายปีข้างหน้า นั่นก็คือการตัดสินใจของผู้บริหารของบริษัท (ส่วนแพงไปไหม ลองอ่านตรงหมายเหตุด้านล่างนี้ก็ได้ครับ)

คิดนอกกรอบ

เงิน 75,000 ล้านบาทไม่ใช่เงินจำนวนน้อย ถ้าบริษัทต่างๆ สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้อย่างมีกำไรตามสมควร เติบโตได้อยู่แล้วตามสมควร และยั่งยืนอยู่ได้ตามสมควร การนำเงินจำนวนนี้ไปทำอย่างอื่นจะได้ประโยชน์กว่าไหมย่อมเป็นคำถามที่ผู้บริหารที่ดีจะต้องถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก็เปรียบเหมือนมีใครสักคนหนึ่งโยนเงินก้อนนี้มาให้ ผู้บริหารจะไปทำอย่างไรต่อ? จะเห็นว่ามีหลายทางเลือก จะลงทุนของเดิมของตัวเองในทางลึกจะได้ผลตอบแทนเท่าไร ลงทุนในทางกว้างจะได้ผลตอบแทนเท่าไร หรือแม้แต่นำเงินไปลงทุนในบริษัทอื่นจะได้ผลตอบแทนเท่าไร เงินจำนวนนี้ถ้านำไปลงทุนในบริษัทอื่นที่มี ROE (Return On Equity) สัก 15-20% จะได้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในทางลึก (ทั้งที่ไม่จำเป็น) หรือไม่ เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าผู้บริหารบริษัทที่ฉลาดย่อมถามตัวเองก่อนเสมอด้วย

แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

เราคงไม่สามารถบอกได้ในทันทีว่าใครจะเป็นผู้ที่ชนะในสงครามนี้ เพราะถ้าดูจากผลการประมูลก็คงมีคนที่ดูเหมือนว่าจะชนะหรือแพ้ศึกบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดเนื่องจากว่าของที่แต่ละคนมีอยู่และไม่มีอยู่นั้นต่างกัน ผู้ที่ชนะคงเป็นผู้ที่สามารถสร้างยอดขายที่สูงขึ้นในขณะที่รักษาอัตรากำไรได้เท่าเดิมหรือดีขึ้น มีคุณภาพของงบการเงินที่ดี มีสัดส่วนระหว่างทุนและหนี้ตามสมควร มีกระแสเงินสดต่างๆ ดี มีการลงทุนที่ดีในจำนวนพอเหมาะและให้ผลตอบแทนดี เมื่อเวลาผ่านไปงบการเงินและการปรับตัวจะเฉลยทุกอย่างให้นักลงทุนได้ทราบแต่ในวันนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะตัดสินใจว่าควรจะลงทุนหรือไม่ลงทุนในหุ้นกลุ่มไหน ในบริษัทใด ในจำนวนเท่าใด ขอให้ทุกท่านมีความสุขและโชคดีในการลงทุนครับ

หมายเหตุ:

ราคาชนะประมูลครั้งนี้เหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย จนมีข้อสงสัยว่าเป็นราคาที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ หรือไม่ จากรายงานการศึกษาของ ITU เพื่อประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ในการจัดประมูลครั้งนี้ พบว่า เมื่อทำการรวบรวมผลการประมูลในประเทศต่างๆ (ซึ่งอาจไม่ครบทุกประเทศ จึงไม่สามารถยืนยันเป็นสถิติโลกได้) พบว่าราคาคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ประมูลสูงสุดในอดีต คือ การประมูลที่ฮ่องกงเมื่อ พ.ศ.2554 มีราคาคลื่นเฉลี่ยต่อหน่วยที่ประมาณ 64 บาทต่อเมกะเฮิรต์ซต่อประชากร ส่วนราคาชนะประมูลของไทยอยู่ที่ประมาณ 57 บาทต่อเมกะเฮิรต์ซต่อประชากร จะเห็นได้ว่าราคาของไทยยังต่ำกว่า แต่นี่เป็นการเปรียบเทียบโดยใช้ตัวเลขดิบ หากมีการปรับมูลค่าที่แท้จริงของค่าเงินตามหลักการความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing power parity) แล้ว ราคาคลื่นเฉลี่ยของฮ่องกงจะเทียบได้เพียงประมาณ 51 บาทต่อเมกะเฮิรต์ต่อประชากร ซึ่งจะพบว่าราคาของไทยสูงกว่า ทั้งที่ตลาดโทรคมนาคมฮ่องกงมีอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าประเทศไทยมาก
เครดิตส่วนหมายเหตุ: http://manager.co.th/