วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เขาว่าแนว VI นั้นแสนดีแต่ทำไมมีคนใช้กราฟกันมากมาย



พวกเราที่เป็นนักลงทุนหน้าใหม่ หรือเพิ่งสนใจในการลงทุน อาจจะพอทราบว่าแนวทางลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการซื้อหุ้นนั้นมีหลายแนวทาง แต่สองวิธีใหญ่ๆ คือ แนวพื้นฐาน แนวเน้นมูลค่า (VI) (Value Investment) และแนวเทคนิค (technical) และอาจจะเคยได้ยินว่ามีนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าที่ประสบความสำเร็จมากมายหลายท่านให้เราได้ยินกัน อย่างไรก็ตามก็มีนักลงทุนอีกจำนวนมาก (และดูเหมือนมากกว่า) ที่ใช้แนวการลงทุนในแนวเทคนิคอยู่ (แน่นอนว่า มีโอากสประสบความสำเร็จเช่นกัน) จำนวนมาก จนอดสงสัยไม่ได้ว่าในเมื่อ (อย่างน้อยก็ดูเหมือนว่า) มีนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าที่ประสบความสำเร็จมากกว่า แล้วทำไมคนยังใช้แนวเทคนิกหรือใช้กราฟในการลงทุนจำนวนมากมาย ก่อนอื่นเรามาดูพื้นฐานที่ต้องใช้ในการลงทุนแต่ละแบบกันก่อน

พื้นฐานการลงทุนแต่ละแนวทาง


1) การลงทุนในแนว พื้นฐาน หรือแนวเน้นมูลค่า (VI) นั้นจะต้องเข้าใจธุรกิจ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีกลไกการทำกำไรอย่างไร มีความเป็นไปได้ในการขยายและความเสี่ยงอย่างไรบ้าง จากนั้นยังต้องมีความสามารถในการหามูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจนั้นอีก เรียกว่าต้องรู้รอบแทบจะเข้าไปนั่งอยู่ในธุรกิจนั้นเลยก็ว่าได้ การจะรู้ได้ขนาดดังกล่าวต้องอาศัยการอ่าน สังเกต และหาข้อมูลรอบด้านประกอบไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐศาสตร์ การตลาด แนวโน้มของสังคม แนวโน้มของประชากรศาสตร์ แน่นอนว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวนมากมายกที่มีอยู่ นักลงทุนคนหนึ่งๆ ก็ไม่มีความรู้ ความชำนาญ ความชอบ หรือจริตที่จะชอบหรือเข้าใจธุรกิจไปได้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยิ่งถ้าแยกย่อยเป็นแต่ละบริษัทแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย คงไม่มีใครทีจะเข้าใจได้ทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เป็นแน่ (และในความเป็นจริงก็ไม่จำเป็นด้วย เพราะการ ซื้อหุ้นในบริษัทเล็กๆ ที่เรารู้จักดีก็รวยได้ ) เพราะถ้าพยายามเข้าใจให้หมดก่อนตัดสินใจเลือกหุ้นมาสักตัวหนึ่ง ก็คงไม่ได้ซื้อหุ้นเป็นแน่

2) ในทางตรงกันข้ามกับการศึกษาที่มาที่ไป การทำกำไร และอื่นๆ อีกสารพัดของบริษัทที่สนใจ การดูราคา เวลา และจำนวนซื้อขายนั้นต้องถือว่ารวดเร็วกว่า นอกจากการดูด้วยตาแล้วยังมีซอฟท์แวร์ช่วยอีกมาก ทั้งการวาดเส้นกราฟแนวโน้มต่างๆ การคำนวณทางสถิติอีกสารพัด รวมทั้งซอฟท์แวร์บางอย่างยังช่วยบอกว่าตรงไหนควรซื้อควรขายให้อีกโดยไม่ต้องคาดการณ์ผลประกอบการอะไร ไม่ต้องมีความรู้ว่าบริษัทนั้นทำอะไร ขายใคร กำไรมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญก็คือไม่ต้องเฝ้ารอหรือสงสัยว่าถ้ากำไรมากขึ้นแล้วราคาจะขึ้นตามไปด้วยไหม

3) นักลงทุนหลายส่วนคิดว่า ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า โดยมีแนวคิดว่ากราฟสามารถบอกจุดขายตัดขาดทุนได้แน่นอนว่าแนว VI ที่ไม่ได้มีจุดขายตัดขาดทุน (จุดตัดสินใจขายของ VI จะมีสองส่วนหลักคือขายเมื่อพื้นฐานเปลี่ยนไปทำให้ไม่เหลือส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยอีกต่อไปคือต้นทุนที่ซื้อมาราคาแพงเกินไป กับ ขายเมื่อราคาเพิ่มมขึ้นสูงเกินไปแล้ว เมื่อได้กำไรแล้วก็ขายไป) สำหรับบางคนอาจจะดูพื้นฐานไม่ออก ติดตามการทำงานไม่ใกล้ชิด ก็อาศัยกราฟเป็นตัวช่วยให้ขายหุ้นทิ้งก็ได้  โดยความคิดส่วนตัวของผมแล้วความคิดนี้ก็ไม่แลว แต่ที่มักจะเห็นคือยังคงถือหุ้นที่พื้นฐานไม่ดีที่กราฟบอกให้ซื้อเอาไว้ แต่เมื่อกราฟบอกให้ขายก็ยังคงถือเอาไว้อยู่ และขาดทุนเป็นจำนวนมากกว่าที่ควร

4) มีนักลงทุนอีกไม่น้อยที่ใช้กราฟช่วยในการตัดสินใจ แม้แต่ VI หลายคนก็ตามที่เห็นว่าหุ้นราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น แต่ราคากำลังลดลงมาและแกว่งตัวไปมา ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะซือหรือไม่ตอนไหน ก็อาศัยกราฟเป็นตัวช่วยก็มีเช่นกัน (ผมมีข้อแนะนำว่า ถ้าพบหุ้นที่ราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากๆ แล้วต้องการซื้อ ให้ซื้อเข้ามาสักเล็กน้อย แล้วรอจนราคาลงไปแล้วนิง ก็เข้าซื้อเพิ่มแบบ DCA ได้ จะเป็นอีกวิธีที่ปลอดภัยเช่นกัน เรืองการซื้อขายนี้เอาไว้เขียนแยกต่างหากในบทความคราวต่อๆ ไปน่าจะดีกว่าครับ)

ทางเลือกที่น้อยกว่าของ VI


ถ้าจะว่าไปแล้ว นักลงทุนแนว VI ถ้าไม่รู้ว่า บริษัททำอะไร ขายใคร ลูกค้าเป็นใครในปัจจุบัน อนาคต ความเป็นไปได้ของโอกาสต่างๆ ในอนาคตเป็นอย่างไร กำไรควรเป็นเท่าไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร แนวโน้มต่างๆ เป็นอย่างไรแล้วล่ะก็ นักลงทุน VI จะไม่สามารถตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับหุ้นนั้นๆ ได้เลย หรือพูดง่ายๆ เลยว่า นักลงทุนแบบ VI มีทางเลือกที่จะซื้อขายหุ้นต่างๆ "น้อยกว่ามาก" นั่นเอง ตรงกันข้ามกับนักลงทุนที่ใช้กราฟต่างๆ ที่มีข้อมูลของการซื้อขายของทุกบริษัทเพียบพร้อมให้หยิบใช้งานได้ทันที

ทางเลือกที่คล่องกว่าของนักลงทุนแนวเทคนิค


ด้วยทางเลือกที่มาก กว้าง สามารถซื้อหรือขายหุ้นไหนก็ได้ ตัดสินใจได้รวดเร็ว เครื่องมือช่วยมาก ไม่ต้องคาดการณ์ ไม่ต้องคำนวณรายรับรายจ่าย ดอกเบี้ยจ่าย ค่าเสื่อมราคา เงินสดหมุนเวียน มูลค่าที่เหมาะสม p/e, p/bv, roe, roa, d/e, div ratio และอีกสารพัดตัวเลขทางการเงินเอง ไม่ต้องการหาเหตุผลอะไรมากหรือคิดว่าแม้จะพยายามหาเหตุผลก็หาไม่พบ หรือไม่รู้ทั้งหมดหรือผิดอยู่ดี รวมทั้งเชื่อว่าสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นที่จะทำให้ได้กำไรหรือขาดทุนก็คือราคาซื้อขายหุ้นบนกระดานอยู่ดี (ในขณะที่นักลงทุนแบบ VI คิดว่าสิ่งที่ได้คือส่วนต่างของมูลค่าบริษัทกับราคาหุ้นที่จ่ายไป) จึงมีนักลงทุนจำนวนมากเลือกใช้แนวเทคนิคในการลงทุน ซึ่งก็เป็นความถนัดอีกแนวทางหนึ่งที่รวดเร็ว มีทางเลือกมาก และมีตัวช่วยมากกว่านั่นเองครับ