วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

ชนะตลาดแค่ไหนจึงจะพอ


เหตุผลส่วนใหญ่ที่นักลงทุนลงทุนด้วยตัวเองก็คือต้องการเอาชนะตลาด เพราะถ้าต้องการเพียงผลตอบแทนเท่าตลาดหักลบด้วยค่าการบริหารจัดการอาจจะแถมพ่วงด้วย ผลประโยชน์ทางภาษี หากพอใจเพียงเท่านั้นทางเลือกที่ดีหนึ่งก็คือการซื้อกองทุนต่างๆ  แต่หากต้องการมากกว่านั้นรวมกระทั่งถึงมีเป้าหมายปลายทางคือเปลี่ยนชีวิตการทำงานมาเป็นนักลงทุนอาชีพ (อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านเดินทางไปถึงจุดนั้นผมยังสนับสนุนให้ทุกๆ คนที่เมื่อพบกับอิสรภาพทางการเงินแล้วยังคงทำงานเพิ่มมูลค่าให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไปนะครับ) ก็คงจะต้องเล็งเห็นผลตอบแทนมากมายหรือสูงกว่าผลตอบแทนโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ คำถามสำคัญก็คือแล้วจะต้องสูงกว่าเท่าไหร่จึงจะพอใจ หรือยอมรับได้

แน่นอนทุกคนย่อมต้องการผลตอบแทนสูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นด้วยปัจจัยหลายประการเช่นความสามารถของตัวเองสภาพตลาดในเวลานั้นความรู้พื้นฐานที่ตัวเองสนใจการไขว่คว้าหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือจำนวนเงินเริ่มต้นและความสม่ำเสมอของการสร้างผลตอบแทนนั้น ถ้าจำนวนเงินเริ่มต้นสูงมากผลตอบแทนที่ต้องการจะชนะตลาดบวกกับชนะอัตราเงินเฟ้อรวมกับผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เช่น ถ้ามีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตปีละ 1,200,000 บาท อัตราเงินเฟ้อ 3% อัตราตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์ปกติ 5% ความสามารถปกติที่ทำได้ดีกว่าตลาดหลักทรัพย์ 4% เราก็ควรสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้เป็น (เป็นกรณีสมมติอย่างคร่าว เพื่อเป็นแนวทาง)

5+4+3% = 12%
โดยส่วน 9% นั้นมีค่าเป็น 1,200,000 บาทต่อปี
โดย 3% ต้องนำไปลงทุนเพิ่มเพื่อหนีเงินเฟ้อ
เงินต้นที่ต้องใช้คือ 1,200,000 (100/9) = 13,333,333 บาท

จะเห็นว่า จำนวนเงินต้นและผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เป็นตัวแปรสำคัญในการมีอิสระภาพทางการเงิน ถ้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า 9% ต่อปี เช่นเป็น 18% ต่อปี จำนวนเงินต้นก็สามารถลดลงได้ ทั้งนี้ต้อดูด้วยว่าผลตอบแทนนั้นอยู่ในรูปใด ถ้าอยู่ในรูปของเงินปันผลก็คงมีงานต้องทำน้อยลง แต่หากอยู่ในรูปของการเพิ่มของราคาหุ้นล้วนๆ ก็อาจจะต้องมีงานมากขึ้นในระหว่างปี (ซื้อมา ขายไป เปลี่ยนไปลงทุนบริษัทอื่น เป็นต้น) แต่แน่นอนว่าคนเราคงไม่ได้มีเงินกว่า 13-14 ล้านบาทตั้งแต่แรกกันทุกคน (รวมทั้งผมเองด้วย) ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนทำก็คือ ออม, ลงทุน, ปรับพอร์ตให้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุด (โดยมีความเสี่ยงที่ยอมร้บได้), และลงทุนทบต้นไปเรื่อยๆ เพีบงเท่านี้เราก็สามารถสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้แล้ว เพียงแต่ต้องให้เวลาให้ทบต้น หรือให้บริษัทเติบโตไปเรื่อยๆ (ซึ่งได้ผลเร็วกว่าการทบต้นมาก เพราะเราอาจจะคิดง่ายๆ ว่าถ้าบริษัททำกำไรได้ดีขึ้น 2 เท่า สาขามากขึ้นสองเท่า ผลผลิตมากขึ้นสองเท่า ผลิตภัณฑ์ใหม่มากขึ้นสองเท่า ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้นสองเท่าได้แล้ว) ตรงนี้ป๋าวอเรน บัฟเฟตต์ จึงบอกไปเวลาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของธุรกิจที่ดี และเป็นศัตรูของธุรกิจที่แย่)


แล้วต้องชนะตลาดเท่าไร

จากตัวอย่างที่แล้ว เราสามารถคำนวณกลับดูได้ว่า สมมติว่าเรามีเงินเริ่มต้น 1 ล้านบาท เราต้องการทำให้กลายเป็น 13 ล้านบาทในเวลา (สมมติเช่น 10 ปี) เราจะต้องทำผลตอบแทนสูงกว่าตลาดเท่าใด สามารถคำนวณได้จาก

Future Value (มูลค่าในอนาคต) = Present Value (มูลค่าปัจจุบัน) x (1+i)^n
โดย
i เป็นอัตราผลตอบแทนต่อปี (ถ้าเป็น 15% ตัวเลข i = 0.15)
^ แสดงการยกกำลัง
n เป็นจำนวนปีที่ผ่านไป

จากตัวอย่างจะคำนวณได้ว่า 13,000,000 = 1,000,000 x (1+i)^10
และ 13 = (1+i)^10
ได้ i = 0.2924

นั่นคือผลตอบแทนประมาณ 29% ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีและลงทุนแบบทบต้น ก็จะสามารถได้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 13 เท่าตัวในเวลา 10 ปี ถึงตรงนี้เราอาจจะคิดว่ายาก เพราะบางปีตลาดอาจจะดี บางปีก็ดูแย่มาก แต่ต้องไม่ลืมว่านั่นคือสภาพตลาดโดยรวม ถ้าเราลงทุนในกองทุนที่อ้างอิงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ย่อมหนีชะตากรรมไม่พ้น แต่ถ้าลงทุนโดยเลือกหุ้นที่เราสนใจ เราสามารถคัดกรองหุ้นที่ดีได้ การที่ตลาดปรับตัวลงไป 10-20% ในขณะที่หุ้นของเราปรับตัวขึ้นกว่า 30-40% ก็เป็นไปได้มาก บางครั้งเราอาจจะเป็นเจ้าของหุ้นที่มีราคาปรับขึ้น 2 เท่าตัวในเวลา 2 ปี อย่าขายหมูเสียก่อนล่ะ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เพียง 3-4 ครั้ง ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้เช่นเดียวกัน

อย่าลืม!

จะเห็นว่ามีของสองอย่าง (นอกจากความรู้ ทักษะและความชำนาญ) ในการประสบความสำเร็จในการลงทุนก็คือ เงินเริ่มต้นจากการเก็บออม การมีนิสัยทางการเงินที่ดี จากนั้นก็ รอให้การลงทุนงอกเงย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมา ลงทุนทบต้น  เมื่อเราได้กำไรมา เราต้องมีวินัยในการนำเงินไปลงทุนทบต้น ไม่ใช่เอาไปซื้อรถหรู เอาไปเที่ยวต่างประเทศเสียจนหมด (ยกเว้นแต่มีมากเกินพอถึงระดับหนึ่งแล้วก็ไม่ว่ากันนะครับ) ที่สำคัญคือ เราไม่รู้ว่าเมื่อไรเราจะขาดทุน ก็จะต้องเผื่อเงินไว้สำหรับวันนั้นด้วย (ถ้าเราเตรียมการสำหรับวันที่แย่เอาไว้แล้ว ทุกวันที่ผ่านไปจะเป็นวันที่ดีเสมอ)