หลังจากขึ้นปี 2559 มาได้พักใหญ่ ดูเหมือนว่าข่าวร้ายที่กดดันราคาของหุ้นหลายกลุ่มบริษัทเช่นกลุ่มสื่อสารจะค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงไป ยกเว้นบางบริษัทที่ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ ที่ต้องการเงินทุนมากมายนี้ ก็อาจจะไม่ได้เป็นการง่ายที่จะฟื้นตัวขึ้นมาเร็วนัก หรือว่าหุ้นในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับน้ำมันและผู้ผลิตพลังงานต้นน้ำเช่นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ในขณะที่ราคาน้ำมันของโลกตกต่ำเหลือประมาณ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลขนาดนี้ ราคาหุ้นของบรรดาบริษัทกลุ่มพลังงานต้นน้ำต่างๆ ก็ย่อมฟื้นตัวได้ยาก อย่างไรก็ตามเวลานี้ก็ดูเหมือนว่ายังพอทรงตัวทรงราคาเอาไว้ได้เนื่องจากราคามันน่าจะรับข่าวร้ายไปกันหมดแล้วนั่นเองในเวลาที่ราคาหุ้นพากันตกต่ำอย่างนี้ มีเพื่อนหลายคนที่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวผมก็คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่เลวร้ายนัก (ถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้วการจะเข้ามาในตลาดก็เข้ามาได้ทุกเวลาล่ะครับ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกซื้อหุ้นไหน ด้วยวิธีการใด ในราคาเท่าใด และมีระบบการดูแลการลงทุนอย่างไรเท่านั้นเอง) เพราะมีหุ้นหลายบริษัทที่เคยมีราคาสูงมากแต่ได้ลดราคาต่ำลงมาจนเริ่มน่าสนใจเข้าไปศึกษาว่าราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ (ก็ตามประสาของนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าของกิจการนะครับที่พยายามค้นหาของถูกในตลาดแล้วก็เข้าไปลงทุน) แต่ทุกครั้งที่ผมตอบเพื่อนไปว่าแน่นอนเราสามารถเข้ามาลงทุนลักทรัพย์ได้เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแบบนี้น่าเข้ามา ก็จะถูกถามคำถามย้อนกลับมาเสมอว่าแล้วหุ่นตัวแรกที่จะซื้อจะทำอย่างไร
หุ้นตัวแรก
บางครั้งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็เหมือนกับการดื่มเหล้าจนเมามายนั่นเอง นี่ผมไม่ได้หมายความว่าใครที่เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์และเป็นนักลงทุนจะต้องเมา แต่เราคงเคยได้ยินเรื่องเล่าว่าถ้าคนเราดื่มเหล้าจนเมาครั้งแรกแล้วทำตัวอย่างไรครั้งต่อๆ ไปก็จะทำตัวอย่างนั้น เช่น ถ้าครั้งแรกเมาแล้วหลับครั้งต่อไปก็คงจะหลับทุกครั้ง หรือถ้าเมาแล้วชอบเล่าเรื่องตลก เขาก็จะเล่าเรื่องตลกเมื่อเมานั่นเอง กับการลงทุนก็เหมือนกันถ้าครั้งแรกชอบแนวหวือหวากระโดดเข้าไปซื้อหุ้นที่ราคาขึ้นลงรวดเร็วและหาจังหวะทำกำไรและหลบเลี่ยงการขาดทุน ครั้งต่อๆ ไปเขาก็จะพยายามทำอย่างนั้น ในทางตรงกันข้ามถ้าครั้งแรกก่อนจะซื้อหุ้นพิจารณาคิดแล้วคิดอีกว่าหุ้นตัวใดมีอนาคตที่ดีรวมทั้งมีราคาในปัจจุบันต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นแล้วเข้าไปลงทุน ครั้งต่อๆไปเค้าก็จะพยายามทำรูปแบบเดิมนี้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์และต้องการลงทุนหุ้นตัวแรกแรกผมก็ขอแนะนำให้พิจารณาใน 4 ประเด็นต่อไปนี้
4 จุดหลักคัดหุ้นตัวแรก
1) เป็นหุ้นที่เราคุ้นเคยและเข้าใจกิจการ
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะการลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจย่อมดีกว่าการลงทุนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ธุรกิจที่เราเข้าใจหมายความว่าเรารู้ว่ายอดขายของธุรกิจนั้นดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรเมื่อใด และเข้าใจว่ากระบวนการการทำกำไรที่เกิดจากธุรกิจนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีกิจการจำนวนไม่น้อยที่มีกระบวนการทำกำไรซับซ้อนมากจนนักลงทุนเข้าใจได้ยากว่ากำไรที่เกิดขึ้นนั้นมาจากส่วนใดบ้างมากน้อยต่างกันอย่างไรถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็อาจจะต้องเลือก หลีกเลี่ยงธุรกิจในลักษณะนั้นก่อนในช่วงแรกๆ ของการลงทุน
2) เข้าใจตัวเลขทางการเงินของบริษัทที่สนใจลงทุน
อย่างน้อยจะต้องสามารถ เข้าใจงบการเงินของบริษัทนั้นพอสมควรเช่น มียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาหรือไม่ มีกำไรขั้นต้น (ถ้ามากกว่า 35% แสดงว่าสินค้าและบริการมีลักษณะเฉพาะ) และอัตรากำไรสุทธิเป็นเช่นใดและเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือน้อยลงหรือไม่ (อย่างน้อยต้องมีอัตรากำไรขั้นต้นและสุทธิคงที่เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น หรือหากยอดขายคงที่อัตรากำไรต่างๆเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น) เข้าใจอัตราส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุนที่บริษัทดำเนินงานอยู่ (หนี้สินระยะยาวควรจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปและมีจำนวนไม่มากนักเนื่องจากว่าเป็นหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย) มีทุนดำเนินงาน (ทรัพย์สินหมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน) ในระดับสูง มีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA ผมชอบให้สูงกว่า 10%) และต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE ผมชอบให้สูงกว่า 15%) สูงรวมทั้งมีอัตราการจ่ายปันผลที่ดี เป็นต้น
3) เข้าใจในมูลค่าที่แท้จริง
เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นกลัวอย่างที่เข้าใจได้ยากที่สุดเพราะสามารถคิดคำนวณราคาที่เหมาะสมได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นหรือ P/E (อัตราส่วนนี้ยิ่งต่ำยิ่งดี ค่าปกติอยู่ในช่วง 8-20 แล้วแต่อุตสาหกรรม โดยเทียบกับอุตสาหกรรมนั้นและการเติบโตของความสามารถในการทำกำไรของบริษัทและประเมินเป็นค่า Forward P/E หรือ P/E ในอนาคต) มูลค่าที่เหมาะสมจากการคิดด้วยวิธีคิดลดเงินสด (Discounted Cash Flow, DCF) หรือราคาที่เหมาะสมเมื่อคิดด้วยโมเดลการจ่ายปันผล (Dividend Discount Model - หุ้นที่มีการเติบโตสูงมากแต่จ่ายปันผลต่ำจะคิดด้วยวิธีนี้ไม่ดีนัก) เป็นต้น การอ่านบทวิเคราะห์ที่พูกถึงตัวเลขบ่อยๆ รวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมจะช่วยในข้อนี้ได้มาก
4) เข้าใจตัวเองและธรรมชาติราคาของหุ้นนั้น
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน การเข้าใจในตัวเองคือรู้ว่าเราชอบอะไร กิจการแบบไหน และที่สำคัญคือมีเงินงบประมาณสำหรับการทดสอบทดลองซื้อหุ้นเท่าไรสำหรับหุ้นตัวแรกนี้ โดยในเงินก้อนหนึ่งอาจจะต้องแบ่งออกเป็นส่วนๆ เพื่อการทะยอยซื้อ อย่างน้อยควรซื้อได้ 3 ครั้งไม่ใช่ซื้อครั้งเดียวหมด ส่วนถ้าถามว่านักลงทุนแบบเน้นมูลค่าของกิจการหรือวีไอ (VI - Value Investor) สนใจราคาที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ สำหรับคนอื่นผมคงบอกแทนไม่ได้แต่สำหรับตัวผมเองแล้ว แน่นอนราคาที่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะจะทำให้เรารู้ว่าหุ้นที่เรากำลังสนใจนั้นมีแนวโน้มราคาที่กำลังลดลง ทรงตัว หรือว่ากำลังเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเราก็น่าจะรู้ว่าการแกร่งไปมาของราคา ในช่วงเวลาหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์หรือแม้กระทั่งหนึ่งเดือนเป็นอย่างไร ความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้ช่วยตัดสินใจในการเข้าลงทุนได้ด้วย เนื่องจากบางครั้งเราอาจจะใช้เทคนิคการเข้าซื้อลงทุนได้หลายรูปแบบ เช่น เมื่อพบหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าของมันแล้ว (โดยมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยต่างๆ กัน) เราก็อาจจะทยอยเข้าซื้อสะสม (ถ้าราคามีแนวโน้มทรงตัวหรือแกว่งเพียงเล็กน้อย) หรือซื้อครั้งเดียวทีละมาก (กรณีที่ราคาหุ้นมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยมาก เพราะขืนรอช้าก็คงได้ราคาที่แพงขึ้น แต่ก็ต้องกำหนดจุดขายตัดขาดทุนหรือขายแล้วซื้อคืนคือ short against port ด้วย) หรือจะใช้วิธีซื้อลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average สำหรับผู้ที่มีเวลาน้อยก็ไม่ผิดอะไร แต่อาจจะต้องแบ่งเงินลงทุนก้อนแรกออกเป็นอย่างน้อย 5 ส่วน) หรือแม้แต่เฝ้าและรอซื้อที่มักใช้ในกรณีที่มีมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยไม่มากนัก ก็ต้องรอจนราคาหุ้นนั้นต่ำลงมาเสียก่อนจึงเริ่มเข้าซื้อ
ทั้ง 4 ข้อด้านบนนี้ก็เป็นหลักการง่ายๆ ขั้นต้นที่ผู้ที่จะซื้อหุ้นตัวแรกควรจะเข้าใจและเริ่มหัดลงทุน อย่างไรก็ตามก็ไม่มีหลักการไหนที่รับประกันความสำเร็จได้ 100% เพียงแต่หลักการที่ถูกต้องจะทำให้มีโอกาสได้กำไรมากครั้งกว่าที่จะขาดทุน และเมื่อได้กำไรก็จะได้มากกว่าเมื่อขาดทุนนั่นเอง