วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ซื้อหุ้นให้เหมือนเป็นเจ้าของบริษัท


ทั้งที่การซื้อหุ้นนั้นโดยหลักการแล้วคือการซื้อเพื่อเป็นเจ้าของกิจการ (ไม่ว่าจะส่วนน้อยหรือมากก็ถือว่าเป็นเจ้าของกิจการ ตามกฏหมายสากล) แต่ในหลายครั้งการซื้อขายหุ้นเพื่อทำกำไรได้กลบหลักการเดิมนี้ไปเสียไม่น้อย จนหลายคนคงเคยได้ยินคำพูดนี้แต่กลับนึกไม่ออกและมีการให้ความหมายแตกต่างกันไป บางคนตีความหมายว่าเราต้องถือหุ้นนั้นไว้นานๆ บางคนตีความหมายว่าต้องเข้าใจว่าบริษัททำอะไร บางคนก็บอกว่าต้องเป็นเงินเย็น ซึ่งก็มีทั้งถูกมาก ถูกน้อย ไปตามเรื่อง ถ้าจะว่าไปจริงๆ ก็คงตอบไม่ได้ถูกเต็มที่นักจนกระทั่งนักลงทุนนั้นได้เคยเป็นเจ้าของธุรกิจจริงๆ มาก่อน เพราะหากเราดำเนินธุรกิจจริงๆ ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งที่เราคิดกับธุรกิจของเราก็น่าจะเป็นตามด้านล่างนี้
 

ความคิดของเจ้าของบริษัท


ในฐานะที่ผมเองทำมาหลายอาชีพ ทั้งวิศกร ลูกจ้าง ข้าราชการ เจ้าของธุริกจ และนักลงทุน เลยขอแบ่งปันความคิดในแง่มุมของการเป็นเจ้าของธุรกิจ/บริษัท ให้กับเพื่อนๆ นักลงทุนว่าที่จริงแล้วถ้าเราเป็นเจ้าของ มีพนักงานหลายชีวิต (และครอบครัว) ที่ช่วยทำงานและต้องดูแลกัน จะมีความคิดอย่างไรบ้าง
 
  • เมื่อเราเป็นเจ้าของบริษัทเราจะสนใจกับการถือหุ้นในจำนวนมากขึ้นเผื่อมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของที่มากขึ้นหากมีโอกาส
  • เมื่อเราเป็นเจ้าของบริษัทเราจะสนใจกับการดำเนินงานของบริษัท สนใจเกี่ยวกับภาพลักษณ์การเจริญเติบโตของบริษัท ให้ลูกค้า คู่ค้า มีความสุขที่จะทำงานด้วย ให้คู่แข่งมีความปรารถนาดีต่อกัน
  • เราจะสนใจในการมีพนักงานที่มีความสามารถมีคุณภาพสูงมาทำงานด้วย ให้พนักงานทุกคนมีสวัสดิการที่ดี มีความสุขในการทำงาน
  • เมื่อเราถือหุ้นแบบเป็นเจ้าของบริษัทเราย่อมมีความภูมิใจที่จะบอกกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือญาติว่าเรามีอาชีพเป็นเจ้าของบริษัทโดยการใช้เงินของเราทำงานให้มากกว่าการที่จะ กระมิดกระเมี้ยนบอกว่าเป็นนักเล่นหุ้น
  • สิ่งที่เราต้องการคือ การขยายตัวของลูกค้า ยอดขาย ขยายบริษัท มีบริษัทใหม่ ซื้อบริษัทใหม่ ขยายไปต่างประเทศ จ่ายปันผล และจ่ายปันผลมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
  • นักลงทุนที่ถือหุ้นแบบเป็นเจ้าของบริษัทต้องการให้ธุรกิจนั้นอยู่ยงคงกระพัน สร้างผลตอบแทนในรูปของกระแสเงินสดตลอดเวลาและเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (ชนะเงินเฟ้อ) ผลตอบแทนนั้นก็คือเงินปันผลที่มาจากกำไรของบริษัทนั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราถือหุ้นไปและได้รับเงินปันผลไปเรื่อย เราก็จะมีความสุขกับการเป็นเจ้าของส่วนของบริษัทที่เป็นเหมือนกับเครื่องสร้างเงินให้เรา เมื่อถึงจุดหนึ่งเงินสดเหล่านี้ก็สามารถทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้โดยเป็นอิสระทางการเงินเลยทีเดียว
  • เมื่อเป็นเจ้าของบริษัท เราจะคอยติตามการดำเนินกิจการของบริษัท จะรู้จักผู้บริหาร ร่วมเข้าประชุมผู้ถือหุ้น สอบถาม และที่สำคัญที่สุดคือให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัทด้วย
  • เมื่อเราเป็นเจ้าของบริษัท เราจะไม่วอกแวกสนใจในราคาหุ้นของบริษัทที่เราไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นเท่าไรนัก เราจะไม่รู้สึกใส่ใจอิจฉาราคาหุ้นของบริษัทอื่นที่วิ่งขึ้นไปมาในขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทเรายังขยับตัวอย่างเชื่องช้าไปเรื่อยๆ การสนใจราคาหุ้นของคนอื่นมากเกินไปนอกจากทำให้เกิดทุกข์ได้แล้วยังมักเกิดกรณี "ขายหมูไปซื้อสุนัข" ได้อีกด้วย

นักลงทุนแบบเป็นเจ้าของมักไม่ค่อยสนใจว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปเร็วหรือไม่ (ขอให้กำไรของบริษัทมากขึ้น แต่ราคาหุ้นไม่ขึ้นไม่เป็นไร ยิ่งดีเสียอีกที่จะนำเงินมาลงทุนเพิ่มขึ้นได้) ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ได้ลงทุนแบบเป็นเจ้าของบริษัท เราคงต้องการเพียงส่วนต่างของราคาหุ้นจะอยากให้หุ้นขึ้นราคาไปเร็วๆ เพื่อที่จะขาย (ส่วนของบริษัท) ทำกำไรไป เห็นไหมครับว่ามิติการคิดนั้นผิดไปจากเดิมมาก มีสิ่งที่ต้องคำนึงมากจนลืมเรื่องราคาหุ้นไปเลย

คราวนี้สมมติว่าเราเป็นนักลงทุนคือเรามีเงินเหลือ เราอยากลงทุน บังเอิญมีเพื่อนที่เรารู้จักมาชวนเราให้ทำธุรกิจด้วย (เป็นธุรกิจที่ทำอยู่แล้ว อาจจะนานมาก นานน้อย ก็แล้วแต่โอกาส) โดยการเสนอให้เราร่วมลงทุนด้วยเงินจำนวนหนึ่งแลกกับหุ้นของบริษัทนั้นซึ่งไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง คราวนี้ล่ะ เราจะตัดสินใจอย่างไร

เห็นภาพไหมครับ ว่า เรื่องเปลี่ยนไปมากมายเมื่อเทียบกับการซื้อๆ ขายๆ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยการดูราคาและปริมาณการซื้อขาย และการอ่านบทวิเคราะห์บ้างนิดๆ หน่อยๆ เพราะคราวนี้ บทวิเคราะห์ก็ไม่มี คำแถลงของผู้บริหารก็ไม่มีให้อ่าน บัญชีถูกต้องมากน้อยแค่ไหนก็ไม่เห็นชัดเจน ความเห็นของกรรมการตรวจสอบก็ไม่มีให้อ่าน (เอาล่ะสิ เริ่มรู้สึกไหมครับว่าการซื้อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ง่ายกว่ามากเลยในแง่มุมเหล่านี้)

อยากเป็นเจ้าของบริษัท ดูอะไรบ้าง


คราวนี้ เราต้องทำอย่างไรต่อถ้าสนใจร่วมลงทุนกับเพื่อนที่มาชวนพอดี คำถามและสิ่งที่ต้องทำก่อนการตัดสินใจเกิดขึ้นมากมาย เช่น

1) เพื่อนเราที่มาชวนนั้น เรารู้จักมาก่อนหรือเปล่า นิสัยใจคอเป็นอย่างไร มีความเก่งกาจเฉลียวฉลาดแค่ไหน เห็นชัดเจนไหมครับ ในกรณีแบบนี้เรามักดูที่ตัวเจ้าของเดิมหรือผู้บริหารก่อนเลย (ตอนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เราก็ควรดูเช่นกัน ดูว่าเจ้าของเดิมรักบริษํทไหม หรือขายหุ้นออกจนหมดเหลือถือไว้นิดเดียว แบบนี้ไม่ดี) ถ้าเราไม่ไว้ใจผู้บริหารเราก็ไม่ควรไปยุ่งด้วย (แต่ถ้าเราระแวงเกินไป ไม่เคยไว้ใจใครเลย ก็ต้องขอให้ไปทำธุรกิจเองน่าจะสบายใจกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ครับ)

2) ธุรกิจนั้นทำอะไร เราชอบหรือไม่ เราเข้าใจมันหรือไม่ เข้าใจว่าผลิตหรือให้บริการใคร มีลูกค้ากี่คน ต้นทุนเท่าไรจ่ายให้ใครบ้าง มีข้อได้เปรียบคู่แข่งอย่างไร มีอัตรากำไรเท่าไร ยอดขายต่อไปขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง

3) ธุรกิจมีอะไรเป็นทรัพย์สินที่ทำเงินบ้าง การไหลเวียนของเงินสดเป็นอย่างไร คุณภาพของผู้ขายวัสดุ (supplier) เป็นอย่างไร จำนวนและคุณภาพของลูกค้าเป็นอย่างไร (ความสม่ำเสมอในการซื้อ และที่สำคัญคือการจ่ายเงิน ซึ่งมีผลต่ออัตราหนี้เสีย) คือ ลูกค้าควรมีจำนวนมากราย มีความมั่นคงทางการเงินดี จ่ายหนี้ตรงเวลา

3) ธุรกิจนั้นมีอะไรเป็นตัวถ่วง (ทรัพย์สินไม่ทำเงิน หนี้สิน) มีหนี้สินมากแค่ไหน มีดอกเบี้ยจ่ายมากแค่ไหน ธุรกิจจำเป็นต้องสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลาหรือไม่ โดยธุรกิจที่ดีควรสามารถเลือกที่จะควบคุมอัตราส่วนหนี้สิน (ต่อทุน) ไม่ให้สูงมากเกินไป ธุรกิจที่มีหนี้สินมากขึ้นๆ ตลอดเวลาและมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะแสดงถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น มีปัญหาในธรรมชาติของธุรกิจนั้น  (หรือแม้แต่เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการก็ได้)

4) ธุรกิจนั้นมีกำไรอย่างไร อัตรากำไรขั้นต้นและสุทธิมากหรือน้อยแค่ไหน สินค้าพิเศษหรือเป็นโภคภัณฑ์ สามารถตั้งราคาตามต้องการได้หรือไม่ ราคาถูกกำหนดด้วยอะไร ด้วยการแข่งขัน/ความต้องการของตลาด หรือถูกควบคุมด้วยกฏหมายของรัฐไหม ยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ และจะขยายยอดขายไปได้เรื่อยๆ หรือไม่ด้วยวิธีไหน เช่น มีสินค้าใหม่ ลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าจะซื้อสินค้า/บริการเพิ่มขึ้นหรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป

5) ความคงเส้นคงวาของธุรกิจนั้นเป็นเช่นไร มีการเติบโตหรือไม่อย่างไร ส่วนแบ่งการตลาดเป็นอย่างไร (จะ)เป็นผู้นำตลาดได้หรือไม่ ยามดีจะดีแค่ไหนคือได้กำไรมากเพียงใดและเป็นเวลายาวนานอย่างไร ยามร้ายถึงกับขาดทุนไหมและจะต้องรอเท่าใดจึงฟื้นตัว เรียกว่าเข้าใจว่าธุรกิจนั้นเป็นวัฏจักรหรือไม่อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารู้จังหวะการทำกำไรของบริษัท ทำให้เราไม่ตกใจและรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่บางครั้งการทำกำไรอาจจะไม่ต่อเนื่อง และต้อง "รอ" เวลาบ้าง

จะเห็นว่าทุกข้อที่กล่าวมา เราแทบจะต้องหาข้อมูลเองแทบทุกอย่างในกรณีที่เป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถ้าเราสนใจที่จะลงทุนในบริษัทที่ได้รับการชักชวนจริงๆ เราก็ย่อมหาวิธีสืบเสาะหาข้อมูลเหล่านี้จนได้นั่นแหละ แต่ในกรณีของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เราสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้เกือบทั้งหมดโดยการอ่านเอกสารที่เรียกว่าแบบ F56-1 แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถหาข้อมูลเหล่านี้ด้วยวิธีอื่นได้  ในทางตรงกันข้ามเราสามารถเสาะหาและประเมินคุณภาพของผู้บริหารได้เอง  เราสามารถประเมินความสามารถทางการตลาด ความสามารถในการขาย ความรู้สึกของลูกค้าต่อสินค้าและบริการได้ หลายครั้งจะดีกว่าและรวดเร็วกว่าการรออ่านเอกสาร F56-1 ในปีต่อไปเยอะเลย

สิ่งหนึ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือความสามารถของผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นบริษัทที่จำเป็นต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะต้องมีผู้บริหารที่มีความเฉลียวฉลาด ตัดสินใจได้ดี ซื่อสัตย์ เห็นผลประโยชน์ของบริษัท ผู้ถือหุ้น และลูกค้าเป็นสำคัญ ถ้าเป็นกรณีที่เป็นเพื่อนกันเราก็คงตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ไม่ยากนัก แต่ในกรณีที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การเข้าประชุมผู้ถือหุ้นและป้อนคำถามที่สำคัญกับผู้บริหารรวมทั้งการติดตามการทำงานของผู้บริหารทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวก็ทำให้เราสามารถประเมินผู้บริหารได้เช่นกัน

คราวนี้เมื่อเรารู้สึกชินกับการต้องหาข้อมูล ต้องคัดเลือกว่าบริษัทไหนที่มีศักยภาพควรลงทุนด้วย เริ่มรู้สึกอยากอยู่ด้วย อยากดูแลบริษัท โดยลืมเรืองตัวเลขราคาหุ้นไปก่อน นั่นคือเราเดินเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่าความเป็นเจ้าของบริษัทที่แท้จริงแล้ว ถึงตรงนั้นเราค่อยมาดูเรื่องของราคาที่เหมาะสมของบริษัท ราคาที่เหมาะสมของหุ้น แผนการซื้อเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำสุด รวมทั้งแผนการขายหากเราจำเป็นต้องขายหรือขายบางส่วนของบริษัทไปในอนาคต (ซึ่งเจ้าของบริษัทมักไม่อยากขายหุ้นหรือส่วนที่ตัวเองเป็นเจ้าของออกไปแน่นอน) ซึ่งเป็นเรื่องหลังๆ ที่ตามมาทั้งสิ้นครับ