หมดสิ้นปี 2558 เรียบร้อยแล้ว ช่วงเวลานี้บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ก็มีเวลา 60 วันก่อนที่จะต้องส่งงบการเงินให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พวกเราที่เป็นนักลงทุนก็คงเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่อว่า บริษัทต่างๆที่เราลงทุน หรือที่เราส่งกำลังใจเชียร์ รวมทั้งส่งกำลังใจแช่ง (หวังว่าคงไม่มีมากนะครับ บางคนอาจจะคอยดูผลการดำเนินงานของบริษัทคู่แข่งบ้าง แต่ก็อย่าส่งกำลังใจแช่งมากเลยครับ) จะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งเมื่อเราดูงบการเงินของหลายบริษัทแล้วเราก็จะเห็นว่ามีงบการเงินสองอย่างที่ถูกส่งและเผยแพร่ก็คือ งบการเงินเฉพาะกิจการ และ งบการเงินรวม หลายคนที่เป็นนักลงทุนหน้าใหม่คงสงสัยหรือสนใจว่างบการเงินสองอย่างนี้คืออะไร ทำไมต้องมีสองอย่างแยกจากกันด้วยและต่างกันอย่างไร
ทำไมต้องมีการจัดทำงบการเงินสองแบบด้วย
ถ้าบริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัทเล็กๆ นั่นหมายความว่าไม่มีบริษัทร่วมหรือบริษัทย่อยอยู่เลย เรียกว่าเป็นบริษัทเดียวโดดเดี่ยวเดียวดายก็จะมีแต่งบการเงินเดี่ยวหรืองบเฉพาะกิจการ (คืองบแสดงสถานะทางการเงินหรืองบดุล, งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ, งบกระแสเงินสด ลำพังของตัวเอง) และก็จะหน้าตาเหมือนกันกับงบการเงินรวมนั่นเอง ก็เหมือนคนโสดไม่มีคู่มาวุ่นวายนั่นล่ะครับ แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทหลักที่มีบริษัทบริวารที่บริษัทใหญ่นำเงินไปลงทุนด้วย บรรดานักการเงินและนักลงทุนก็มักจะเกิดความสงสัยว่าและผลการดำเนินงานเฉพาะของบริษัทใหญ่เอง และของบริษัทใหญ่รวมกับบริษัทบริวารเข้ามาด้วยนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร หรือพูดง่ายๆ ก็คือ งบการเงินเฉพาะกิจการและงบการเงินรวมที่จัดทำออกมาสองชุดต่างหากจากกันนี้จะสามารถบอกได้ว่าการมีบริษัทบริวารที่ไปลงทุนนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่แค่ไหนนั่นเอง
นำเงินไปลงทุนด้วยแค่ไหนถีงต้องจัดทำงบการเงินรวม
คราวนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า แล้วบริษัทใหญ่นำเงินไปลงทุนในบริษัทบริวารเป็นเงินเท่าไหร่ล่ะจึงจะต้องจัดทำงบการเงินรวมซึ่งรวมผลประกอบการของบริษัทบริวารเข้าไว้ด้วย ตามมาตรฐานบัญชีมาก่อนแล้วก็อาจจะบอกว่าต้องมีเงินลงทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทบริวารแต่ในปัจจุบันแล้วแม้ว่ามีเงินลงทุนไม่ถึงครึ่งหนึ่งเช่น ตั้งแต่ 20 - 50% แต่บริษัทใหญ่มีอำนาจควบคุมการประกอบกิจการของบริษัทบริวาร อย่างมีนัยยะสำคัญ (เช่นมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บริหารมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของธุรกิจ เป็นต้น) ก็ถือว่าจะต้องจัดทำงบการเงินรวมด้วย (ส่วนงบการเงินเฉพาะกิจการนั้นต้องจัดทำอยู่แล้ว) โดยสรุปก็คือในปัจจุบันเราไม่ได้ดูเฉพาะเงินที่นำไปลงทุนหรือสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทบริวารของบริษัทใหญ่ แต่ดูอำนาจควบคุมในการดำเนินกิจการของบริษัทบริวารด้วย
งบการเงินรวมบอกอะไรเรา
งบการเงินรวมจะบอกสภาพโดยรวมของบริษัทหลักรวมกับบริษัทย่อยตามส่วนที่บริษัทหลักได้เข้าไปลงทุน ตัวเลขในงบการเงินจะถูกจัดทำโดย นำเอาสินทรัพย์หนี้สินรายได้รายจ่ายของทั้งบริษัทหลักและบริษัทย่อยมารวมกันโดย หักรายการระหว่างกัน (รายการซื้อ รายการขายระหว่างกัน การกู้ยืมระหว่างกัน เงินปันผล) ออก โดยเมื่อเราดูงบการเงินรวมเราจะเห็นตัวเลขหนึ่งคือ "ส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม" ซึ่งก็คือสัดส่วนการลงทุนในบริษัทบริวารที่บริษัทใหญ่ไม่ได้ไปลงทุนเอาไว้ ตัวเลขนี้ถ้ามีสัดส่วนมากก็แสดงว่าบริษัทใหญ่ไม่ได้ลงทุนในบริษัทบริวารมากนักนั่นเอง
ย้อนกลับมางบการเงินเฉพาะกิจการอีกที
สำหรับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีบริษัทบริวารที่ตัวเองไปลงทุนด้วยนั้นงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทใหญ่เองจะแสดงสถานะทางการเงิน กำไรขาดทุน และกระแสเงินสดของตัวเอง โดยไม่เกี่ยวกับบริษัทบริวารและจะบันทึกการลงทุนในบริษัทบริวารตามวิธีราคาทุนหักด้วยค่ะเพื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนในบริษัทบริวารนั้น
แล้วเราควรจะดูงบการเงินไหนอย่างไร
ในเมื่อมันมีงบการเงินสองอย่างให้เราดู เราก็คงต้องดูทั้งคู่ล่ะครับ (แหม ก็อุตส่าห์ทำมาแล้ว ต้องมีประโยชน์สิ) โดยดูเปรียบเทียบกันโดยหลักการแล้วงบการเงินรวมนั้นสำคัญกว่า โดยเราจะดูว่าเมื่อรวมเอาบริษัทบริวารเข้ามาด้วยแล้วบริษัทใหญ่มีกำไรมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร ถ้ารวมแล้วมีกำไรขาดทุนเท่าๆ เดิมนั่นก็หมายความว่าบริษัทย่อยไม่ได้ทำกำไรหรือสร้างผลขาดทุนเท่าไหร่นัก แต่ถ้างบการเงินรวมมีตัวเลขที่ดีกว่างบการเงินเฉพาะกิจการค่อนข้างมากก็เป็นที่สังเกตว่าบริษัทบริวารทำกำไรให้มาก ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียข้อดีก็คือมีบริษัทบริวารคอยค้ำจุนบริษัทใหญ่ (บริษัทแม่) ได้ แต่ข้อเสียก็คือเราอาจจะไม่รู้รายละเอียดความเป็นมาเป็นไปของบริษัทบริวารมากนักทำให้เรามีความสามารถในการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทบริวารเหล่านั้น (ที่มีอิทธิพลค้ำจุนอยู่มาก) ได้ไม่ดีนัก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจหรือสภาพแวดล้อมใดๆ กับบริษัทบริวาร อาจจะทำให้งบการเงินรวมย่ำแย่ไปโดยที่เราคาดการณ์ไม่ได้ รวมทั้งผู้บริหารก็อาจจะให้น้ำหนักในการไปพยายามทำงานกับบริษัทบริวารเพื่อให้สร้างผลกำไรได้มากกว่าบริษัทหลักก็เป็นไปได้ ในทางกลับกันถ้างบการเงินเฉพาะกิจการดูดีแต่งบการเงินรวมกลับแย่ แสดงว่าผลประกอบการของบริษัทบริวารไม่ดีนักเราก็คงต้องตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริหารของบริษัทมักจะทำอย่างไรกับบริษัทบริวารเหล่านั้นต่อไป โดยสรุปเราอาจจะกล่าวโดยรวมได้ว่า เราต้องดูงบการเงินทั้ง เฉพาะกิจการและงบการเงินรวมโดยงบการเงินรวมควรมีตัวเลขที่ดีขึ้นกว่างบการเงินเฉพาะกิจการแต่ไม่ควรดิขึ้นมากจนผิดสังเกตนั่นเอง
กลวิธีทางการเงิน
ในบางครั้งบริษัทใหญ่บางบริษัทมีบริษัทย่อยหรือไปลงทุนในบริษัทบริวารที่ไม่ทำกำไรขาดทุนวุ่นวายต่อเนื่องไปหมด บริษัทใหญ่ก็อาจจะลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยนั้นโดยขายหุ้นทิ้งให้ใครก็ได้สักคนหนึ่ง และ ทำตัวให้ไม่มีอำนาจควบคุมใดๆ ในบริษัทย่อยนั้นเพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องนำงบการเงินที่เละเทะของบริษัทบริวารมารวมในงบการเงินรวม ทำให้งบการเงินรวมของบริษัทหลักซึ่งยังอาจจะรวมผลงานของบริษัทย่อยบริวารอื่นเอาไว้อยู่ดูดีขึ้นมาก ผลก็อาจจะทำให้หุ้นพุ่งกระฉูดก็ได้
ช่วงนี้ หลายบริษัทก็ประกาศผลประกอบการกันแล้ว และอีกไม่กี่วันเราก็คงเห็นงบการเงินของอีกหลายบริษัทแล้ว ผมก็ขอเอาใจช่วยบริษัทที่เพื่อนๆ ลงทุนเป็นเจ้าของให้เจริญรุ่งเรือง มีตัวเลขที่ออกมาดี ดีขึ้น และก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงในอนาคตต่อไปครับ