วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ธุรกิจที่ซับซ้อนและ/หรือคาดเดากำไรได้ยาก


หลายธุรกิจดำเนินการตรงไปตรงมาแบบง่ายๆ มีโครงสร้างของรายได้และรายจ่ายแน่นอน ในขณะที่ก็มีหลายธุรกิจที่มีที่มาของรายได้และความเป็นไปของรายจ่ายซับซ้อนเข้าใจได้ยาก คือไม่รู้ว่ารายได้อยู่ตรงไหนบ้าง รายจ่ายอยู่ที่ไหนบ้าง หรือมีรายการปรับปรุงรายได้ รายจ่าย การเสื่อมค่าต่างๆ มากและบ่อย เช่น
  • กำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
  • กำไร/ขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบหรือราคาขาย (ที่ควบคุมไม่ได้ ต้องเป็นไปตามสภาพตลาด)
  • กำไร/ขาดทุนจากการด้อยค่าของสต้อกสินค้าที่คาดเดาได้ยาก (หรือคาดเดาได้ง่ายว่า ตกรุ่นเร็วมาก แบบนี้แย่แน่แท้)
  • การเผื่อหนี้เสีย/หนี้สงสัยจะสูญ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือถูกบังคับให้เผื่อ (เช่น กลุ่มธนาคารที่อาจจะถูก ธปท. กำหนดให้ใช้อัตราเผื่อหนี้เสียเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งสามารถทำให้งบการเงินที่ทำกำไรอยู่ดีๆ กลายเป็นขาดทุนได้เลยก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว)
เหล่านี้หากเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยและ/หรือมีผลมากต่องบการเงินหรือผลประกอบการ ขนาดที่ทำให้บริษัทที่ขยันทำงานขาดทุน หรือบริษัทที่ดำเนินงานแย่กลับได้กำไร อยู่บ่อยๆ ก็ถือว่าเข้าข่ายบริษัทที่คาดการณ์ผลประกอบการได้ยาก เป็นที่มาที่จะทำให้คาดการณ์มูลค่าที่เหมาะสมได้ยากไปด้วย (อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้คาดเดาผลประกอบการได้ยากก็คือ สภาพตลาด ความนิยม ที่ยังไม่แน่นอนก็ด้วย แต่เป็นคนละจุดกับในหัวข้อในเรื่องนี้)
 
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้คือกับ บมจ. โซล่าตรอน ที่ประกาศงบการเงินงวดไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 ว่ามีผลขาดทุนกว่า 21.61 ล้านบาท และอีก 8 วันต่อมากลับประกาศแก้ไขงบการเงินรายไตรมาสเหลือเป็นขาดทุนเพียง 0.26 ล้านบาทโดยให้เหตุผลว่าคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนผิดพลาด จากนั้นในวันที่ 30 พ.ค. 2559 บริษัทได้ประกาศแก้ไขงบปี 2558 ให้มีการขาดทุนเพิ่มขึ้นจาก 39 ล้านบาทเป็น 60 ล้านบาท สาเหตุจะเป็นเพราะความไม่รอบคอบ ความตั้งใจ หรืออะไรคงต้องสืบเสาะต่อไป (แต่ราคาหุ้นทรุดฮวบลงตั้งแต่วันแรกที่ประกาศงบฯ ไปแล้ว นักลงทุนหลายคนอาจจะเสียหายเกิด realized loss ไปแล้วจริงๆ) แต่สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะความซับซ้อนของการคำนวณค่าใช้จ่าย/ต้นทุนที่แท้จริงที่มีเรื่องของค่าเงินที่มีความไม่แน่นอนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง

ถ้าจะถามว่านักลงทุนแบบวีไอสามารถลงทุนในหุ้นเหล่านี้ได้ไหม โดยส่วนตัวผมคิดว่าสามารถลงทุนได้แต่ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น
  • มองเห็นอนาคตของบริษัทในภาพใหญ่ว่าโดยรวมแล้วอุตสาหกรรมนั้นมีตลาดมีอนาคต
  • รายการพิเศษต่างๆ ไม่ได้มีผลหรือสัดส่วนกับกำไรหรือขาดทุนมากนัก
  • บริษัทที่เลือกนั้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม
  • ตัวเองมีความชำนาญพิเศษในอุตสาหกรรม/ธุรกิจนั้น จนสามารถคาดเดากำไรและหามูลค่าที่เหมาะสมและ MoS ได้ (ดู กลเม็ดการลงทุน ด้านท้ายของบทความนี้)
โดยต้องระวังขึ้นในการติดตามพฤติกรรมของตลาดและอุตสาหกรรมนั้นและ/หรือกำหนด MoS (ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย) มากเป็นพิเศษสักหน่อย รวมทั้งต้องมีแผนการในการขายเพื่อตัวขาดทุนหรือเพื่อลดต้นทุนอย่างเคร่งครัดด้วย ก็จะสามารถลงทุนในบริษัทที่มีลักษณะของรายได้-รายจ่ายที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้อย่างสบายใจขึ้น


กลเม็ดการลงทุน


ธุรกิจหลายอย่างอาจจะดูซับซ้อนสำหรับบางคน แต่อาจจะเข้าใจได้ง่ายสำหรับอีกหลายคน ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเราเข้าใจธุรกิจบางอย่างได้ดีกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะจากการศึกษาธุรกิจนั้นอย่างจริงจัง หรือจากการเคยทำงานและคุ้นเคยอยู่เป็นเวลานาน และพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง (คือ เราคิดว่าดี และอีกไม่นานผลประกอบการก็ออกมาดีจริง และ ในบางครั้งเราคิดว่าต้องมีปัญหาแน่ และผลประกอบการก็ออกมาย่ำแย่จริงๆ) ในกรณีแบบนี้เราอาจจะใช้ความสามารถนี้ให้เป็นประโยชน์ในการลงทุนได้ เช่นเมื่อราคาหุ้นตกต่ำแต่เราคิดว่าผลการดำเนินงานต้องดีเราก็อาจจะช้อนซื้อหุ้นไว้ หรือในทางกลับกันเมื่อราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูงมากและเราคิดว่าประเดี๋ยวผลการดำเนินงานคงออกมาย่ำแย่ ก็อาจจะขายหุ้นนั้นทำกำไรออกไปก่อนก็ได้