สิ่งที่บริษัทมี
บริษัทต่างๆ สามารถทำกำไรได้ก็เพราะมีสินทรัพย์เป็นต้นทุนของกิจการ หากตีความทางบัญชีแล้วจะเห็นว่าเราแยกสินทรัพย์เหล่านี้ออกเป็น ทุนและหนี้สิน ในส่วนของทุนก็อาจจะแบ่งแยกออกเป็นทุนเรือนหุ้นและกำไรสะสม สินทรัพย์ก็มีทั้งหมุนเวียนและไม่หมุนเวียน สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนคือบรรดา ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร (ระวัง เพราะมีค่าเสื่อมราคา) ที่ใช้ในการผลิต ส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนก็เช่น ลูกหนี้การค้า วัตถุดิบ สินค้าคงคลัง ในขณะที่หนี้สินก็ประกอบไปด้วยหนี้สินระยะยาว (มักมีดอกเบี้ยจ่าย ถ้าเพิ่มขึ้นตลอดแต่ไม่เหมาะสมกับกำไร ไม่ดีแน่นอน) และหนี้สินหมุนเวียนที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในการทำธุรกิจ (ส่วนใหญ่ควรเป็นเจ้าหนี้การค้า) บริษัทที่ดีควรมีหนี้สินที่ควบคุมได้ สร้างรายได้และผลกำไรให้กับบริษัท และมีทุนดำเนินงาน (working capital = ทรัพย์สินหมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน) สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือมี "ม้างาน" ในการทำกำไรเพิ่มขึ้น
ทรัพย์สินของบริษัท
เราลองมาตีความหมายของสินทรัพย์กันก่อน ก่อนอื่นในทางบัญชี ทรัพย์สินไม่ได้หมายถึงสิ่งที่จับต้องได้เท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งของทั้งหมดทั้งปวงที่บริษัทนั้นมีอยู่ ตั้งแต่ ของจับต้องได้ (ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์) แต่ยังรวมถึงค่าความนิยม ทรัพย์ที่ (ถูกคิดว่า) สามารถนำไปสร้างเป็นรายได้และผลกำไรได้ ในทางบัญชีก็พยายามตีราคาบันทึกลงให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด แต่แน่นอนว่าเราอาจจะเห็นด้วยมากหรือน้อยกว่าปกติก็เป็นสิทธิที่เราสามารถคิดได้
ทรัพย์สินแฝงของบริษัท
นอกจากทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ต่างๆ ที่บันทึกลงในบัญชีได้แล้ว ความเป็นจริงของธุรกิจคือมีทรัพย์สินอีกมากมายที่ไม่สามารถถูกบันทึกได้เลย เช่น ความชำนาญพิเศษของผู้บริหารและพนักงาน ความคิดสร้างสรร ระบบต่างๆ เทคโนโลยี องค์ความรู้ ที่บริษัทคิดหรือพัฒนาขึ้นและสามารถสร้างเงินได้ (หรือไม่ได้ในวันนี้แต่อาจจะได้ในวันข้างหน้า) ลูกค้าหรือ potential customers รวมไปถึงวัฒนธรรมขององค์กร (ที่ดี จะมีค่ามาก) สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่สามารถตีมูลค่าได้ หรือลืมตีราคาไปก็มี นักลงทุนต้องดูให้ออก หาให้พบ เพราะเป็นเหมือนมูลค่าแฝงที่บริษัทมีอยู่ในตัวเอง สามารถสร้างผลกำไรมหาศาลได้ (ROA จะสูงเป็นพิเศษ) ทั้งในปัจจุบันและอนาคต (จะว่าไป นักลงทุนคงชอบกำไรมากๆ ในอนาคตมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดและราคาหุ้นยังไม่ตอบสนอง)
สมบัติบ้า
คำนี้อาจจะฟังดูรุนแรงไปสักนิด แต่จะว่าไปก็เป็นคำสามัญปกติที่ชาวบ้านใช้งานกันและสื่อความหมายได้ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนแต่ละคนหรือบริษัทกิจการต่างๆ ก็มักมี "สมบัติบ้า" ปนอยู่ด้วยเสมอ สมบัติแบบนี้มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับทรัพย์สินที่สามารถสร้างรายได้ สร้างกำไร จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องระวังด้วย บริษัทอาจจะบอกว่ามีมูลค่าทรัพย์สินมากมายในทางบัญชี แต่ทรัพย์สินเหล่านั้นไม่เคยสร้างรายได้ให้กับบริษัทและกลับเป็นภาระก็ได้ แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นสมบัติที่หาประโยชน์ได้ (และทรัพย์สินมากๆ พวกนี้จะทำให้ ROA ต่ำลงด้วย) ผมเลยขอเรียกว่าสมบัติบ้าเพราะคงจะเหมาะสมอยู่
สรุปมูลค่าแฝงที่ต้องพิจารณา
มูลค่าแฝงก็คือสิ่งที่ไม่สามารถบันทึกอยู่ในบัญชีหรืองบดุลใดๆ แต่มีความสำคัญมากต่อการดำรงอยู่และเติบโตของบริษัท นักลงทุนที่ดีจะต้องมองหาให้พบและพิจารณาในการลงทุน มูลค่าแฝงเหล่านี้ เช่น
- คอนเนคชั่นของ ผบห./ธุรกิจ กับคนอื่นรอบกาย กับธุรกิจอื่นรอบตัว
- ลักษณะของผู้บริหารและโครงสร้างการทำงานของบริษัท ผู้บริหารที่หัวก้าวหน้า ขยัน ซื่อสัตย์ ประกอบกับโครงสร้างการทำงานที่ดีจะทำให้บริษัทเติบโตได้ง่ายและเร็ว (มักเห็นแนวโน้มนี้ในอดีตที่ผ่านมาบ้างทางงบการเงิน)
- ลักษณะโครงสร้างของสินทรัพย์ต่อความยาก-ง่ายในการขยายกิจการ ธุรกิจที่มีโรงงานหรือโครงสร้าง โครงข่ายที่สามารถขยายได้ง่ายด้วยทุนต่ำและเวลาสั้นถือว่าเป็นมูลค่าที่ซ่อนอยู่
- ตลาดที่รออยู่ เป็นเรื่องสำคัญมากว่า สินค้านั้นอยู่ในประเภทใด ถ้าแนวโน้ม (trend) ตลาดไม่เอาด้วย หรือบริษัททำในสิ่งที่เป็นเพียงความนิยมชั่วคราว (fad) อนาคตอาจลำบากได้ (ถ้าให้ดีก็ครองตลาด megatrend แต่แรก จะเยี่ยมมาก แต่ต้องระวังกรณีธุรกิจ high technology หน่อย เพราะทุนต่ำลง ราคาขายต่ำลงตลอด แต่อาจจะคุ้มค่าได้หากเป็นผู้นำจริง และขายสินค้าอัตรากำไรสูงได้)
- กำลังการผลิตติดตั้ง (installed capacity) ว่ามีขนาดเท่าไร เหลือใช้อยู่หรือไม่ จริงอยู่ที่ว่าในหลายกรณีที่ธุรกิจติดตั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่แต่ผลิตเพียงเล็กน้อยจะทำให้มีค่าเสื่อมราคาเกินความจำเป็น แต่บางโรงงานทั้งที่ทำเช่นนั้นและผลิตด้วยกำลังเพียงร้อยละ 50 ก็มีกำไรมากมายได้ แบบนี้ถ้าเห็นว่าสินค้าและตลาดสามารถขยายได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มอีกย่อมน่าสนใจ
- ดูเงินสดที่ได้มา/ใช้ไป ในกิจกรรมการลงทุน ตัวเลขเป็นลบ (ใช้ไป) ที่บอกว่าบริษัทกำลังขยายการลงทุน เป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่าบริษัทกำลังจะมีรายได้เพิ่มขึ้น (เด่นชัดที่สุดคือการขยายสาขา รองลงมาคือการซื้อธุรกิจอื่น และการขยายเครื่องจักร ตามลำดับ)