วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

QoQ และ YoY


นี่ก็เข้ากลางเดือนมีนาคมของปี 2559 เข้าไปแล้ว แต่คิดว่าคุยเรื่องนี้ก็คงยังไม่สายเกินไป เพราะใช้ได้ไปเรื่อยๆ ไม่เกี่ยวกับว่าจะเป้นปีไหน นั่นก็คือเรื่องของ QoQ และ YoY นั่นเอง

เพื่อนที่เป็นมือเก่าหน่อยอาจจะคุ้นเคยกับตัวหนังสือสองตัวนี้ดี มันก็คือ Quarter on Quarter (QoQ) และ Year on Year (YoY) นั่นเอง โดย QoQ เป็นการคำนวณการเปลี่ยนแปลงของผลการดำเนินงานระหว่างไตรมาสต่อไตรมาส จะว่าไปก็คือไตรมาสนี้กับไตรมาสที่ผ่านมานั่นเอง (จะบอกกับไตรมาสหน้าคงไม่ได้ เพราะยังมาไม่ถึง) ในขณะที่ YoY เป็นการเปรียบเทียบผลงานระหว่างไตรมาสเดียวกันของปีนี้และปีที่ผ่านมานั่นเอง

หากถามว่าตัวเลขการเปรียบเทียบเหล่านี้สำคัญหรือไม่ คำตอบง่ายๆ คือสำคัญมาก แต่การจะดูให้เข้าใจนั้นจะต้องดูให้เป็นด้วย ไม่อย่างนั้นตัวเลขดีๆ เหล่านี้ก็จะทำให้เราไขว้เขว สับสน ตีความหมายผิดไปได้ โดยอย่างน้อยเราจะต้องรู้สิ่งเหล่านี้เสียก่อนคือ

ผลการดำเนินงานจะคงที่ดีไหมดูอย่างไร

1. ธรรมชาติของธุรกิจนั้น

ธุรกิจแต่ละอย่างนั้นมีธรรมชาติแตกต่างกันไป บางธุรกิจก็เรื่อยๆ เปื่อยๆ คือไม่ว่าจะวันไหน เดือนไหนของปีก็น่าจะ (น่าจะ) ขายของได้ในปริมาณเท่ากัน ของเหล่านี้มักเป็นของกินของใช้ทั่วไป เช่น ของกินเบื้องต้น ข้าวสาร สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่อัตราการซื้อของผุ้บริโภคน่าจะคงที่ไม่เกี่ยวกับเทศกาลหรือฤดูกาล (ถ้าเป็น เสื้อกันฝน ร่ม ก็ไม่ได้ เพราะน่าจะขายดีในหน้าฝนมากกว่าหน้าอื่น จริงไหมครับ) ในทางตรงกันข้ามก็ต้องรู้ว่าธุรกิจใดน่าจะมีอัตราการซื้อเปลี่ยนไปในแต่ละฤดูกาลของปี และมีต้นทุนเปลี่ยนไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง เพราะนอกจากอัตราการซื้อแล้วก็ยังมีต้นทุนที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกันทำให้ยอดขายและ/หรือผลกำไรแตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล ถ้าจะว่าไปแล้วธุรกิจส่วนมากแล้วมักจะตกอยู่ในประเภทขึ้นอยู่กับฤดูกาลไม่มากก็น้อย

2. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

นี่เป็นความจริงที่ปฎิเสธไม่ได้ คือไม่ต้องคิดเอาเอง (ภาษาวัยรุ่นสมัยนี้เรียกว่า "มโน") ว่าธุรกิจไหนทำกำไรในฤดูไหนหรือไตรมาสไหนได้มากน้อยต่างกันอย่างไร เพราะเราสามารถดูได้จากผลการดำเนินงานที่ประกาศสู่สาธารณชนได้เลยโดยไล่ดูทีละไตรมาสของอย่างน้อยสัก 3 ปี จากตัวเลขเหล่านี้เราสามารถรู้ได้ว่าบริษัทนั้นสามารถขายสินค้าและบริการและมีกำไรขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือไม่ (อย่าลืมตัดเอารายได้ และ/หรือ รายจ่ายพิเศษออกเสียก่อนนะครับ)

ผลการดำเนินงานไตรมาสที่สี่

ตรงนี้มีวิธีพิเศษเล็กน้อยคือ ปกติแล้วบริษัทจะประกาศผลประกอบการสำหรับไตรมาสที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม และประกาศผลการดำเนินงานของทั้งปีที่ผ่านมาเลยโดยไม่มีผลการดำเนินงานไตรมาสที่สี่ให้เราดูง่ายๆ หรอก ก็คงไม่ใช่เพราะว่าไม่อยากบอกหรือหลอกให้งง แต่เอาเป็นว่าเป็นมาตรฐานที่เขาจะประกาศแบบนั้นและทุกบริษัทก็ทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน (อ่ะ ยังดี อย่างน้อยจะได้ไม่ต้องงหลายครั้ง) วิธีการก็คือ ให้เรานำผลการดำเนินงานทั้งปีหักลบออกด้วยผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ก็จะได้ผลการดำเนินงานไตรมาสที่สี่นั่นเอง

 

สองภาพด้านบน เป็นสรุปผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนหนึ่ง จะเห็นว่าทั้งปี 2558 มีกำไรสุทธิ 13.17 บาทต่อหุ้น ในขณะที่งวด 9 เดือนของปี 2558 มีกำไร 9.54 บาทต่อหุ้น ดังนั้นเราสามารถคำนวณง่ายๆ ว่าในไตรมาสที่สี่ของบริษัทนี้ควรมีกำไรต่อหุ้นประมาณ 13.17 - 9.54 = 3.63 บาทต่อหุ้นนั่นเอง ส่วนจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ต้องไปเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ด้วยก็จะสามารถสรุปได้แม่นยำมากขึ้น

การนำไปใช้งาน

หลายกิจการมีผลประกอบการที่แกว่งไปมามากตามช่วงต่างๆ ของปี นักลงทุนต้องดูทั้ง QoQ และ YoY  ทั้งนี้ถ้าจะว่าไป ส่วนใหญ่ก็แกว่งทั้งนั้น ส่วนจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่บริษัทด้วย บางบริษัทที่ไม่น่าจะมีผลประกอบการที่เปลี่ยนไปนักเช่น บมจ. ทางด่วนกรุงเทพ (เมื่อยังไม่รวมกับ บมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ) ก็ยังมีผลประกอบการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล คือในช่วงเด็กนักเรียนปิดเทอมจะมีรายได้และผลกำไรน้อยกว่าช่วยเปิดเทอม เป็นต้น ดังนั้นจากความเข้าใจของธรรมชาติของธุรกิจที่เราสนใจ เราก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น

  1. หากผลการดำเนินงานลดลงเนื่องมาจากความปกติของธุรกิจ แต่ราคาหุ้นกลับลดลงมากมายกว่านั้น ก็อาจจะเป็นจังหวะที่คนอื่นตกใจแต่เราไม่ได้ตกใจตาม และฉวยโอากาสซื้อหุ้นในราคาต่ำได้
  2. ตรงกันข้ามกับข้อแรก คือราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นไปมากจากผลการดำเนินงานรายไตรมาสที่ดีขึ้นมาก หากเราตรวจสอบแล้วพื้นฐานยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจยังคงดำเนินงานตามปกติไม่ได้มีสินค้า/บริการหรือการลดต้นทุนใดๆ เพิ่มเข้ามา และเราทราบว่าในไตรมาสต่อไปอาจจะมีต้นทุนสูงขึ้น (ตามที่เคยเป็น เพราะต้นทุนของสินค้าหลายอย่างเป็นวัฏจักรเช่นกัน) และเล็งเห็นว่าในไตรมาสต่อไปจะเลวร้ายลงเกินกว่าราคาหุ้นในปัจจุบัน เราก็อาจจะขายหุ้นออกไปก่อนและรอซื้อกลับเมื่อราคาได้รับรู้ความเป็นปกติไปแล้วก็ได้
หวังว่าเพื่อนๆ คงลองกลับไปดูว่า ธุรกิจที่เราสนใจหรือแม้แต่ลงทุนอยู่นั้นมีธรรมชาติเป็นอย่างไร การขึ้นลงรายไตรมาสนั้นปกติแล้วมากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่เราซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจจะต้องรู้เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการลงทุนเพื่อประสบความสำเร็จในระยะยาวครับ