สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการแล้วอาจจะมองนักลงทุนว่าเป็นอาชีพที่ง่าย สบายๆ ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ซึ่งถ้ามอง "อย่างผิวเผิน" ไปที่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จแล้ว เราอาจจะเห็นว่าเขาเหล่านั้นสบายแล้ว ไม่ค่อยทำอะไรแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่มองเห็นเหล่านี้ไม่ได้เป็นความจริงมากนัก เพราะเราคงหนีความจริงที่ว่า ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ถ้าต้องการประสบความสำเร็จก็ต้องขยันด้วยกันทั้งนั้น
สำหรับนักลงทุนแล้วก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาในตลาด (ไม่ว่าในสภาวะในก็ตาม) ควรจะต้องฝึกนิสัยให้ขยันเข้าไว้ตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อให้เป็นนิสัย บางคนอาจจะบอกว่ามีเงินน้อยขยันไปทำไมไม่ได้เงินขึ้นมามาก จะทำกำไรไม่ได้เยอะ อาจจะเป็นความคิดที่ไม่ผิดในระยะสั้นแต่ไม่ถูกในระยะยาว (ก็คุณไม่คิดจะตั้งตัวได้บ้างเลยหรือ) เพราะการได้กำไรครั้งละไม่มากแต่สม่ำเสมอ และนำผลกำไรนั้นไปลงทุนเพิ่มแบบทบต้นจะสร้างผลตอบแทนมหาศาลและยั่งยืนได้อีกยาวนาน นั่นคือเราควรขยันตั้งแต่เมื่อเงินน้อยเพื่อจะได้มีเงินมากไว้ขยันต่อ แต่การขยันต้องให้ถูกวิธีด้วย ไม่ใช่ขยันโพสต์ถามเพื่อนๆ ในเว็บบอร์ดตลอดเวลาทุกวันว่าพรุ่งนี้ซื้อหุ้นอะไรดี จะขึ้นหรือไม่ แบบนั้นออกจะไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาวสักเท่าไร ความขยันที่ถูกต้องที่ว่านี้แบ่งออกได้หลายอย่าง คือ
- ขยันในการพัฒนาตัวเอง คือต้องมีความรู้ในการลงทุน สามารถอ่านงบการเงินเข้าใจ มองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน เห็นความปกติและไม่ปกติของงบการเงินของบริษัทต่างๆ สามารถบอกได้ว่าตัวเลขต่างๆ นั้น "เข้าท่า" (make sense) หรือไม่อย่างไร
- เพิ่มความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจทั่วไป รู้ว่าขณะนี้เม็ดเงินต่างๆ วิ่งไปที่ธุรกิจอะไร มีธุรกิจรายรอบอะไรที่ได้หรือเสียผลประโยชน์บ้าง เป็นจำนวนมากหรือน้อยเท่าไร
- ขยันหาข้อมูลของบริษัทที่เราสนใจจะลงทุน เรียกว่าต้องรู้รอบเกี่ยวกับคนที่เราจะร่วมหัวจมท้ายด้วย (เอาล่ะ ดีกว่าแต่งงานอยู่กินกันหน่อย ตรงที่ว่านึกจะเลิกก็เลิกได้โดยการขายหุ้นทิ้ง แต่จุดเริ่มต้นก็ยังเป็นเงินของเรา ดังนั้นคงต้องคิดให้เยอะสักนิด) ว่าใครก่อตั้ง ใครบริหาร ผู้บริหารมีนิสัยใจคออย่างไร ซื่อสัตย์หรือขี้โกง ธุรกิจมีคุณภาพอย่างไรทั้งใน เชิงปริมาณ และ เชิงคุณภาพ เป็นต้น
- เพิ่มพูนความรู้ของตัวเองเกี่ยวกับตลาด (ใคร ทำอะไร ใครซื้อขาย เท่าไรอย่างไร) บางครั้งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์ในการหาจังหวะลงทุน ขณะที่ตลาดยังไม่ดี แม้เราพบหุ้นที่ราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ ก็อาจจะค่อยๆ ซื้อค่อยๆ ทะยอยลงทุน (ดูเรื่อง DCA ในเรื่อง เทคนิคต่างๆ ในการซื้อขายหลักทรัพย์) แทนที่จะซื้อทั้งหมดในคราวเดียว เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เรามีทักษะในการลงทุนสูงขึ้น และแน่นอนว่าไม่น่าแปลกใจถ้าเพื่อนบางคนลงทุนมานานแต่ไม่ประสบความสำเร็จสักที ก็ลองมองย้อนดูตัวเราว่าเราขยันพอหรือยัง และมีทักษะในการลงทุนดีพอหรือยังด้วยนะครับ